ติดเชื้อในกระแสเลือด

ความหมาย ติดเชื้อในกระแสเลือด

ติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เมื่อเชื้อแบคทีเรียซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งเชื้ออาจแพร่ไปทั่วร่างกายผ่านทางกระแสเลือด หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เกิดลิ่มเลือดอุดตันขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทำให้การทำงานของอวัยวะล้มเหลว และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

การติดเชื้อในกระแสเลือดอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ผิวหนัง ปอด ไต และกระเพาะปัสสาวะ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้มีโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในกระแสเลือดมากกว่าคนทั่วไป หากมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและการเสียชีวิต

Septicemia)

อาการติดเชื้อในกระแสเลือด

การติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจเกิดขึ้นหลังจากประสบอุบัติเหตุหรือหลังได้รับการผ่าตัด ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการไม่รุนแรงนัก แต่อาการจะรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการรักษา

  • รู้สึกหนาวสั่น มือและเท้าเย็นมาก
  • อ่อนเพลีย ไข้ขึ้นสูง ผู้ป่วยบางรายอาการอาจค่อย ๆ เป็นหนักขึ้น
  • หายใจเร็วขึ้น ชีพจรเต้นเร็ว
  • ความดันโลหิตลดต่ำลง
  • รู้สึกตัวน้อยลง มีอาการสับสน
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ผิวหนังเกิดจุดแดง หากปล่อยทิ้งไว้ ผื่นจะลุกลามใหญ่ขึ้นเหมือนรอยช้ำ โดยรอยช้ำเหล่านี้จะแผ่ขยายใหญ่เป็นบริเวณกว้าง
  • ปัสสาวะน้อยลง
  • เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะช็อก

ทั้งนี้ เด็กที่ติดเชื้อในกระแสเลือด อาการจะแสดงออกไม่ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ โดยเด็กอาจจะตัวเย็นมาก มีผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งเมื่อใช้นิ้วกดแล้วผื่นนั้นไม่ยอมหายไปตามรอยกด ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำหรือผิวซีด หายใจถี่กว่าปกติ ง่วงซึม ปลุกให้ตื่นยาก 

สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือด

การติดเชื้อในกระแสเลือดมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สตาฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) สเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus Pneumoniae) และอีโคไล (E.Coli) ในบางกรณีอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา และปรสิตได้เช่นกัน แต่พบได้น้อย การติดเชื้อในกระแสเลือดอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

การติดเชื้อที่อวัยวะในร่างกาย

การติดเชื้อที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายถือเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดที่พบได้มากที่สุด ซึ่งทำให้เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดทันที ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อบริเวณต่าง ๆ เช่น

  • โรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อในปอด เช่น ปอดบวม
  • การติดเชื้อที่ไต
  • โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • การติดเชื้อในช่องท้อง
  • การติดเชื้อในช่องปาก เช่น ฝีในฟัน (Dental Abscess) ซึ่งเกิดจากการสะสมของแบคทีเรียและเกิดเป็นหนอง
  • การติดเชื้อที่ผิวหนังกรณีที่มีแผลขนาดใหญ่หรือถูกไฟลวก

ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล

ผู้ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาด้วยกระบวนการทางแพทย์หรือการผ่าตัดอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดสูง เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียอาจต้านฤทธิ์ยาปฏิชีวนะ 

สาเหตุอื่น ๆ

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด อาจได้แก่

  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ผู้ป่วยลูคีเมีย
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษา โรคทางเดินหายใจอุดกั้น (COPD) 
  • ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ฉีดสเตียรอยด์ หรือวิธีอื่น ๆ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
  • ผู้ที่ใส่สายสวนปัสสาวะ หรือผู้ที่ถูกสอดท่อเข้าไปในหลอดเลือดดำ
  • ผู้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • เด็กเล็กและผู้สูงอายุ

การวินิจฉัยการติดเชื้อในกระแสเลือด

เบื้องต้นแพทย์จะตรวจอาการของผู้ป่วย ประกอบกับดูประวัติการรักษา จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อวัดระดับความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร และอาการ หรือสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่นที่เกิดร่วมกับการติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆเช่น

การตรวจเลือด
แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยเพื่อนำไปตรวจหาการติดเชื้อ การเกิดลิ่มเลือด การทำงานที่ตับหรือไต ความสามารถในการลำเลียงออกซิเจน และระดับความสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายผู้ป่วย นอกจากนี้ การตรวจเลือดยังช่วยตรวจดูเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และตรวจดูว่าอาการของผู้ป่วยตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะได้ดีหรือไม่

การตรวจปัสสาวะ
ผู้ป่วยทางเดินปัสสาวะอักเสบต้องนำตัวอย่างปัสสาวะให้แพทย์ตรวจ เพื่อดูการติดเชื้อของแบคทีเรีย

การตรวจสารคัดหลั่งจากบาดแผล
หากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บและเกิดแผลติดเชื้อ แพทย์จะเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบาดแผลมาตรวจ เพื่อช่วยในการจ่ายยาปฏิชีวนะให้สามารถรักษาการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การตรวจน้ำมูกหรือเสมหะ
หากผู้ป่วยเกิดอาการไอและมีเสมหะด้วย แพทย์จะเก็บตัวอย่างน้ำมูกหรือเสมหะ โดยการตรวจนี้จะช่วยวินิจฉัยชนิดของแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ

การตรวจด้วยภาพสแกน
วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจสภาพของอวัยวะหรือบริเวณเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อให้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยการตรวจด้วยภาพสแกนประกอบด้วย

