ต่อมน้ำเหลืองโต

ความหมาย ต่อมน้ำเหลืองโต

ต่อมน้ำเหลืองโต (Lymphadenopathy) เป็นภาวะบวมโตขึ้นของต่อมน้ำเหลืองซึ่งเป็นต่อมที่มีอยู่ทั่วร่างกาย ภายในประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว ต่อมน้ำเหลืองในแต่ละแห่งมีหน้าที่สำคัญในการช่วยต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรค เชื้อไวรัส และแบคทีเรียต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น โดยบริเวณที่มักสังเกตพบว่ามีอาการโตของต่อมน้ำเหลือง ได้แก่ ลำคอ ใต้คาง หลังใบหู ใต้รักแร้ และบริเวณขาหนีบ

Lymphadenopathy

อาการต่อมน้ำเหลืองโต

ต่อมน้ำเหลืองโตเป็นอาการบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อหรือโรคบางชนิด โดยอาการต่อมน้ำเหลืองโตเมื่อแรกเริ่มอาจสังเกตได้ดังนี้

  • อาการกดเจ็บและปวดบริเวณต่อมน้ำเหลือง
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโตขึ้น อาจมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตาหรือถั่วแดง หรือใหญ่กว่านั้น
  • ผิวหนังบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองโตมีอาการบวม แดง สัมผัสแล้วรู้สึกอุ่น
  • รู้สึกถึงก้อนบวมโต

นอกจากนี้ ภาวะต่อมน้ำเหลืองโตยังอาจเกิดขึ้นพร้อมอาการอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • อาการเจ็บคอ น้ำมูกไหล เป็นไข้ หรืออาการอื่น ๆ ที่แสดงถึงการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน
  • อาการบวมของต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายที่อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี เชื้อโมโนนิวคลีโอซิส หรือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • ต่อมน้ำเหลืองมีขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จับดูแล้วรู้สึกแข็ง และไม่เคลื่อนที่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากการมีเนื้องอก
  • เป็นไข้
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน

ทั้งนี้ ต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้นนั้นอาจหายดีหรือกลับไปเป็นปกติเมื่อโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียนั้นดีขึ้นแล้ว แต่หากผู้ป่วยมีความกังวลหรือพบว่าภาวะต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้นมีลักษณะต่อไปนี้ควรต้องไปพบแพทย์

  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโตขึ้นโดยไม่มีที่มาแน่ชัด
  • มีอาการบวมโตขึ้นเรื่อย ๆ หรือเป็นมานานกว่า 2-4 สัปดาห์
  • ผิวหนังบนต่อมน้ำเหลืองดังกล่าวมีอาการแดง
  • สัมผัสแล้วแข็ง นิ่มคล้ายยาง หรือไม่มีการเคลื่อนไหวเมื่อออกแรงดัน
  • เกิดขึ้นพร้อมกับมีไข้เรื้อรัง เหงื่อออกตอนกลางคืน หรือน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ไม่มีอาการติดเชื้อปรากฏชัดเจน และไม่ได้รู้สึกเจ็บป่วย
  • เจ็บคอ มีอาการกลืนหรือหายใจลำบาก

สาเหตุของภาวะต่อมน้ำเหลืองโต

ต่อมน้ำเหลืองโตส่วนใหญ่มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสโรคหวัด ส่วนโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุได้เช่นกันมีดังนี้

สาเหตุจากโรคติดเชื้อที่พบบ่อย ได้แก่

  • โรคหัด
  • คออักเสบ (Strep Throat)
  • การติดเชื้อที่หู
  • การติดเชื้อที่ฟัน
  • โรคโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis) โรคติดเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสน้ำลายของผู้ป่วยโรคนี้
  • โรคติดเชื้อเอชไอวี
  • วัณโรค
  • โรคติดเชื้อที่แผลหรือผิวหนัง เช่น โรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ

สาเหตุจากโรคติดเชื้อที่พบไม่บ่อย ได้แก่

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด เช่น ซิฟิลิส หนองใน
  • โรคแมวข่วน การติดเชื้อแบคทีเรียจากการถูกแมวที่ติดเชื้อข่วนหรือกัด
  • โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) โรคติดเชื้อจากปรสิตที่เกิดจากการสัมผัสกับอุจจาระของแมวที่ติดเชื้อหรือการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก

สาเหตุจากโรคความผิดปกติทางภูมิคุ้มกัน

  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคการอักเสบเรื้อรังที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเนื้อเยื่อตามแนวข้อต่อ
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เป็นโรคอักเสบเรื้อรังอีกชนิดหนึ่งที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายข้อต่อ ผิวหนัง เซลล์เม็ดเลือด และอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ปอด และไต

สาเหตุจากโรคมะเร็ง

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นมะเร็งที่ก่อตัวขึ้นในระบบน้ำเหลืองโดยตรง
  • โรคลูคีเมีย โรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ไขกระดูก และระบบต่อมน้ำเหลือง
  • มะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่เกิดการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง เช่น มะเร็งเต้านม

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนหรือใช้ยา เช่น ยาต้านชักเฟนิโทอิน (Phenytoin) และยาป้องกันโรคมาลาเรีย ก็อาจมีผลทำให้เกิดภาวะต่อมน้ำเหลืองโตได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยมาก

นอกจากนี้บริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองบวมโตขึ้นก็สามารถบ่งบอกถึงสาเหตุได้เช่นกัน

  • ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณข้างลำคอหรือใต้ขากรรไกร เป็นบริเวณที่พบได้บ่อยที่สุด  ซึ่งอาจสังเกตเห็นได้เป็นก้อนข้างคอในเด็กและผู้ใหญ่ โดยอาจแสดงถึงการติดเชื้อที่ฟัน ฟันเป็นหนอง ติดเชื้อในลำคอ ติดเชื้อจากไวรัส หรือติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเนื้องอกที่ไม่อันตราย หรือบางครั้งอาจเป็นอาการบ่งบอกมะเร็งที่ศีรษะและลำคอได้
  • ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อบริเวณหนังศีรษะหรือตา เช่น รังแค ฝี หรือการติดเชื้อที่เนื้อเยื่ออ่อน
  • ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณใต้วงแขน มักสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณนี้โตขึ้น รวมถึงสาเหตุจากการเกิดบาดแผลหรือการติดเชื้อที่แขนข้างเดียวกับที่ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณเหนือไหปลาร้า มักเกิดจากความผิดปกติ โดยอาจบ่งบอกถึงโรคมะเร็งหรือการติดเชื้อในบริเวณใกล้เคียง เช่น มะเร็งปอด ติดเชื้อที่ปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในช่องอก หรือมะเร็งเต้านม และยังเป็นไปได้ว่าจะเกิดจากเซลล์มะเร็งที่อยู่ห่างไกลออกไปได้แพร่กระจายมา เช่น มะเร็งที่อวัยวะสืบพันธ์ุ มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือบางครั้งก็เกิดจากการอักเสบจากวัณโรค หรือโรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis)
  • ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณขาหนีบ อาจพบได้ทั่วไปในวัยหนุ่มสาว แต่ก็มีสาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเฉพาะที่ การติดเชื้อที่แขนขาส่วนล่าง หรือมะเร็งที่อวัยวะสืบพันธ์ุได้เช่นกัน

การวินิจฉัยภาวะต่อมน้ำเหลืองโต

หลังตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาโรคที่เป็นสาเหตุโดยการใช้วิธีวินิจฉัยต่อไปนี้

  • สอบถามประวัติสุขภาพ ผู้ป่วยจะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการบวมโตขึ้นของต่อมน้ำเหลืองว่าเกิดขึ้นเมื่อใด มีลักษณะอาการที่เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และมีสัญญาณหรืออาการอื่น ๆ นอกเหนือจากต่อมน้ำเหลืองโตเกิดขึ้นหรือไม่
  • ตรวจร่างกาย ในขั้นตอนนี้แพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นด้วยการสำรวจดูต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ผิวหนัง โดยดูขนาด ความรู้สึกเจ็บเมื่อกด การเคลื่อนไหว รวมทั้งอุณหภูมิและพื้นผิวของบริเวณดังกล่าว ซึ่งลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบกับอาการที่ผู้ป่วยได้บอกเล่าให้ฟังจะช่วยให้แพทย์พิจารณาหรือคาดการณ์ถึงโรคที่น่าจะเป็นสาเหตุของภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดขึ้น ส่วนแนวทางการวินิจฉัยขั้นต่อไปนั้นก็ขึ้นอยู่กับการสันนิษฐานของแพทย์
  • การตรวจเลือด แพทย์อาจใช้การตรวจเลือดเพื่อยืนยันให้แน่ใจถึงต้นเหตุ หรืออาจตรวจเพื่อแยกโรคอื่น ๆ ที่คล้ายกันออกไป แต่จะใช้การตรวจเลือดชนิดใดก็ขึ้นอยู่โรคที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นสาเหตุ โดยส่วนใหญ่จะใช้การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ซึ่งเป็นวิธีการประเมินสุขภาพโดยรวมและตรวจหาความผิดปกติ รวมทั้งการติดเชื้อและโรคลูคีเมียด้วย
  • การเอกซเรย์หรือซีทีสแกน (CT Scan) เป็นวิธีการที่นำมาใช้ถ่ายภาพดูบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เพื่อหาที่มาของการติดเชื้อและตรวจหาเนื้องอกที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะต่อมน้ำเหลืองโตได้
  • การตรวจตัวอย่างจากต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อตัวอย่างจากต่อมน้ำเหลืองของคนไข้ หรือเป็นไปได้ว่าจะตัดเอาต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้นทั้งหมดออกมาส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

การรักษาภาวะต่อมน้ำเหลืองโต

วิธีการรักษาภาวะต่อมน้ำเหลืองโตในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุที่แพทย์ตรวจพบ เช่น หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หากเกิดจากเชื้อไวรัสก็มักจะปล่อยให้หายไปได้เอง เป็นต้น

ภาวะต่อมน้ำเหลืองโตต่อเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสอาจค่อย ๆ ยุบลงได้เองหลังจากที่อาการติดเชื้อสิ้นสุดลงแล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และหากรู้สึกเจ็บหรือกดแล้วเจ็บก็อาจใช้วิธีบรรเทาด้วยตนเองดังต่อไปนี้

  • ประคบร้อน วางแผ่นประคบร้อนลงบนบริเวณที่มีอาการเจ็บจากต่อมน้ำเหลืองโต โดยอาจใช้ผ้าขนหนูจุ่มลงในน้ำร้อนแล้วบิดน้ำให้แห้งแล้วจึงประคบลงไป
  • รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน หรือพาราเซตามอล พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้หายจากโรคที่เป็นได้เร็วยิ่งขึ้นและจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองยุบลงตามไปในที่สุด

ส่วนภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย วิธีการรักษาที่นำมาใช้บ่อยที่สุดคือการใช้ยาปฏิชีวนะ ทว่าก็ไม่ใช่ทุกกรณี เช่น ผู้ป่วยมีต่อมน้ำเหลืองโตจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีก็จะต้องได้รับการรักษาในลักษณะเฉพาะ เช่นเดียวกับภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดจากมะเร็งที่ผู้ป่วยจะต้องรับการรักษาจากโรคมะเร็งที่เป็นต้นเหตุ โดยวิธีการรักษาก็ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง อาจมีการผ่าตัด รักษาด้วยการฉายรังสี หรือทำเคมีบำบัด เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะต่อมน้ำเหลืองโต

ภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดจากการติดเชื้อแต่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้ตามมา

การเกิดโพรงหนอง (Abscess Formation) การติดเชื้ออาจทำให้เกิดฝีที่มีการสะสมของหนองซึ่งประกอบไปด้วยของเหลว เซลล์เม็ดเลือดขาว เนื้อเยื่อและแบคทีเรียที่ตายแล้ว รวมถึงสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ฝีที่เกิดขึ้นนี้อาจต้องรักษาด้วยการระบายหนองออกให้แห้งและใช้ยาปฏิชีวนะควบคู่กัน

ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นกดทับบริเวณรอบข้าง ภาวะแทรกซ้อนนี้อาจเป็นปัญหาร้ายแรง ทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลงและต้องได้รับการรักษาหรือการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้วงแขนที่อาจโตขึ้นกดทับเส้นประสาทและเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงแขน หรือต่อมน้ำเหลืองโตภายในช่องท้องที่ไปกดทับลำไส้จนเกิดลำไส้อุดตัน

การติดเชื้อในกระแสเลือด (Bacteremia) การติดเชื้อแบคทีเรียไม่ว่าที่บริเวณใดของร่างกายก็สามารถนำไปสู่ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรงและอาจพัฒนาไปถึงขั้นส่งผลให้การทำงานของอวัยวะในร่างกายล้มเหลวและเสียชีวิตได้ในที่สุด การรักษาภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้จะต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลและให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด

การป้องกันภาวะต่อมน้ำเหลืองโต

ภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่เกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิดสามารถป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำเปล่าในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวที่มีการแพร่กระจายของโรคหวัดมาก
  • ไม่ดื่มน้ำจากแก้วเดียวกันหรือรับประทานอาหารร่วมจานกับผู้อื่นที่จะทำให้เกิดการสัมผัสน้ำลายของอีกฝ่าย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคติดเชื้อข้างต้นที่เป็นสาเหตุของภาวะต่อมน้ำเหลืองโต
  • ใช้กระดาษชำระปิดปากและจมูกทุกครั้งเมื่อไอหรือจาม และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  • รักษาความสะอาดภายในบ้านและที่อยู่อาศัย หมั่นซักทำความสะอาดเสื้อผ้า สิ่งของและเครื่องนอนอยู่เสมอ
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และหาเวลาผ่อนคลายจากความเครียด