ทรามาดอล (Tramadol)
ทรามาดอล (Tramadol) เป็นยาระงับอาการปวดที่มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดค่อนข้างรุนแรง ยาชนิดนี้จัดเป็นยาอันตรายและเป็นยาที่จ่ายได้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยตัวยาจะออกฤทธิ์สั่งการสมองและระบบประสาทให้คลายความเจ็บปวดลง
เกี่ยวกับยาทรามาดอล
กลุ่มยา | กลุ่มโอปิออยด์ (Opioid Analgesics) |
ประเภทยา | ยาตามใบแพทย์สั่ง |
สรรพคุณ | ลดอาการปวดระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรง |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กที่อายุ 12 ปีขึ้นไป ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดแคปซูล ยาฉีด |
คำเตือนในการใช้ยาทรามาดอล
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาทรามาดอล ผู้ใช้ยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาทรามาดอลโดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ เพราะยาชนิดนี้ถือเป็นยาอันตราย และการใช้ยาติดต่อกันนานเกินกว่าที่แพทย์สั่งอาจส่งผลให้เกิดการเสพติดได้ หรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหากมีการใช้ยาเกินขนาด
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติทางการแพทย์ เช่น โรคปอด โรคหอบหืด โรคลมชัก ภาวะถอนพิษสุราหรือถอนยาบางชนิด โรคหัวใจ การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ โรคตับ โรคไต ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ กระเพาะอาหารหรือลำไส้อุดตัน ภาวะผิดปกติทางด้านจิตใจ และมีประวัติการบาดเจ็บที่ศีรษะ
- หากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาทรามาดอล
- ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท หรือสารเสพติดก่อนใช้ยาทรามาดอลชั่วระยะหนึ่ง
- ห้ามรับประทานยาทรามาดอลพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น
- ผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 12 ปี หรือ 18 ปีที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์หรือต่อมทอนซิล ไม่ควรใช้ยานี้
ปริมาณการใช้ยาทรามาดอล
ปริมาณการใช้ยาทรามาดอลจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย รูปแบบของยาที่ใช้ ความรุนแรงของอาการ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้
อาการปวดทั่วไปในระดับปานกลางไปจนถึงขั้นรุนแรง
แพทย์อาจให้ยาเป็นชนิดเม็ดหรือชนิดฉีด โดยตัวอย่างการใช้ยาทรามาดอลชนิดเม็ดรูปแบบต่าง ๆ มีดังนี้
เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ให้รับประทานในปริมาณ 50–100 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง โดยปริมาณสูงสุดใน 1 วันไม่ควรเกิน 400 มิลลิกรัม
ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 75 ปี ขึ้นไป อาจต้องลดขนาดยาลง โดยแพทย์จะเป็นผู้กำหนดปริมาณ และระยะเวลาการใช้งานตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วย
กรณีที่แพทย์ให้ยาชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เข้าหลอดเลือดดำ หรือเข้าชั้นใต้ผิวหนัง จะมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้
เด็กที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ให้ยาในปริมาณ 50–100 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 2–3 นาที ทุก ๆ 4–6 ชั่วโมง โดยปริมาณสูงสุดใน 1 วันจะไม่เกิน 600 มิลลิกรัม
ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 75 ปี ขึ้นไป แพทย์จะเป็นผู้กำหนดปริมาณ และระยะเวลาการใช้งานตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วย
การใช้ยาทรามาดอล
การใช้ยาทรามาดอลอย่างปลอดภัยคือการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไม่ควรรับประทานมากกว่าปริมาณที่กำหนด เพราะจะทำให้ได้รับยาเกินขนาด และไม่ควรหัก เคี้ยว หรือแบ่งยา
ผู้ป่วยสามารถรับประทานยานี้ได้ทั้งก่อนและหลังอาหาร ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตาม ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเพื่อทดแทนมื้อที่ขาดไป แต่หากใกล้เวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไปโดยไม่ได้เพิ่มปริมาณยา
ในระหว่างที่ใช้ยาทรามาดอล แพทย์อาจต้องนัดผู้ป่วยมาตรวจเป็นระยะ ๆ เช่น ตรวจการทำงานของตับและไต หรือตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และสำหรับการเก็บรักษายา ให้เก็บยาในอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้น และเก็บให้ห่างมือเด็ก
ปฏิกิริยาระหว่างยาทรามาดอลกับยาอื่น
ผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อน
- ยาที่มีฤทธิ์หรืออาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดการง่วงซึม
- ยารักษาโรคทางอารมณ์ ยารักษาระบบประสาท ภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะยาต้านเศร้ากลุ่มเอ็มเอโอไอ (Monoamine Oxidase Inhibitors) ยาละลายลิ่มเลือด ยาปฏิชีวนะ โรคลมชัก ไมเกรน ยารักษาการติดเชื้อรา และสมุนไพร St.John's Wort
- ยารักษาอาการปวดขั้นรุนแรงชนิดอื่น
นอกจากยาเหล่านี้แล้ว ยังมียาชนิดอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของยาทรามาดอลได้เช่นกัน หากกำลังใช้ยาชนิดใด ๆ อยู่ รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยานี้
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาทรามาดอล
ยาทรามาดอลเป็นยาอันตรายที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากผลข้างเคียงของการใช้ยาชนิดนี้ค่อนข้างรุนแรง โดยยาจะกดระบบทางเดินหายใจและมีผลต่อระบบประสาทเมื่อได้รับปริมาณมากเกินไป โดยผลข้างเคียงจากยาทรามาดอลที่พบได้บ่อย เช่น
- ท้องผูก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- วิตกกังวล
- อาการสั่น กระสับกระส่าย
- เหงื่อท่วม
- นอนไม่หลับ
- อาการประสาทหลอน
นอกจากนี้ หากใช้ยาทรามาดอลแล้วมีอาการแน่นท้อง ปัสสาวะเป็นเลือด ความดันโลหิตสูง แน่นหน้าอก หนาวสั่น หน้ามืด เวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก ชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ รู้สึกปวดตามร่างกาย ตาพร่าเลือน หายใจช้าลง รวมถึงมีอาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น หายใจไม่ออก หรือใบหน้าบวม มีไข้ เจ็บคอ แสบร้อนดวงตา เกิดรอยแดงหรือม่วงตามผิวหนัง เกิดแผลพุพอง ผิวลอก ควรรีบพบแพทย์ในทันที