ความหมาย ตับอ่อนอักเสบ
ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) เป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นกับตับอ่อน ทำให้เนื้อเยื่อตับอ่อนบวมและถูกทำลาย โดยตับอ่อนมีลักษณะยาว แบน อยู่หลังกระเพาะอาหาร และอยู่บริเวณท้องส่วนบน มีหน้าที่ผลิตเอนไซม์ช่วยย่อยอาหาร และผลิตฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมกระบวนการทำงานของน้ำตาลในร่างกาย
ตับอ่อนอักเสบเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันกะทันหัน ทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงในทันที หรืออาจเกิดขึ้นแบบเรื้อรัง ทำให้ปวดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งอาจกินเวลานานหลายปี ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง อาการป่วยอาจหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา แต่ในรายที่ป่วยรุนแรงมาก อาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
อาการตับอ่อนอักเสบ
อาการของตับอ่อนอักเสบจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดของการอักเสบที่เกิดขึ้น ดังนี้
ตับอ่อนอักเสบชนิดเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดอาการ เช่น
- ปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณท้องส่วนบน อาจปวดร้าวลามไปที่หลังได้ โดยอาการปวดมักจะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 วัน
- มีอาการปวดท้องที่รู้สึกปวดมากขึ้น เมื่อรับประทานอาหาร
- มีอาการกดแล้วเจ็บ เมื่อสัมผัสหน้าท้อง หรือท้องอืด
- มีไข้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ภาวะขาดน้ำ และภาวะช็อก (กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเต้นเบาหรือเร็ว ความดันต่ำ)
- อาการดีซ่าน
ตับอ่อนอักเสบชนิดเรื้อรัง อาจทำให้เกิดอาการ เช่น
- ปวดท้องส่วนบน โดยปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดตลอดเวลา
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นผลมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้ตามปกติ
- ภาวะอุจจาระมีไขมันมาก อุจจาระเป็นสีเทาหรือสีซีดหรืออุจจาระมีกลิ่นเหม็นกว่าปกติ
สาเหตุของตับอ่อนอักเสบ
ตับอ่อนอักเสบเกิดขึ้นเมื่อเอนไซม์จากตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ย่อยอาหารเริ่มทำงานตั้งแต่ยังคงอยู่ในตับอ่อน โดยเฉพาะชนิดที่เรียกว่าทริปซิน (Trypsin) ซึ่งเป็นน้ำย่อยโปรตีนที่ปกติแล้วจะไม่ทำงานเมื่ออยู่ในตับอ่อน แต่จะทำงานต่อเมื่อเข้าไปอยู่ในลำไส้เล็ก แต่เมื่อเซลล์ของตับอ่อนเกิดการอักเสบจากสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จะทำให้เกิดสารเคมีผิดปกติขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้น้ำย่อยของตับอ่อนโดยเฉพาะทริปซินทำงาน น้ำย่อยเหล่านี้จึงย่อยสลายเซลล์ของตับอ่อน และก่อให้เกิดตับอ่อนอักเสบในที่สุด
หากเซลล์ตับอ่อนมีการอักเสบอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง โดยอาจเกิดขึ้นหลังการอักเสบเฉียบพลันที่รักษาไม่หาย เพราะสาเหตุยังคงอยู่ เช่น ผู้ป่วยยังคงดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง หรืออาจเกิดการอักเสบเฉียบพลันซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งในการอักเสบเรื้อรังนี้ เซลล์ของตับอ่อนจะค่อย ๆ ถูกทำลายจนไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ และมักกลายเป็นพังผืดอย่างถาวรจนไม่อาจสร้างน้ำย่อยและฮอร์โมนได้ ทั้งนี้ การทำงานที่บกพร่องของตับอ่อนมักทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร และโรคเบาหวานได้
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำให้เกิดตับอ่อนอักเสบ ได้แก่
- ติดสุรา
- สูบบุหรี่
- การใช้ยาบางชนิด
- นิ่วในถุงน้ำดีหลุดเข้าไปในท่อน้ำดี จนทำให้เกิดการอุดตัน
- โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)
- เกิดการติดเชื้อบางชนิด
- มีระดับแคลเซียมในเลือดสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
- มีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง
- เกิดการบาดเจ็บที่ช่องท้อง เช่น อุบัติเหตุ หรือการผ่าตัดในช่องท้อง
- มะเร็งตับอ่อน
- การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography: ERCP) เป็นขั้นตอนที่ใช้รักษานิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งอาจทำให้ตับอ่อนอักเสบได้
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นตับอ่อนอักเสบ
อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจไม่สามารถหาสาเหตุที่ทำให้ตับอ่อนอักเสบได้
การวินิจฉัยตับอ่อนอักเสบ
การวินิจฉัยตับอ่อนอักเสบ จะใช้ขั้นตอนและวิธีการทดสอบ ได้แก่
- การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจการทำงานของตับ (Liver Function tTst) ตรวจระดับแคลเซียมในเลือด ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และตรวจเอมไซม์จากตับอ่อน
- ตรวจอุจจาระ ใช้สำหรับตรวจผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เพื่อวัดระดับของไขมัน ซึ่งอาจบ่งบอกได้ว่าระบบย่อยอาหารไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างเพียงพอ
