ความหมาย ตาแดง
ตาแดง คือ อาการที่เยื่อบุดวงตาทั้ง 2 ข้างหรือข้างใดข้างหนึ่งเป็นสีแดงจากหลอดเลือดฝอยที่เยื่อตาขยายตัว มักเกิดจากการอักเสบหรือการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุตา ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ การขยี้ตา การสัมผัสดวงตา ฝุ่นผงเข้าตา ตาแห้ง การบาดเจ็บบริเวณดวงตา หรือเนื้อเยื่อดวงตาเกิดการติดเชื้อ เป็นต้น อาการตาแดงพบได้ในทุกเพศทุกวัย ซึ่งส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงมากนัก และหายเองได้ภายใน 1-2 วัน แต่หากสังเกตเห็นว่าอาการตาแดงเริ่มรุนแรง หรืออาจเกี่ยวข้องกับโรคตาอื่น ๆ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
อาการตาแดง
อาการตาแดงอาจเป็นแค่ตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างพร้อม ๆ กัน ซึ่งแตกต่างกันไปตามสาเหตุด้วย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ปรากฏขึ้นร่วมกับอาการตาแดงได้ เช่น
- แสบตา น้ำตาไหล
- คันตา หรือคันบริเวณเปลือกตา
- เปลือกตาบวม หรือเปลือกตาอักเสบและลอก
- มีขี้ตาเหลวหรือเป็นก้อนแข็ง
- ตาพร่า มองเห็นภาพไม่ชัด
- ขนตาร่วง
- ปวดศีรษะ มีไข้ และไอ
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยตาแดงมานานเกิน 2 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือตาแดงหลังจากรับประทานยาวาร์ฟาริน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยตาแดงและมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- การมองเห็นเปลี่ยนไป หรือมองเห็นแสงกระจายเป็นรัศมีรอบ ๆ ดวงไฟ
- ตาไวต่อแสง
- รู้สึกเหมือนมีอะไรในตา
- มีวัตถุแปลกปลอมในตา หรือสารเคมีเข้าตา
- มีอาการบวมในหรือนอกดวงตา
- ลืมตาหรือหลับตาไม่ได้
- ปวดตา
- ปวดหัวรุนแรง หรือปวดหัวร่วมกับอาการสับสนและมองเห็นไม่ชัด
- เป็นไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- คลื่นไส้ อาเจียน
สาเหตุของตาแดง
สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของตาแดง คือ หลอดเลือดบริเวณผิวดวงตาอักเสบจากการระคายเคืองต่อปัจจัยต่าง ๆ เช่น ฝุ่น ควัน อากาศแห้ง และแสงแดด หรืออาจเกิดจากการไอ โรคหวัด โรคภูมิแพ้ เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสด้วย
นอกจากนี้ ตาแดงอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- การอักเสบบริเวณตาขาว เปลือกตา เบ้าตา ม่านตา กระจกตา หรือเยื่อบนผนังลูกตา
- การบาดเจ็บบริเวณดวงตา เช่น เกิดแผล หรือมีแผลไหม้
- กระจกตาติดเชื้อโรคเริม
- ผิวกระจกตาถลอก หรือกระจกตาเป็นแผล โดยเฉพาะจากการใส่คอนแทคเลนส์นานเกินไป
- มีวัตถุแปลกปลอมเข้าตา
- มีก้อนสีแดงเกิดขึ้นและสร้างความเจ็บปวดบริเวณเปลือกตา
- ตาแห้ง เพราะมีการผลิตน้ำตาลดลง
- ตากุ้งยิงชนิดไม่เจ็บ
- ภาวะหนังตาม้วนออกด้านนอกหรือม้วนเข้าด้านใน
- การเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทตา
- เลือดออกใต้เยื่อบุตา
- การใช้ยาหยอดตา
การวินิจฉัยตาแดง
โดยปกติ จักษุแพทย์อาจวินิจฉัยสาเหตุของอาการตาแดงได้อย่างแม่นยำจากการตรวจสุขภาพดวงตา และการซักถามผู้ป่วยถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น
- อาการอื่น ๆ ที่ปรากฏ
- ประวัติทางการแพทย์
- อาหารที่บริโภค
- รูปแบบการดำเนินชีวิต
- ปัญหาอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณดวงตา
อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจทำการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อยืนยันสาเหตุของตาแดงในบางกรณี เช่น การส่งตรวจขี้ตาเพื่อเพาะเชื้อ ซึ่งอาจเป็นวิธีที่พบได้ไม่บ่อยนัก
การรักษาตาแดง
หากไม่ขยี้ตาจนทำให้อาการแย่ลง อาการตาแดงอาจดีขึ้นหรือหายได้เองโดยไม่ปรากฏอาการปวดหรือปัญหาสายตาอื่น ๆ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการรักษาบรรเทาอาการ ซึ่งการรักษาตาแดงอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุ
อย่างไรก็ตาม อาการตาแดงจากบางสาเหตุ เช่น ตาแดงจากโรคภูมิแพ้ อาจหายได้เองภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกำจัดสารก่ออาการแพ้ออกไป ส่วนอาการตาแดงจากโรคเยื่อบุตาอักเสบอาจคงอยู่นานร่วม 2 สัปดาห์ ดังนั้น หากผู้ป่วยไม่แน่ใจว่าตนเองตาแดงจากสาเหตุใด ควรไปพบแพทย์หรือจักษุแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ตัวอย่างวิธีการรักษาบรรเทาอาการตาแดง
- พักสายตา เพื่อบรรเทาอาการตาล้า
- ประคบร้อนหรือประคบเย็นที่ดวงตา เพื่อลดอาการปวดบวม
- ล้างตาด้วยน้ำเกลือ น้ำอุ่น หรือน้ำเย็น เพื่อลดการระคายเคือง
- ใช้ยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียม หากตาแดงจากอาการตาแห้ง
- รับประทานยาแก้แพ้ หากตาแดงจากอาการแพ้
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสดวงตาแม้จะล้างมือสะอาดแล้วก็ตาม เนื่องจากความมันหรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ อาจติดอยู่ในเล็บ จนเป็นสาเหตุให้เกิดตาแดงหรือเป็นแผลถลอกที่ดวงตาได้
- หลีกเลี่ยงสารก่ออาการแพ้ หรือออกจากบริเวณที่มีสารก่ออาการแพ้
ทั้งนี้ หากรักษาตาแดงด้วยวิธีดังกล่าวแล้วอาการไม่ทุเลาลงหรือทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะอาจต้องใช้ยาแก้แพ้ ยาปฏิชีวนะ ยาหยอดตา หรือยาแก้ปวดอื่น ๆ ตามใบสั่งแพทย์เพิ่มเติมในบางกรณี
ภาวะแทรกซ้อนของตาแดง
หากปรากฏอาการตาแดงแล้วไม่รีบดูแลหรือรักษาอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ดังต่อไปนี้
- เป็นโรคตาอื่น ๆ
- เกิดแผลเป็นในดวงตา
- การติดเชื้อลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของดวงตาหรือร่างกาย
- มีปัญหาในการมองเห็น ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันได้
- สูญเสียการมองเห็นบางส่วน หรือตาบอด
- สูญเสียดวงตา
การป้องกันตาแดง
โดยทั่วไป การป้องกันอาการตาแดงอาจทำได้โดยการรักษาสุขอนามัยให้เหมาะสม และหลีกเลี่ยงสารก่อการระคายเคืองต่าง ๆ ที่อาจทำให้ตาแดง ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำเปล่าหรือสบู่ก่อนสัมผัสใบหน้าและบริเวณดวงตา
- เมื่อมีสิ่งสกปรกเข้าตา ให้ล้างดวงตาด้วยน้ำสะอาด
- เมื่อกลับเข้าที่พัก หากแต่งหน้าให้ล้างเครื่องสำอางบริเวณดวงตาออกทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางแต่งตาร่วมกับผู้อื่น และเปลี่ยนเครื่องสำอางแต่งตาทุก ๆ 6 เดือน
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเพ่งสายตาหรือใช้สายตามาก ๆ เพื่อไม่ให้เกิดอาการตาล้า
- ห้ามใส่คอนแทคเลนส์นานเกินกำหนด โดยห้ามใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น และควรล้างคอนแทคเลนส์ให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ
- ห้ามใช้ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า และหมอนร่วมกับผู้อื่น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยตาแดงควรงดไปทำงาน ไปโรงเรียน หรือสถานที่สาธารณะอื่น ๆ จนกว่าจะหายดี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น