ตาบอด

ความหมาย ตาบอด

ตาบอด (Blindness/Vision Impairment) คือ ภาวะที่ดวงตาไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ หรือรับรู้ความแตกต่างระหว่างแสงสว่างและความมืดได้ ถือเป็นความพิการทางตาหรือการบกพร่องทางการมองเห็นในระดับที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวัน ได้รับการศึกษา และประกอบอาชีพได้เช่นคนปกติทั่วไป  อาการตาบอดอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการรับประทานยา การผ่าตัด การสวมแว่นตาหรือการใส่คอนแทคเลนส์ แต่อาจมีวิธีการรับมือและป้องกันได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยเริ่มสูญเสียการมองเห็น ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการรักษา แต่ในกรณีที่ความสามารถในการมองเห็นเสียหายจนรักษาไม่ได้ ผู้ป่วยอาจต้องเรียนรู้การใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ เช่น อักษรเบรลล์ หรือโปรแกรมเสียงสำหรับคนตาบอดโดยเฉพาะ เป็นต้น

Blindness

อาการตาบอด

องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามของตาบอดไว้ว่า เป็นสายตาที่ดีที่สุดเมื่อแก้ไขด้วยแว่นธรรมดา (แว่น สายตาสั้นแว่นสายตายาว แว่นสายตาเอียง) แล้วเห็นน้อยกว่า 3/60 ลงไปจนถึงบอดสนิท ไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีลานสายตาโดยเฉลี่ยแคบกว่า 10 องศาลงไป โดยอาจเกิดขึ้นกับดวงตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง

อาการตาบอดสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ตาบอดสนิท (Complete Blindness) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้เลย หรือเห็นเป็นภาพมืดทั้งหมด และตาบอดบางส่วน (Partial Blindness) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการมองเห็นที่จำกัด อาจมองเห็นเพียงเงาลาง ๆ และไม่สามารถมองเห็นรูปร่างของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นผู้ที่ตาบอดบางส่วนอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่

  • ตามัว รู้สึกระคายเคืองคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา
  • มองเห็นชัดเจนเฉพาะตรงกลาง (Tunnel Vision)
  • มองเห็นไม่ชัดเจนในเวลากลางคืน
  • ตาดำอาจเป็นสีขาว หากผู้ป่วยมีโรคต้อกระจก (Cataract) 
  • กระจกตาอาจเป็นสีขาวหรือเทา กรณีที่กระจกตาติดเชื้อ

นอกจากนี้ อาการตาบอดเกิดขึ้นในเด็กได้เช่นกัน โดยอาจเริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์ และพัฒนาอาการต่อเนื่องภายหลังการคลอดเป็นเวลา 2 ปี ตามปกติแล้ว ในช่วง 6-8 สัปดาห์แรก ทารกจะสามารถจ้องมองหรือติดตามการเคลื่อนไหวของวัตถุได้ และภายใน 4 เดือน ดวงตาของทารกควรจะอยู่ในแนวตำแหน่งปกติ ไม่มีลักษณะตาเข แต่หากบุตรหลานมีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของอาการตาบอดหรือมีความบกพร่องทางการมองเห็น

  • ไม่สามารถมองตามวัตถุขณะเคลื่อนไหวได้
  • ไม่สามารถโฟกัสภาพหรือวัตถุได้
  • ตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของดวงตาผิดปกติหรือมีตาเขหลังจากอายุครบ 6 เดือน
  • ขยี้ตาบ่อย
  • มีตาแดงเรื้อรัง
  • ดวงตาไวต่อแสงมากและมีน้ำตาไหลเป็นประจำ
  • บริเวณตาดำเป็นสีขาว

ผู้ที่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการตาบอด ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตา โรคเบาหวาน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ (Stroke) ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดดวงตา ผู้ที่ต้องใช้สารเคมีหรือวัตถุมีคมระหว่างการทำงาน เด็กทารกคลอดก่อนกำหนดและผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้

สาเหตุของตาบอด

การสูญเสียการมองเห็นคือสัญญาณเริ่มต้นของอาการตาบอด โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดตาบอดแตกต่างกันในผู้ใหญ่และเด็กดังนี้

โรคที่เป็นสาเหตุตาบอดในผู้ใหญ่  ได้แก่

  • สายตาผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไข (Uncorrected Refractive Error)  เช่น สายตาสั้น สายตายาว โดยทั่วไปสายตาผิดปกติสามารถแก้ไขได้โดยการใช้แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ และการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังคงพบปัญหาไม่มีแว่นตาใช้ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้สายตาอยู่ในระดับตาบอดได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ อาจทำให้เกิดโรคตาอื่นๆ ตามมา ที่สำคัญคือ จอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration) จอตาฉีดขาดและหลุดลอก (Retinal Detachment) ซึ่งทำให้ตาบอดได้
  • ต้อกระจก (Cataract) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของแก้วตาตามอายุทำให้ตาดำมีลักษณะขุ่นขาว มักพบในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปโรคต้อกระจกสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด แต่ก็พบว่าประชากรส่วนใหญ่ของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยยังเข้าไม่ถึงบริการนี้ จึงทำให้ต้อกระจกเป็นสาเหตุที่สำคัญของตาบอด
  • โรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่เกิดจากความดันในลูกตาสูงจนไปกดและทำลายประสาทตาทำให้ตามัวลงจนถึงขั้นตาบอดได้ ผู้ที่เป็นต้อหินอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการเฉียบพลัน เช่น ปวดตา ตาแดงหรือตามัวทันที หรืออาจมีอาการเรื้อรังคือมีอาการตามัวลงอย่างช้า ๆ โดยไม่มีอาการตาแดงนำมาก่อน ซึ่งโรคนี้ต้องอาศัยการตรวจโดยจักษุแพทย์ ดังนั้นผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีจึงควรได้รับการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อตรวจหาต้อหินแต่เนิ่น ๆ หากได้รับการรักษาทันทีและต่อเนื่องจะช่วยป้องกันตาบอดได้
  • จอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน(diabetic retinopathy) ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือเป็นเบาหวานมานานจะทำให้มีหลอดเลือดผิดปกติทั่วร่างกาย รวมถึงหลอดเลือดที่จอประสาทตา ซึ่งจะทำให้มีน้ำเหลืองซึมออกมาทั่วจอประสาทตา และหลอดเลือดที่จอประสาทตาจะเสื่อมมากขึ้นจนเกิดพังผืดและมีหลอดเลือดเกิดใหม่ที่ผิวจอประสาทตาซึ่งจะทำลายจอประสาทตามากขึ้น รวมถึงหลอดเลือดที่เกิดใหม่อาจจะฉีกขาดทำให้มีเลือดออกขังในน้ำวุ้นตา หากเป็นในระยะแรกเริ่มสามารถรักษาได้ด้วยแสงเลเซอร์แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตาบอดได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นเบาหวานควรจะคุมน้ำตาลให้ได้และควรตรวจดวงตาเป็นระยะ
  • แผลบริเวณกระจกตา (Corneal  Ulcer) กระจกตาเป็นส่วนสำคัญในการมองเห็น จึงต้องใส หากมีการอักเสบหรือเป็นแผล จะทำให้แสงผ่านไม่ได้และเกิดตามัวตามมา สาเหตุที่ทำให้เกิดแผลบริเวณกระจกตา ได้แก่ โรคริดสีดวงตา ภาวะตาแห้ง ภาวะขาดวิตามินเอ ภาวะแทรกซ้อนจากคอนแทคเลนส์ อุบัติเหตุทางกีฬา การขยี้ตาแรง ๆ ฝุ่นเข้าตาหรือเกิดจากเศษใบไม้หรือหญ้าบาดตา ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยบริเวณกระจกตา (Corneal Abrasion) และหากไม่ได้รับการักษาอาจทำให้เกิดแผลบริเวณกระจกตาตามมาและทำให้มีเชื้อโรคผ่านกระจกตาเข้าสู่ดวงตาอันเป็นสาเหตุของตาบอดได้
  • อุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บบริเวณดวงตา เช่น การเล่นกีฬา ถูกของมีคมทิ่มตำ การกระแทกที่ดวงตา อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในช่องหน้าตา (Hyphema) จะทำให้มีอาการเจ็บปวด ไวต่อแสง และสูญเสียการมองเห็น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องสามารถทำให้ตาบอดได้
  • การติดเชื้อ โดยอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Keratitis) เช่น เกิดตามหลังอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บบริเวณดวงตา หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการใช้คอนแทคเลนส์ นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ตาอักเสบจากโรคเริม (Herpes Keratitis)  จอตาอักเสบจากไวรัสซีเอ็มวี (Cytomegaloviral Retinitis) ซึ่งมักพบในผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี เป็นต้น
  • ภาวะหลอดเลือดดำที่จอตาอุดตัน (Retinal Vein Occlusion)
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตา
  • ความผิดปกติโดยกำเนิด เช่น โรคตาทางพันธุกรรม หรือโรคหัดเยอรมัน (Rubella)
  • โรคเกี่ยวกับดวงตาอื่น ๆ เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม (Retinitis Pigmentosa) โรคเส้นประสาทตาอักเสบ (Optic Neuritis) 

โรคที่เป็นสาเหตุของอาการตาบอดในเด็ก ได้แก่

  • จอตาผิดปกติในทารกคลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of Prematurity) โดยภาวะนี้มักพบในเด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ ที่ต้องได้รับการช่วยชีวิตด้วยการให้ออกซิเจน เนื่องจากหลอดเลือดที่จอตาจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุครรภ์  36-40 สัปดาห์ ดังนั้น เด็กที่คลอดก่อนช่วงเวลานี้จะมีการพัฒนาหลอดเลือดที่จอตาไม่สมบูรณ์และไวต่อออกซิเจนที่ได้รับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดและมีหลอดเลือดใหม่เกิดขึ้น ภาวะนี้หากอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยการทำเลเซอร์และต้องได้รับการตรวจติดตามการเจริญของหลอดเลือดและจอตาเป็นระยะ แต่หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีจะทำให้ตาบอดได้
  • ต้อกระจกชนิดที่เป็นตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเป็นในแม่ที่เป็นหัดเยอรมัน (Rubella)
  • ภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) ซึ่งอาจเกิดจากการมีตาเขหรือตาเหล่ (Strabismus) หรือความผิดปกติของสายตานำมาก่อน ทำให้เด็กมีสายตาไม่เท่ากัน และตาข้างที่ไม่ดีจึงไม่ถูกใช้งาน หากไม่ได้รับการรักษาตาข้างที่ไม่ใช้งานอาจจะมัวลงและตาบอดได้
  • ภาวะขาดวิตามินเอ ซึ่งจะทำให้ตาแห้งหากเป็นนานเข้าจะทำให้เกิดกระจกตาแห้งและเกิดแผลที่กระจกตารวมถึงทำให้ติดเชื้อในดวงตาตามมาทำให้ตาทะลุและเกิดตาบอดตามมา จึงควรส่งเสริมให้เด็กกินนมแม่หรือนมผสมที่เสริมวิตามินเอ นอกจากนี้ยังพบภาวะขาดวิตามินเอได้ในเด็กที่เป็นโรคหัด จึงควรได้รับการเสริมวิตามินเอในเด็กที่เป็นโรคหัดด้วย
  • เยื่อตาและกระจกตาอักเสบจากเชื้อหนองใน (Gonococcal Conjuctivitis) โดยเป็นการติดเชื้อจากช่องคลอดมารดาที่เป็นหนองในขณะทำการคลอด ทำให้เด็กทารกมีขี้ตาแฉะเป็นหนอง เปลือกตาติดกัน และเชื้อจะลุกลามเข้าสู่ตาดำทำให้ตาบอดได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในประเทศไทยมีการป้องกันโดยการป้ายยาฆ่าเชื้อที่ตาให้แก่ทารกคลอดใหม่ทุกคนเพื่อป้องกันการติดเชื้อดังกล่าว
  • โรคทางพันธุกรรมที่เป็นแต่กำเนิดอื่นๆ เช่น โรคต้อหินแต่กำเนิด โรคจอประสาทตาเสื่อม (Retinal Dystrophy) ประสาทฝ่อ (Optic Atrophy) ดวงตาเล็กแต่กำเนิดเป็นต้น
  • เนื้องอก เช่น โรคมะเร็งจอประสาทตา (Retinoblastoma) และ Optic Glioma เป็นต้น

การวินิจฉัยอาการตาบอด

แพทย์อาจสอบถามประวัติอาการเพื่อช่วยในการค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ และวินิจฉัยดวงตาแต่ละข้าง เนื่องจากอาการตาบอดเกิดขึ้นได้กับดวงตาเพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง โดยแพทย์จะถามประวัติที่เกี่ยวข้องกับดวงตาและการมองเห็น ตรวจลักษณะภายนอกของดวงตา (External Examination) ด้วยการใช้ไฟฉายเพื่อดูเปลือกตา (Eyelids) และเนื้อเยื่อรอบๆ ดวงตา ตามด้วยการตรวจลักษณะของดวงตาตั้งแต่เยื่อบุตาขาว ตาขาว กระจกตา ช่องหน้าม่านตา รูม่านตา เลนส์ตา ไปจนถึงส่วนหลังของลูกตา ซึ่งได้แก่ น้ำวุ้นตา จอประสาทตา และขั้วประสาทตา ซึ่งอาจต้องอาศัยเครื่องมือสำหรับตรวจตาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การทดสอบต่าง ๆ ต่อไปนี้เพื่อประเมินร่วมด้วย

  • การวัดระดับการมองเห็น (Visual Acuity) เพื่อตรวจดูระยะที่ผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ โดยในขั้นตอนการตรวจจะให้มองตัวอักษร ตัวเลข หรือสัญลักษณ์จากระยะห่างที่กำหนด ทั้งในระยะห่างที่ใกล้และไกล และดูว่าผู้ป่วยสามารถมองเห็นได้ที่ระยะใดหรือมองไม่เห็นแสงเลย
  • การทดสอบการมองเห็นภาพด้านข้างหรือลานสายตา (Visual Field Test) เพื่อตรวจวัดการมองเห็นโดยรอบ (Peripheral Vision)
  • การวัดความดันตา (Tonometry Test) เพื่อประเมินความดันในดวงตา ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคต้อหินได้
  • ทดสอบการทำงานของกล้ามเนื้อตา
  • ทดสอบการตอบสนองต่อแสงของรูม่านตา

สำหรับผู้ป่วยเด็กหรือทารก แพทย์อาจเริ่มต้นจากการตรวจดูแนวตำแหน่งตา แล้วจึงตรวจวัดระดับการมองเห็น (Visual Acuity) การโฟกัสภาพ โครงสร้างและการทำงานของดวงตา เช่น การจ้องมอง การตอบสนองต่อแสง หรือวัตถุที่มีสี และตรวจตาด้วยอุปกรณ์สำหรับเด็ก เป็นต้น

การรักษาอาการตาบอด

การรักษาอาการตาบอดหรือความบกพร่องในการมองเห็นขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ หากแพทย์ตรวจพบสาเหตุของอาการตาบอดที่สามารถรักษาได้ อาจต้องเข้ารับการรักษาตามสาเหตุโดยวิธีต่อไปนี้  

  • ในผู้ป่วยที่มีปัญหาสายตาสั้น หรือสายตายาว อาจแก้ไขสายตาด้วยการสวมแว่นตา หรือการใส่คอนแทคเลนส์
  • หากตาบอดเกิดขึ้นจากภาวะพร่องโภชนาการและการขาดวิตามินเอ ควรรับประทานวิตามินเออย่างเหมาะสม
  • ผู้ที่เกิดจากการอักเสบหรือติดเชื้อ อาจใช้ยาหยอดตา หรือรับประทานยาลดการอักเสบและรักษาการติดเชื้อ
  • หากเกิดจากต้อกระจก ควรเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก 
  • หากเกิดจากแผลที่กระจกตาอาจรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา  

ในกรณีที่สาเหตุของอาการตาบอดไม่สามารถรักษาได้แพทย์อาจแนะนำวิธีการที่เหมาะสมในการใช้สายตาให้กับผู้ป่วยที่มีภาวะตาบอดบางส่วน (Partial Blindess) หรือสามารถมองเห็นได้อย่างจำกัด ดังนี้

  • การใช้แว่นขยายขณะอ่านหนังสือ หรือเพิ่มขนาดตัวอักษรในคอมพิวเตอร์ให้ใหญ่ขึ้น
  • การใช้หนังสือหรือนาฬิกาเสียง

ส่วนในผู้ป่วยที่มีภาวะตาบอดสนิท (Complete Blindness) ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น

  • การเรียนอักษรเบรลล์
  • การใช้สุนัขนำทาง
  • การพับธนบัตรด้วยรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแยกแยะมูลค่าบนธนบัตร
  • การจัดแต่งบ้าน เพื่อความสะดวกในการหยิบจับสิ่งของ
  • การติดตั้งราวจับในห้องน้ำ เพื่อความปลอดภัย
  • การวางแผนทางการเงิน หรือขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล
  • การสมัครงานสำหรับผู้พิการ โดยอาจสอบถามได้จากกรมการจัดหางาน
  • การตรวจสอบสิทธิ์ และติดตามข่าวสารความช่วยเหลือและผลประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับผู้พิการ

สำหรับประเทศไทยเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นคนตาบอดที่ไม่มีวิธีรักษาให้ดีขึ้นแล้ว ผู้นั้นจะต้องไปลงทะเบียนเป็นคนพิการทางสายตา (ทั้งตาบอดและตาเห็นเลือนราง) เมื่อได้ขึ้นทะเบียนแล้ว มีสิทธิเข้าถึงการรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลได้กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นสวัสดิการให้คนพิการสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้เท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป โดยมีสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ได้แก่

  1. เบี้ยความพิการ คนพิการทุกคนที่มีสมุด/บัตรประจำตัวคนพิการมีสิทธิลงทะเบียนขอรับ “เบี้ยความพิการ” คนละ 500 บาท/เดือนได้
  2. การบริการทางการแพทย์ ผู้พิการมีสิทธิรับการตรวจ การรักษาด้วยยา ด้วยการผ่าตัด การสังคมสงเคราะห์ การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็น การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ยังสามารถได้รับเครื่องช่วยสายตา (Visual Aids) ได้แก่ แว่นขยาย กล้อง Telescope กล้องขยายตามสมควรแต่ละบุคคล เป็นต้น
  3. บริการทางการศึกษารวมถึงการอ่านเขียนอักษรเบรลล์ (Braille) และหลักสูตรพิเศษสำหรับคนตาบอด
  4. การบริการทางอาชีพ ได้รับการแนะนำการฝึกอาชีพที่เหมาะสม เช่น พนักงานรับโทรศัพท์ นักดนตรี พนักงานพิมพ์ดีด และจัดหาสถานที่ทำงานให้ เป็นต้น

การป้องกันอาการตาบอด

อาการตาบอดอาจไม่มีสัญญาณเตือนหรือแสดงอาการใด ๆ และคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าสายตาที่บกพร่องนั้นเกิดจากความเสื่อมของดวงตาจากอายุที่มากขึ้น แต่จริง ๆ แล้วเกิดได้จากหลายสาเหตุ   และอาการตาบอดมักเกิดจากสาเหตุที่สามารถป้องกันได้ 80-90% หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเมื่อมีความผิดปกติที่ดวงตา และสามารถเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาล  นอกจากนี้ การเข้ารับการตรวจตาเป็นประจำอาจช่วยให้แพทย์ตรวจพบความผิดปกติหรือสัญญาณการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ผู้ป่วยจึงได้รับการรักษาที่ทันเวลา และมีวิธีการป้องกันไม่ให้อาการทรุดลงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ จึงควรรีบพบแพทย์ทันทีเมื่อสงสัยหรือมีภาวะสูญเสียการมองเห็น เพราะอาจมีโอกาสในการฟื้นฟูการมองเห็นได้สูงขึ้น

กรณีของทารก ทารกอายุ 6-8 สัปดาห์มักมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้าทางสายตาได้ แต่หากบุตรหลานไม่สามารถตอบสนองต่อแสงสว่างหรือวัตถุที่มีสีสันในช่วงอายุ 2-3 เดือน ไม่สามารถมองตามวัตถุ หรือมีอาการและความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ตาเข ควรรีบนำตัวเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที แต่หากระหว่างนั้นทารกไม่มีความผิดปกติใด ๆ ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานเข้ารับการตรวจตากับแพทย์ได้เมื่ออายุครบ 6 เดือน

การป้องกันอื่น ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้แก่

  • ผู้ที่มองเห็นไม่ชัดควรได้รับการประเมินวัดสายตาและแก้ไขปัญหาสายตาด้วยการสวมแว่น
  • ควรมีการตรวจตาเป็นระยะ โดยเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยง เช่น อายุมากกว่า 40 ปี มีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคเส้นเลือดสมอง โรคทางพันธุกรรมในครอบครัว ทารกคลอดก่อนกำหนด และตรวจติดตามตามคำแนะนำของจักษุแพทย์
  • ผู้มีโรคเบาหวาน ควรเข้ารับการตรวจตาและวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม
  • สวมแว่นตาป้องกันขณะทำกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่ดวงตา เช่น การเล่นกีฬา หรือการทำงานที่ต้องใช้สารเคมี ของมีคม ค้อน หรือเลื่อย เป็นต้น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา เพื่อให้ร่างกายได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี หรือสารลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งอาจช่วยป้องกันกระจกตาและจอประสาทตา
  • งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการทำให้จอตาเสื่อม (Macular Degeneration)
  • เลือกใช้คอนแทคเลนส์ หรือน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมและและไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอน
  • ควรพักสายตาจากการทำงานหรือจ้องมองคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน
  • ไม่ควรเอามือถูหรือขยี้ตาแรงๆ
  • ส่งเสริมให้เด็กกินนมแม่หรือนมผสมที่มีวิตามินเออย่างเหมาะสม
  • หากบุตรหลานมีอาการผิดปกติทางดวงตาและการมองเห็นควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์