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography: CT Scan) ช่วยในการตรวจหานิ่วในถุงน้ำดี และช่วยตรวจประเมินขอบเขตการอักเสบที่เกิดขึ้นกับตับอ่อน
- การทำอัลตราซาวด์ช่องท้อง เพื่อตรวจหานิ่วในถุงน้ำดี และการอักเสบของตับอ่อน
- การทำอัลตราซาวด์ทางเดินอาหาร เพื่อตรวจหาการอักเสบ และการปิดกั้นในท่อตับอ่อนหรือท่อน้ำดี
- การตรวจเกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับถุงน้ำดี ตับอ่อน และท่อตับอ่อน
นอกจากนั้น อาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และดุลยพินิจของแพทย์
การรักษาตับอ่อนอักเสบ
การรักษาตับอ่อนอักเสบ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- การรักษาตับอ่อนอักเสบชนิดเฉียบพลัน
- โดยปกติ การรักษาผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน จะเป็นการให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือด และให้ยาบรรเทาอาการปวดที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยอาจต้องงดรับประทานอาหารและน้ำ เพื่อลดการทำงานของตับอ่อนจนกว่าอาการอักเสบจะทุเลาลง
โดยแพทย์จะให้น้ำเกลือและสารอาหารทางหลอดเลือดดำ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ภาวะช็อก และรักษาสมดุลของเกลือแร่จนกว่าผู้ป่วยจะรับประทานอาหารทางปากได้ - สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องเข้าพักรักษาที่ห้องดูแลผู้ป่วยหนักหรือห้องไอซียู (Intensive Care Unit: ICU) โดยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะตับอ่อนอักเสบอาจสร้างความเสียหายแก่หัวใจ ปอด หรือไตได้
- ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เนื้อเยื่อตับอ่อนตายได้ หากเกิดการติดเชื้อ อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายหรือตายแล้วออกไป
- หากนิ่วในถุงน้ำดีกำเริบ อาจจำเป็นต้องนำถุงน้ำดีออกหรือต้องผ่าตัดท่อน้ำดี โดยหลังจากนำนิ่วในถุงน้ำดีออกและการอักเสบได้หายไปแล้ว ตับอ่อนก็จะกลับมาทำงานเป็นปกติ
- ตับอ่อนอักเสบชนิดเฉียบพลันมักเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน อาการของผู้ป่วยมักจะดีขึ้น และหายเป็นปกติหลังรับการรักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์
- โดยปกติ การรักษาผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน จะเป็นการให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือด และให้ยาบรรเทาอาการปวดที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยอาจต้องงดรับประทานอาหารและน้ำ เพื่อลดการทำงานของตับอ่อนจนกว่าอาการอักเสบจะทุเลาลง
- การรักษาตับอ่อนอักเสบชนิดเรื้อรัง
- การรักษาตับอ่อนอักเสบเรื้อรังนั้นทำได้ยาก แพทย์จะพยายามรักษาด้วยการลดอาการปวด และช่วยจัดการปัญหาด้านโภชนาการ โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักจะได้รับเอนไซม์ของตับอ่อน และอาจจำเป็นต้องได้รับอินซูลิน รวมถึงปรับไปรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำด้วย
- การผ่าตัดอาจจำเป็นสำหรับผู้ป่วยบางราย เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง คืนการระบายเอนไซม์หรือฮอร์โมนของตับอ่อน รักษาตับอ่อนอักเสบที่เกิดจากการปิดกั้นของท่อตับอ่อน หรือลดความถี่อาการกำเริบของโรค
- ผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเรื้อรังต้องหยุดสูบบุหรี่ และหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามที่แพทย์และนักโภชนาการแนะนำ รวมไปถึงรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
ภาวะแทรกซ้อนของตับอ่อนอักเสบ
ภาวะแทรกซ้อนของตับอ่อนอักเสบ อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบางราย แต่มักพบบ่อยในผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบชนิดเรื้อรัง โดยอาการป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
- เกิดความเสียหายกับไต
- มะเร็งตับอ่อน
- โรคเบาหวาน
- ภาวะขาดสารอาหาร
- การติดเชื้อของตับอ่อน
- หายใจลำบาก ภาวะขาดน้ำ ภาวะช็อก ตัวซีด โดยเฉพาะผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบชนิดเฉียบพลัน
การป้องกันตับอ่อนอักเสบ
เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของตับอ่อนอักเสบ คือ การติดสุรา การป้องกันที่เหมาะสมจึงควรลดหรือเลิกดื่มสุรา หากพบว่าตนเองดื่มสุรามาก และกังวลเกี่ยวกับการดื่มของตนเอง ควรไปปรึกษาแพทย์หรือศูนย์บริการด้านสุขภาพ เพื่อหาทางแก้ไข บำบัดการติดสุรา หรือเข้าร่วมกลุ่มผู้ติดสุรา ซึ่งอาจเป็นประโยชน์และช่วยบำบัดการติดสุราได้ ทั้งยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของตับอ่อนอักเสบ เพราะลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
นอกจากนี้ อาจป้องกันการเกิดตับอ่อนอักเสบได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ ใช้ยาเฉพาะเมื่อจำเป็น และควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนซื้อยาใด ๆ มารับประทานเองเสมอ
ส่วนผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบควบคุมอาการของโรคได้ด้วยการปรับวิธีการใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดี และรับการรักษาจากแพทย์เมื่อจำเป็น หากพบอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นซ้ำ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที