ตับวาย

ความหมาย ตับวาย

ตับวาย (Liver Failure) คือภาวะที่เนื้อเยื่อตับได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ โดยสาเหตุมักมาจากการติดเชื้อ การใช้ยาเกิดขนาด หรือมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ส่งผลให้ตับไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน ท้องมาน เลือดออกง่าย อ่อนเพลีย หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป

ภาวะตับวายแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ตับวายเฉียบพลันที่จะมีอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 วันหรือไม่กี่สัปดาห์ และตับวายเรื้อรังที่มักจะเกิดความผิดปกติหลายปีก่อนจะแสดงอาการ โดยทั้ง 2 ชนิดมีสาเหตุและวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ผู้ที่มีอาการของภาวะตับวายควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วเนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต อีกทั้งการได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการที่เกิดขึ้นและใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ตับวาย 

อาการของตับวาย

ภาวะตับวายมักมีอาการในระยะแรกคล้ายกับโรคตับทั่วไป โดยจะมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ท้องเสีย หลังจากนั้นผู้ป่วยตับวายจะมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ภาวะดีซ่าน
  • น้ำหนักลด
  • เกิดรอยช้ำหรือเลือดออกง่าย
  • มีอาการคัน
  • มีอาการบวมน้ำบริเวณขาหรือมีภาวะท้องมาน
  • ตับหรือม้ามอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • มีภาวะขาดน้ำ
  • ฝ่ามือแดง สั่น หรือกระตุก

ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการของภาวะตับวายจนกระทั่งมีอาการที่อยู่ในระดับรุนแรง โดยอาจมีอาการสับสน งุนงน เซื่องซึม หรืออาการอาจค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงเข้าสู่อาการโคม่าได้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคตับจากแอลกอฮอล์อาจมีภาวะดีซ่านได้เช่นกัน ซึ่งสารพิษจะสะสมในสมองจะส่งผลให้เกิดภาวะนอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ ความรู้ความเข้าใจลดลง รวมทั้งอาจมีภาวะม้ามโต เลือดออกในทางเดินอาหาร ไตวาย หรือเป็นโรคมะเร็งตับ

สาเหตุของตับวาย 

ตับวายเป็นผลมาจากการที่เซลล์ตับได้รับความเสียหาย สามารถแบ่งชนิดของตับวายได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ

ตับวายเรื้อรัง

ตับวายเรื้อรังมักเป็นผลมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Virus Hepatitis B) หรือไวรัสตับอักเสบซี (Virus Hepatitis C) และโรคตับแข็งจากการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งเมื่อเนื้อเยื่อตับได้รับความเสียหายจากสาเหตุดังกล่าวซ้ำ ๆ หรือได้รับผลกระทบเป็นเวลานาน ทำให้ตับสร้างเนื้อเยื่อแผลเป็นขึ้นมาแทนที่เนื้อเยื่อทั่วไป ตับจึงไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ

ตับวายเฉียบพลัน

สาเหตุของตับวายเฉียบพลันมักเกิดขึ้นจากสาเหตุต่อไปนี้

  • การรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในกรณีที่มีการรับประทานปริมาณมากในครั้งเดียว หรือเป็นการใช้ยาเกินปริมาณที่แพทย์กำหนดต่อเนื่องมากกว่า 2-3 วันขึ้นไป 
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ยาต้านเศร้า การใช้ฮอร์โมนที่สกัดจากธรรมชาติ ยาต้านเชื้อรา หรือยารักษาโรคลมชัก เป็นต้น
  • การใช้ยาเสพติด เช่น ยาอี (Ecstasy) หรือโคเคน เป็นต้น
  • การรับประทานอาหารเสริมสมุนไพร อย่างขี้เหล็ก บอระเพ็ด สารสกัดจากใบชา ซึ่งการบริโภคที่เป็นพิษต่อตับจะขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานและขั้นตอนในการผลิต
  • การได้รับสารพิษ อย่างพิษจากเห็ดบางชนิด
  • การติดเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus) ไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus) หรือเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ไวรัส (Herpes Simplex Virus: HSV) หรือไวรัสที่ก่อให้เกิดเริม เป็นต้น

นอกจากนี้ ตับวายเฉียบพลันยังอาจเป็นผลจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งตับ โรคตับจากภูมิต้านทานตนเอง กลุ่มอาการราย (Reye's Syndrome) บัดด์ เคียรี่ ซินโดรม (Budd Chiari Syndrome) ภาวะเหล็กเกิน และภาวะกาแลคโตซีเมีย (Galactosemia) เป็นต้น อีกทั้งยังอาจเกิดขึ้นในกรณีที่ตับของผู้ป่วยตับวายเรื้อรังทำงานผิดปกติอย่างกะทันหันได้เช่นกัน

การวินิจฉัยตับวาย 

หากมีอาการคล้ายภาวะตับวายควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ และแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์จนก่อให้เกิดปัญหา ความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โดยแพทย์จะตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับและหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าว 
  • การตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อไปวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการณ์ (Biopsy) เพื่อตรวจหาความเสียหายของตับ 
  • การตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การอัลตราซาวด์ การทำซีที สแกน (CT Scan) หรือการตรวจด้วย MRI เพื่อตรวจดูโครงสร้างของตับและตรวจหาสาเหตุของภาวะตับวาย เป็นต้น

การรักษาตับวาย 

การรักษาภาวะตับวายมีอยู่หลายวิธี ทั้งการใช้ยา การผ่าตัด หรือการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง ระยะของโรคที่แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน โดยแพทย์จะตรวจอาการเพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด

ในกรณีที่พบได้บ่อยคือตับวายจากการรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) เพื่อช่วยให้ตับสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ หรืออีกกรณีที่พบได้บ่อยคือตับวายเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสตับ แพทย์อาจรักษาโดยการใช้ยาและการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตควบคู่กัน โดยผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับควรติดตามอาการเป็นระยะอย่างใกล้ชิด ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากแพทย์อาจจ่ายยาป้องกันภาวะอื่น ๆ เพิ่มเติมและตรวจดูภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การรักษาผู้ป่วยอาการตับวายรุนแรงที่รักษาด้วยวิธีเบื้องต้นไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้มีการปลูกถ่ายตับ โดยแพทย์จะคัดเลือกตับที่สามารถเข้ากันได้กับร่างกายของผู้ป่วยและนำมาแทนที่ตับที่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการปลูกถ่ายตับจากส่วนของตับที่ไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่สามารถงอกหรือเติบโตใหม่ได้

ภาวะแทรกซ้อนของตับวาย 

ผู้ป่วยภาวะตับวายอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะสมองบวม (Cerebral Edema) ภาวะเลือดออกผิดปกติ ภาวะหลอดเลือดโป่งพองในหลอดอาหาร ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ไตวายเฉียบพลัน ภาวะหายใจล้มเหลว หรือภูมิต้านทานเชื้อโรคลดลง เป็นต้น

การป้องกันตับวาย 

ภาวะตับวายสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่แนะนำ คือ ผู้ชายควรดื่มไม่เกิน 2 หน่วย และผู้หญิงไม่เกิน 1 หน่วยบริโภคต่อวัน
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและออกกำลังกายอยู่เสมอ
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และเมื่อมีเพศสัมพันธ์ควรใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
  • ใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสมตามที่ระบุบนฉลากยาหรือตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยขนาดยาพาราเซตามอลที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไป คือ รับประทานครั้งละไม่เกิน 2 เม็ด (1,000 มิลลิกรัม) วันละไม่เกิน 8 เม็ด (4,000 มิลลิกรัม)
  • เข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี
  • ป้องกันการได้รับสารเคมีผ่านทางผิวหนัง
  • ใช้กระป๋องสเปรย์ในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศเพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมละอองจากการฉีดสเปรย์

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองมีอาการคล้ายกับอาการของภาวะตับวายควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างรวดเร็วเนื่องจากภาวะตับวายอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้