  • เอกซเรย์ ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับปอดควรได้รับการเอกซ์เรย์ โดยวิธีนี้จะช่วยแสดงสภาพของปอดที่ชัดเจนขึ้น
  • อัลตราซาวด์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ถุงน้ำดีหรือรังไข่ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ โดยแพทย์จะใช้คลื่นเสียงเพื่อช่วยสร้างภาพออกมา
  • ซีที สแกน (CT Scan) ผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ลำไส้ ตับอ่อน หรือไส้ติ่ง ควรตรวจด้วยการทำซีที สแกน โดยแพทย์จะนำภาพเอกซเรย์จากหลายมุมมารวมกันเพื่อให้เห็นภาพรวมโครงสร้างของอวัยวะภายในส่วนต่าง ๆ
  • เอ็มอาร์ไอ (MRI) ผู้ป่วยที่ติดเชื้อตรงเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เกิดฝีที่กระดูกสันหลัง ควรตรวจด้วยการทำเอ็มอาร์ไอ ซึ่งจะช่วยระบุบริเวณที่เนื้อเยื่ออ่อนติดเชื้อได้ โดยแพทย์จะใช้คลื่นวิทยุและแม่เหล็กไฟฟ้าในการประมวลภาพสแกนของโครงสร้างอวัยวะภายในออกมา

การรักษาการติดเชื้อในกระแสเลือด

หากการติดเชื้อในกระแสเลือดส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยอาจต้องเข้ารับการรักษาและพักฟื้นร่างกายที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ วิธีรักษาการติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ อายุ สุขภาพด้านต่าง ๆ ลักษณะอาการของผู้ป่วย และความอดทนต่อฤทธิ์ยา 

หากเกิดการอักเสบภายในร่างกาย ส่งผลให้ลิ่มเลือดอุดตัน ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อกระตุ้นให้หายใจได้ปกติและหัวใจกลับมาทำงานเหมือนเดิม โดยวิธีรักษาประกอบด้วยการรักษาด้วยยา การดูแลตามอาการของผู้ป่วย และการผ่าตัด ดังนี้

การใช้ยาปฏิชีวนะ

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงจะได้รับยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียครอบคลุมหลายประเภท เนื่องจากผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที และแพทย์อาจยังไม่สามารถระบุประเภทของเชื้อได้อย่างเฉพาะเจาะจงในเวลาอันสั้น โดยแพทย์จะฉีดยาปฏิชีวนะที่คาดว่ามีผลในการรักษาผู้ป่วยเข้าหลอดเลือดดำภายใน 6 ชั่วโมงแรกหรือเร็วกว่านั้น 

ทั้งนี้ เมื่อได้ผลตรวจเลือดแล้ว แพทย์จึงจะเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาประเภทของเชื้อได้เฉพาะเจาะจง โดยจะเปลี่ยนเป็นยาปฏิชีวนะแบบเม็ดให้ผู้ป่วยหลังจากระยะวิกฤตผ่านไปแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาในช่วงระยะเวลา 7–10 วัน หรือนานกว่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย

การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ

แพทย์จะให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยเพื่อรักษาระดับความดันโลหิตให้คงที่ ทั้งนี้ สารน้ำที่ให้แก่ผู้ป่วยซึ่งติดเชื้อในกระแสเลือดจะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำและไตล้มเหลว โดยแพทย์จะให้สารน้ำภายใน 24–48 ชั่วโมงหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ยาเพิ่มความดันโลหิต

ผู้ป่วยบางรายหากยังมีความดันโลหิตต่ำอยู่หลังจากได้รับสารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ แพทย์อาจให้ยาเพิ่มความดันโลหิต โดยยานี้จะทำให้หลอดเลือดตีบลงและช่วยเพิ่มความดันโลหิต

การดูแลผู้ป่วยตามอาการ

ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอาจจำเป็นต้องต่อท่อหรือใส่หน้ากากเครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น หากผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่ไต แพทย์อาจทำการฟอกไตเพื่อกำจัดของเสียในร่างกายออก

การผ่าตัด

หากต้นเหตุของการติดเชื้อมากจากฝีหรือแผลที่ทำให้ลุกลามได้นั้น อาจต้องเจาะเอาหนองออกมา ส่วนผู้ป่วยที่เกิดอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อออกไป และรักษาเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหาย

ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อในกระแสเลือด

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาทันที อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนี้

  • ภาวะการอักเสบทั่วร่างกาย (Sepsis) เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเชื้อแบคทีเรีย หากอาการรุนแรงอาจส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ และไตวายได้ ภาวะนี้พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • ภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (Septic Shock) เป็นผลจากการติดเชื้อในกระแสเลือดขั้นรุนแรง ทำให้ความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เนื้อเยื่อตายได้ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
  • เนื้อตายเน่า (Gangrene) เกิดจากการที่เนื้อเยื่อบางส่วนของร่างกายขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เนื้อเยื่อตายและเกิดการเน่า หากอาการรุนแรงอาจต้องตัดอวัยวะที่ได้รับผลกระทบออกไปด้วย เช่น แขนและขา 
  • ภาวะหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome: ARDS) ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้รับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงปอดอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ยังทำให้ปอดเสียหายถาวร และส่งผลกระทบต่อสมองจนนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับความจำ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจนหายแล้วก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น นอนไม่หลับ ฝันร้าย ประสาทหลอน มีอาการเพ้อ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ ไม่มีสมาธิ และสูญเสียความมั่นใจ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจคงอยู่นานประมาณ 6–18 เดือน

การป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด

วิธีป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ทำได้การป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ ซึ่งทำได้โดย

  • ฉีดวัคซีนให้ครบอย่างสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่ ไม่ใช้สารเสพติด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ระวังเมื่อต้องอยู่ใกล้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ

ผู้ที่มีไข้หรือสงสัยว่าได้รับเชื้อแบคทีเรียควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาทันที หากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทันเวลา จะช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจาย และไม่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด