ความหมาย ช็อก
ช็อก (Shock) คือ ภาวะของร่างกายที่มีการไหลเวียนเลือดลดลงต่ำผิดปกติ ส่งผลให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์และอวัยวะเสียหายจากการขาดเลือดที่เป็นตัวนำออกซิเจนและสารอาหาร เมื่อเกิดกับอวัยวะสำคัญและรักษาไม่ทันเวลาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และยังพบว่า 1 ใน 5 คนที่มีภาวะช็อกมักเสียชีวิต ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงภาวะช็อกที่เกิดจากโรคทางร่างกายเท่านั้น
ช็อกจัดเป็นภาวะอันตรายในทางการแพทย์และยังแบ่งออกได้หลายประเภทตามสาเหตุ เช่น ภาวะช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด (Septic Shock) ภาวะช็อกจากปฏิกิริยาภูมิแพ้อย่างฉับพลัน (Anaphylactic Shock) ภาวะช็อกจากโรคหัวใจ (Cardiogenic Shock) ภาวะช็อกจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ (Hypovolemic Shock) ภาวะช็อกจากระบบประสาท (Neurogenic Shock)
อาการช็อก
ช็อกเป็นภาวะอันตรายที่ควรไปพบแพทย์ทันที ผู้ที่เกิดภาวะนี้ความดันโลหิตจะลดต่ำลงอย่างรุนแรง และอาจพบอาการได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและประเภทของภาวะช็อก อาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา หรือบางรายอาจไม่เต้น
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- หายใจตื้นและเร็ว
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด
- ตัวซีดและเย็น
- ตาค้าง ตาเหลือก
- เจ็บแน่นหน้าอก
- คลื่นไส้
- รู้สึกสับสน วิตกกังวล
- ปัสสาวะน้อยหรือไม่มีปัสสาวะ
- กระหายน้ำและปากแห้ง
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ความรู้สึกตัวลดลงหรือหมดสติ
- เหงื่อออกมาก
- นิ้วและปากบวม
สาเหตุของภาวะช็อก
เมื่อเข้าสู่สภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ร่างกายจะมีกลไกการป้องกันโดยสั่งการให้หลอดเลือดส่วนปลายเกิดการหดตัวในช่วงแรก ๆ เพื่อช่วยให้ความดันโลหิตของร่างกายที่ลดต่ำลงยังสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยะสำคัญได้เพียงพอ เช่น หัวใจและสมอง และในขณะเดียวกันก็มีการหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่า อะดรีนาลีน (Adrenaline) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยหลอดเลือดจะหดตัวเพื่อรักษาความดันเลือด และทำให้หัวใจสูบฉีดได้มากขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินชั่วคราว เพราะหากความดันโลหิตลดต่ำลงมากอาจทำให้เกิดภาวะช็อกและนำไปสู่การเสียชีวิต
ภาวะช็อกอาจเป็นสภาวะใด ๆ ของร่างกายที่ทำให้การไหลเวียนของเลือดลดน้อยลงจนเกิดความดันโลหิตต่ำ และส่งผลให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายไม่เพียงพอ การเกิดภาวะช็อกจึงแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่ม สาเหตุที่พบบ่อยมีดังนี้
ภาวะช็อกจากการอุดกั้นนอกหัวใจ (Obstructive Shock) เกิดจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ตามปกติ ซึ่งเป็นผลที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism: PE) หรือสภาวะใด ๆ ที่ทำให้เกิดการสะสมของอากาศและของเหลวในโพรงช่องอก เช่น ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax) หรือภาวะปอดแตก (Collapsed Lung) ภาวะเลือดออกในช่องปอด (Hemothorax) ภาวะบีบรัดหัวใจ (Cardiac Tamponade)
ภาวะช็อกจากโรคหัวใจ (Cardiogenic Shock) มีสาเหตุมาจากหัวใจและหลอดเลือดขนาดใหญ่ได้รับความเสียหายหรือเกิดความผิดปกติ จึงทำให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้น้อยลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นช้าผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) หรือภาวะหัวใจวาย (Congestive Heart Failure: CHF) เมื่อเกิดภาวะช็อกจากสาเหตุนี้อาจนำไปสู่การเสียชีวิตภายในเวลารวดเร็ว
ภาวะช็อกจากปริมาณเลือดลดลง (Distributive Shock) เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดขยายตัวใหญ่ขึ้น แต่ยังมีปริมาณเลือดเท่าเดิม จึงทำให้หลอดเลือดสูญเสียการตึงตัวและเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่เพียงพอ ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น
- ปฏิกิริยาภูมิแพ้อย่างฉับพลัน (Anaphylactic Shock/Anaphylaxis) เนื่องจากภูมิต้านทานไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ เช่น แมลงกัด ยา อาหารทะเล ถั่ว ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงตามมา
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septic Shock/Blood Poisoning) เป็นผลมาจากเชื้อแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ เข้าสู่กระแสเลือดและสร้างพิษที่เป็นอันตรายต่ออวัยวะในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งการติดเชื้ออาจเกิดได้จากหลายโรค เช่น โรคปอดบวม เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง (Cellulitis) การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในช่องท้อง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้แบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดและปล่อยพิษออกมา
- พิษของยา (Drug Toxicity) หรือการได้รับบาดเจ็บทางสมอง
ภาวะช็อกจากร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ (Hypovolemic Shock) เกิดจากปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกายลดลง หรือปริมาณเลือดในร่างกายลดลง ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดเพื่อขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงทั่วร่างกายเพียงพอ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากอาการบาดเจ็บทางร่างกายอย่างรุนแรงจนเสียเลือดปริมาณมาก โรคโลหิตจางขั้นรุนแรงหรือภาวะขาดน้ำรุนแรง
การวินิจฉัยภาวะช็อก
แพทย์จะตรวจดูอาการภายนอกของผู้ป่วยที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าร่างกายเกิดภาวะช็อก เช่น ความดันโลหิตลดต่ำลง สัญญาณชีพจรอ่อน หัวใจเต้นเร็ว จากนั้นจะช่วยรักษาในเบื้องต้น เพื่อให้ความดันโลหิตในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยเป็นอันดับแรกก่อนวินิจฉัยหาสาเหตุ เนื่องจากภาวะนี้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้สูง โดยทั่วไปอาจให้สารน้ำหรือเกลือแร่ ให้ยาปฏิชีวนะหรือยากระตุ้นความดันโลหิต ให้เลือด ให้ออกซิเจน หรือรักษาตามอาการของผู้ป่วย
หลังจากอาการผู้ป่วยดีขึ้นจึงตรวจด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเสี่ยงด้านสุขภาพของแต่ละคน เพื่อค้นหาสาเหตุของภาวะช็อกและให้การรักษาอย่างถูกวิธี เช่น
- การถ่ายภาพเอกซเรย์ แพทย์อาจใช้การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เอกซเรย์ทั่วไป (X-rays) ซีที สแกน (Computed Tomography: CT scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging: MRI) เพื่อค้นหาการบาดเจ็บหรือความเสียหายของเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในร่างกาย เช่น กระดูกหัก การฉีดขาดของอวัยวะ กล้ามเนื้อ หรือเส้นเอ็น ความผิดปกติอื่น ๆ
- การตรวจเลือด เพื่อดูปริมาณเลือดที่สูญเสียไป การติดเชื้อในกระแสเลือด ผลจากการใช้ยาหรือสารเสพติดเกินขนาด
- การตรวจอื่น ๆ แพทย์จะพิจาณาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ผู้ที่คาดว่าเกิดภาวะช็อกจากโรคหัวใจจะได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) หรือการอัลตราซาวด์หัวใจ
การรักษาภาวะช็อก
ภาวะช็อกแต่ละประเภทจะมีวิธีการรักษาแตกต่างกันออกไปตามความรุนแรงและสาเหตุ เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด บางรายอาจเกิดหมดสติ หายใจลำบาก หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จึงจำเป็นต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นในระหว่างรอส่งตัวไปพบแพทย์
หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่เกิดภาวะช็อก
- ในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ผู้ปฐมพยาบาลควรตรวจดูลมหายใจและสัญญาณการเต้นของหัวใจเป็นอันดับแรก หากพบว่าผู้ป่วยไม่หายใจ หัวใจหยุดเต้น หรือไม่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายให้รีบทำซีพีอาร์หรือช่วยฟื้นการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ (Cardiopulmonary Resuscitation: CPR)
- สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก แต่ยังไม่หมดสติ ควรให้ผู้ป่วยนอนหงายราบกับพื้น ยกขาให้สูงขึ้นจากพื้นประมาณ 12 นิ้ว เพื่อช่วยให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ หากสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นควรคลายเสื้อผ้าให้หลวม จากนั้นห่มผ้าหรือสวมเสื้อผ้าหนา ๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น นอกจากนี้ ควรตรวจดูลมหายใจและการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยเป็นระยะระหว่างรอนำส่งโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยที่เกิดภาวะช็อก และเกิดการบาดเจ็บบริเวณศรีษะ คอ และหลัง ควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้าย และในระหว่างนี้ไม่ควรให้รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ แม้ว่าผู้ป่วยรู้สึกกระหายน้ำหรือหิว
- ในกรณีที่ผู้ป่วยอาเจียน ให้หันศีรษะผู้ป่วยหันไปด้านข้าง ยกเว้นในรายที่บาดเจ็บบริเวณคอหรือศีรษะ ให้พลิกทั้งตัวหันข้างแทน
การรักษาหลังจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะช็อกเป็นหลัก ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสาเหตุ เช่น
- ภาวะช็อกจากอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรงจะใช้ยาอีไพเนฟรีน (Epinephrine) หรือยาชนิดอื่นเพื่อช่วยต้านสารที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้
- ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการให้เลือดเมื่อมีประวัติการเสียเลือดมาก
- ในรายที่พบว่ามีประวัติการเสียน้ำในร่างกาย เช่น อาเจียน ถ่ายเหลวปริมาณมาก อาจให้น้ำเกลือ เพื่อรักษาภาวะช็อกจากร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง
- ผู้ที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดจะรักษาด้วยการจ่ายยาปฏิชีวนะ หรือผู้ที่ช็อกจากสาเหตุของโรคหัวใจจะรักษาด้วยการใช้ยา การสวนหัวใจหรือการผ่าตัด
การฟื้นฟูอาการให้หายเป็นปกติจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะช็อก ระยะเวลาที่มีอาการ บริเวณหรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการช็อก รูปแบบการรักษาที่ได้รับ อายุและประวัติทางการแพทย์ ดังนั้น การรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหรือพบแพทย์หลังเกิดภาวะช็อกให้เร็วที่สุดจะช่วยให้มีโอกาสในการหายเป็นปกติได้สูง
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะช็อก
ผู้ที่เกิดอาการช็อกและรักษาไม่ทันเวลาอาจทำให้อวัยวะบางอย่างทำงานผิดปกติอย่างถาวร พิการ หรืออาจเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะช็อก เช่น ภาวะช็อกจากการขาดเลือดและเกลือแร่อาจทำลายไตและสมอง เกิดแผลที่มีเนื้อตายบริเวณแขนหรือขา อาจมีภาวะหายใจล้มเหลวจนต้องได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าคนปกติ
การป้องกันภาวะช็อก
ภาวะช็อกป้องกันได้เฉพาะบางสาเหตุ แต่ลดความเสี่ยงให้น้อยลงได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดภาวะช็อก ตามคำแนะนำดังนี้
- ลดความเสี่ยงที่จะทำให้ตัวเองบาดเจ็บจนต้องสูญเสียเลือด เช่น สวมเครื่องป้องกันระหว่างเล่นกีฬาบางชนิด ระมัดระวังการใช้อุปกรณ์ที่อาจเป็นอันตราย สวมเข็มขัดหรือหมวกนิรภัยระหว่างการขับขี่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน ถูกหลักโภชนาการ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ
- ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ หรือพกยาประจำตัว เช่น อีไพเนฟรีน (Epinephrine) เพื่อช่วยบรรเทาอาการ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสูดควันบุหรี่
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน และหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนหรือชื้น ควรเพิ่มการดื่มน้ำให้มากขึ้น เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- หากมีอาการถ่ายเหลวหรืออาเจียน ควรรับประทานน้ำเกลือแร่ชดเชยให้เพียงพอ แต่ในกรณีที่รับประทานไม่ได้ควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ
- หากมีไข้หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากบรรเทาอาการที่บ้าน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม