ตาล้า

ความหมาย ตาล้า

ตาล้า (Asthenopia) เป็นคำที่ใช้เรียกอาการผิดปกติบริเวณดวงตา อย่างอาการปวดตา ตาแห้ง หรือแสบตา ซึ่งสาเหตุมักมาจากการใช้สายตาอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน โดยส่วนใหญ่อาการตาล้ามักหายได้เองหลังจากการพักสายตาในระยะเวลาหนึ่ง

ในปัจจุบันอาการตาล้าอาจพบได้บ่อยเมื่อใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ซึ่งการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การลดปัจจัยเสี่ยงด้านอื่น ๆ หรือปรับวิธีการใช้สายตาอาจช่วยบรรเทาอาการล้าของดวงตา

ตาล้า

อาการตาล้า

อาการตาล้าอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล โดยหลังจากการใช้สายตามากเกินไปจะมีอาการที่มักพบได้บ่อย เช่น ปวดตา ปวดกระบอกตา ตาแห้ง คันตา แสบตา มีน้ำตาไหล ตาแดง ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด หรือดวงตาไวต่อแสงมากขึ้น เป็นต้น 

นอกจากนี้ อาการเหล่านี้ยังอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว เหนื่อยล้า เวียนศีรษะ บ้านหมุน และปวดไมเกรนได้ด้วย โดยปกติอาการเหล่านี้มักไม่เป็นอันตราย แต่หากอาการรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม

สาเหตุของอาการตาล้า

อาการตาล้านั้นเกิดจากการใช้สายตาต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน โดยอาจพบได้บ่อยขณะอ่านหนังสือ ขับรถ ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ขณะใช้สมาร์ทโฟน อยู่ในที่แสงจ้า ใช้สายตาในที่มืดหรือแสงน้อย ทำงานที่ต้องใช้เพ่งสายตาตลอดเวลา หรือดวงตาสัมผัสกับลมจนทำให้ตาแห้ง นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะตาแห้ง ผู้ที่มีค่าสายตาผิดปกติ หรือกระจกตามีปัญหาก็อาจเกิดอาการนี้ได้เช่นกัน

การวินิจฉัยอาการตาล้า

ในเบื้องต้นอาการตาล้าอาจพบได้ด้วยตนเองจากการสังเกตพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการดังกล่าว หรืออาการที่พบหลังจากการทำพฤติกรรมนั้น ๆ ในกรณีที่ไปพบแพทย์ แพทย์อาจสอบถามอาการที่พบและพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการนั้น ๆ ตามมา รวมทั้งอาจตรวจการมองเห็นหรือวัดค่าสายตาที่อาจเป็นสาเหตุของอาการเหล่านี้เพิ่มเติม

การรักษาอาการตาล้า

เมื่อเกิดอาการตาล้า ควรพักสายตาสักพักเพื่อลดอาการล้าของดวงตา หากตาแห้งอาจใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ซึ่งจะช่วยลดอาการตาแห้งและแสบตาได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนั่งหน้าพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ แต่ให้เปลี่ยนทิศทางลมไม่ให้สัมผัสกับดวงตาโดยตรง รวมทั้งปรับแสงหน้าจอจาดอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือแสงในห้องให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำในขณะนั้น

ภาวะแทรกซ้อนจากอาการตาล้า

อาการล้าของดวงตาเป็นอาการที่ไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ แต่หากเกิดอาการตาล้าบ่อย ๆ อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน หรือการเรียนได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อป้องกันอาการนี้เกิดขึ้น

การป้องกันอาการตาล้า

อาการตาล้าสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  1. จำกัดเวลาในการใช้สายตา อย่างการอ่านหนังสือ ทำงาน หรือเล่นสมาร์ทโฟน และควรพักสายตาอย่างน้อย 20 วินาที ทุก ๆ 20 นาที
  2. กะพริบตาบ่อย ๆ จะช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้นขึ้น
  3. หลีกเลี่ยงการใช้สายตาในที่มืดหรือแสงน้อย รวมทั้งปรับแสงให้เหมาะสมกับการทำงานหรือกิจกรรมนั้น ๆ 
  4. การใช้คอมพิวเตอร์ควรให้สายตาอยู่ห่างจากหน้าจอในระยะ 20-26 นิ้ว รวมทั้งปรับแสงและระดับของหน้าจอให้เหมาะกับการมองเห็น ไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป
  5. สวมแว่นตาที่เหมาะสมกับการใช้งาน อย่างแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือ แว่นตากันแดด หรือแว่นตาสำหรับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์
  6. ใช้อุปกรณ์กรองแสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์
  7. หลีกเลี่ยงการนั่งหน้าพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศที่ทำให้ดวงตาสัมผัสกับลมโดยตรง เพื่อป้องกันอาการตาแห้ง

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารบำรุงสายตา อย่างปลาทะเล ไข่ ถั่ว ส้ม มะนาว และผักใบเขียว ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของอาการล้าได้ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการตาล้าต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน หรือมีอาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง