ชาปลายนิ้ว (Finger Numbness)

ความหมาย ชาปลายนิ้ว (Finger Numbness)

ชาปลายนิ้ว (Finger Numbness) เป็นอาการเหน็บชาที่ทำให้ผู้ป่วยไม่มีความรู้สึกบริเวณนิ้วมือ อาจทำให้นิ้วมือและมือไม่มีแรงหยิบจับสิ่งของ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับมือเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และในบางครั้งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกเจ็บแปลบคล้ายถูกเข็มตำที่ปลายนิ้ว หรือปวดแสบปวดร้อนที่ปลายนิ้ว

ชาปลายนิ้วมักเป็นสัญญาณของโรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง ซึ่งอาการชาอาจดีขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก หากอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการเกิดขึ้นบ่อย ๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจ ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม

ชาปลายนิ้ว

 

สาเหตุของอาการชาปลายนิ้ว

อาการชาปลายนิ้วมักเกิดจากเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงมือหรือเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณจากสมองเพื่อควบคุมการทำงานและการรับความรู้สึกของมือและนิ้วมือถูกกดทับ ได้รับการกระทบกระเทือน หรือเกิดความเสียหาย หรืออาจเป็นเหตุมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคและภาวะต่าง ๆ เช่น

  • กลุ่มอาการประสาทมือชา (Carpal Tunnel Syndrome) เส้นประสาทที่ควบคุมนิ้วมืออาจถูกกดทับหรืออุดตันอยู่ตรงข้อมือ ซึ่งอาจเกิดจากการใช้งานนิ้วมือบ่อย เช่น การพิมพ์คีย์บอร์ด
  • โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) เป็นโรคที่เส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับส่งคำสั่งจากระบบประสาทส่วนกลางไปยังอวัยวะต่าง ๆ เกิดความเสียหาย เนื่องจากการได้รับบาดเจ็บหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ฮอร์โมนขาดความสมดุล โรคไต โรคตับ
  • โรคเบาหวาน (Diabetes) ผู้ป่วยเบาหวานอาจเกิดภาวะอาการเส้นประสาทจากเบาหวาน (Diabetic Neuropathy) ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เส้นประสาทบริเวณมือและเท้า นำไปสู่อาการชาปลายนิ้วบริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้าได้
  • ภาวะกระดูกคอทับเส้นประสาท (Cervical Radiculopathy) เกิดจากเส้นประสาทบริเวณคออักเสบหรือถูกกดทับ จนทำให้เกิดอาการชาคล้ายกับโรคการกดทับเส้นประสาทข้อมือ
  • การกดทับเส้นประสาทอัลนาร์ (Ulnar Nerve Entrapment) เกิดการกดทับบริเวณเส้นประสาทอัลนาร์ที่หล่อเลี้ยงควบคุมการทำงานของนิ้วนางและนิ้วก้อย ทำให้เกิดอาการชาปลายนิ้วดังกล่าว
  • โรคเรเนาด์ (Raynaud’s Disease) เป็นอาการป่วยที่หลอดเลือดแดงเล็กที่อยู่ในนิ้วเกิดการหดตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงปลายนิ้ว จึงเกิดอาการชาและอาจกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตได้ด้วย
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการอักเสบบวม และสร้างความเจ็บปวดบริเวณข้อต่อกระดูก ซึ่งทำให้เกิดอาการชา รู้สึกเหมือนเข็มตำ หรือปวดแสบปวดร้อนบริเวณมือและนิ้วมือได้

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เส้นประสาทเสียหาย จนนำไปสู่อาการชาปลายนิ้วได้ เช่น

อาการชาปลายนิ้ว

อาการชาปลายนิ้วอาจมีลักษณะดังนี้

  • บริเวณปลายนิ้วมือไม่มีความรู้สึก เหน็บชา ไม่มีแรง
  • รู้สึกเจ็บแปลบคล้ายถูกเข็มตำที่ปลายนิ้ว
  • รู้สึกปวดหรือปวดแสบปวดร้อนที่ปลายนิ้ว

อาการชาปลายนิ้วที่ควรไปพบแพทย์

หากผู้ป่วยมีอาการชาปลายนิ้ว ควรสังเกตลักษณะอาการที่เกิดขึ้น หรืออาการที่เกิดร่วมกับชาปลายนิ้ว แล้วไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาหากมีภาวะอาการดังต่อไปนี้

  • อาการชาลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย หรือลามไปทั่วร่างกาย
  • อาการชาปลายนิ้วไม่หายไป หรือมีอาการหนักขึ้น
  • มีอาการชาปลายนิ้วบ่อย 
  • มีอาการชาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ชานิ้วเพียงนิ้วเดียว
  • อาการเหล่านั้นรบกวนการทำกิจกรรมและการเคลื่อนไหวร่างกาย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ หรือขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หากมีอาการชาปลายนิ้วร่วมกับภาวะอาการป่วยที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายอื่น ๆ เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการป่วยร้ายแรงอย่างภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน ซึ่งทำให้เกิดอาการอัมพาตได้ เช่น

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างกะทันหัน
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและกะทันหัน
  • พูดจาติดขัด พูดไม่รู้เรื่อง มีความยากลำบากในการพูดสื่อสาร
  • วิงเวียนศีรษะ สับสนมึนงง
  • หายใจติดขัด
  • มีปัญหาด้านการมองเห็น

การวินิจฉัยอาการชาปลายนิ้ว

ในขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย เบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้น รวมทั้งซักประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการรักษาและการใช้ยา จากนั้นแพทย์อาจตรวจร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่เกิดอาการชา เช่น นิ้วมือ มือ เท้า แขน และขา เพื่อตรวจการทำงานของระบบประสาท อย่างตรวจการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึก

หากแพทย์มีข้อสงสัย อาจส่งตรวจด้วยวิธีการอื่นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย หรืออาจส่งต่อผู้ป่วยให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาทโดยเฉพาะ โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการชาปลายนิ้ว เช่น

  • การทำเอกซเรย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณกระดูกนิ้วมือ มือ ข้อมือ แขน หัวไหล่ หรือกระดูกคอ เนื่องจากกระดูกเหล่านั้นอาจไปกดทับสร้างความเสียหายแก่เส้นประสาท และนำมาสู่อาการชาปลายนิ้วได้
  • การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรืออัลตร้าซาวนด์ (Ultrasound) เพื่อตรวจดูการกดทับของเส้นประสาท
  • การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย (Electrodiagnostic test) เป็นการตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าเพื่อตรวจสอบการทำงานของเส้นประสาท
  • การตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดนำตัวอย่างส่งตรวจในห้องปฏิบัติ เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการชาปลายนิ้วที่อาจเกิดจากการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือภาวะขาดวิตามินบี หรือการติดเชื้อต่าง ๆ เป็นต้น

การรักษาอาการชาปลายนิ้ว

การรักษาอาการชาปลายนิ้วอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุ ซึ่งอาจแบ่งออกได้ ดังนี้

การรักษาอาการชาปลายนิ้วด้วยตนเอง

ผู้ที่มีอาการชาปลายนิ้วอาจบรรเทาอาการชาด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ เช่น

  • หยุดพักการทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเจ็บ หรือมีอาการชาปลายนิ้ว
  • ปลดหรือคลายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและรองเท้าที่สวมใส่อยู่ให้หลวมขึ้น
  • ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย ขยับนิ้วมือแขนขา เพราะการนั่งหรืออยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการชาปลายนิ้ว
  • ออกกำลังบริหารร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณนิ้วและแขนขา เช่น ยืดและกางนิ้วให้ตึง สะบัดแขน หมุนไหล่
  • หากมีอาการอักเสบร่วมด้วย อาจลองนำน้ำแข็งห่อผ้าสะอาดเพื่อประคบเย็น โดยความเย็นอาจช่วยลดอาการบวมอักเสบได้
  • การใช้ยาแก้ปวด หรือยาต้านอาการอักเสบที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อรักษาอาการอักเสบของเส้นประสาทที่ทำให้ชาปลายนิ้ว เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน 

การรักษาอาการชาปลายนิ้วโดยแพทย์

แพทย์อาจรักษาตามสาเหตุของอาการชาปลายนิ้ว ซึ่งการรักษาอาจแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการของแต่ละบุคคล เช่น

  • การใช้ยารักษาตามสาเหตุ เช่น การใช้ยารักโรคเบาหวาน หากชาปลายนิ้วเกิดจากโรคเบาหวาน หรือมให้วิตามินบี หากชาปลายนิ้วเกิดจากภาวะขาดวิตามินบี 
  • การฉีดสเตียรอยด์ หากผู้ป่วยรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบที่เป็นสาเหตุของอาการชาปลายนิ้ว
  • การใส่เฝือก ใส่ผ้ารัดบริเวณข้อมือและข้อศอก เพื่อให้กระดูกบริเวณนั้นอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เป็นการรักษาภาวะกระดูกกดทับเส้นประสาท 
  • การใส่ถุงมือทางการแพทย์ (Compression glove) หรือถุงเท้าทางการแพทย์ (Compression sock) เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ซึ่งอาจช่วยให้ชาปลายนิ้วดีขึ้น
  • การทำกายภาพบำบัด โดยแพทย์อาจแนะนำท่าบริหารต่าง ๆ เพื่อช่วยให้สามารถขยับนิ้วได้มากขึ้น บรรเทาอาการปวดและชาที่เกิดขึ้นที่ปลายนิ้วหรือบริเวณมือ
  • การผ่าตัด แพทย์อาจทำการผ่าตัดเส้นประสาทถูกกดทับหรือได้รับความเสียหายในผู้ป่วยบางราย โดยการผ่าตัดนำกระดูก เนื้อเยื่อ หรือสิ่งที่กดทับเส้นประสาทออก

การป้องกันอาการชาปลายนิ้ว

ชาปลายนิ้วเป็นอาการที่สามารถป้องกันได้หลายวิธี เช่น 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และให้สารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี หรืออาจรับประทานอาหารเสริมหากมีภาวะขาดวิตามินและธาตุต่าง ๆ โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้อาหารเสริมเสมอ
  • ควรหยุดพักจากการทำงาน การอยู่ในท่าเดิม หรือการทำกิจกรรมซ้ำ ๆ เป็นระยะทุก 30 นาที–1 ชั่วโมง
  • ใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณมือและข้อมือ เช่น ใช้หมอนรองข้อมือในขณะพิมพ์งานด้วยคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์
  • ออกกำลังกายเพื่อลดความตึงของกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ หรือพิลาทิส 
  • ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บบริเวณกระดูกคอ เช่น ไม่ยกของหนัก ไม่เคลื่อนไหวท่าเดิมซ้ำ ๆ ไม่นั่งหรืออยู่ในท่าที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ
  • งดดื่ม หรือไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป

หากเกิดอาการชาปลายนิ้วที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะยังสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ แต่หากมีอาการรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยควรขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการขับรถ หรือใช้บริการรถสาธารณะแทนการขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเองเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเป็นอันตรายได้