ทราโวโพรส
Travoprost (ทราโวโพรส) เป็นยารักษาภาวะความดันภายในลูกตาสูงอันเนื่องมาจากต้อหินมุมเปิดหรือโรคทางตาอื่น ๆ โดยออกฤทธิ์ควบคุมการไหลของน้ำภายในลูกตา จนทำให้ระดับความดันในลูกตากลับมาเป็นปกติ ซึ่งช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ นอกจากนี้ ยังอาจนำมาใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Travoprost
กลุ่มยา | ยารักษาต้อหิน |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาภาวะความดันภายในลูกตาสูงและต้อหิน |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาหยอดตา |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อน ในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอใน การศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ |
คำเตือนในการใช้ยา Travoprost
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีประวัติทางการแพทย์ เช่น ตาบวม ติดเชื้อที่ตา จอประสาทตาลอก เข้ารับการผ่าตัดดวงตา อาการบาดเจ็บที่ส่งผลต่อเลนส์ตา เป็นต้น
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
- ห้ามขับรถ ใช้เครื่องจักรหรือทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวหรือสายตาที่ดีในระหว่างที่ใช้ยา จนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เพราะยานี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมองเห็นเป็นภาพเบลอได้
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยานี้ หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ เพราะอาจต้องหยุดใช้ยาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ
- ห้ามใช้ยาหยอดตาชนิดอื่นในระหว่างที่ใช้ยานี้ นอกเสียจากจะเป็นคำสั่งจากแพทย์
- ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสียและความเสี่ยงต่อทารกก่อนการใช้ยานี้
- ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนการให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี โดยไม่ได้รับการยืนยันจากแพทย์
ปริมาณการใช้ยา Travoprost
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
รักษาภาวะความดันภายในลูกตาสูงและต้อหินมุมเปิด
ตัวอย่างการใช้ยา Travoprost เพื่อรักษาภาวะความดันภายในลูกตาสูงและต้อหินมุมเปิด
ผู้ใหญ่ ใช้ยาหยอดตาความเข้มข้น 0.003% หรือ 0.004% หยอดตาข้างที่มีอาการในบริเวณถุงเยื่อบุตา 1 หยด วันละ 1 ครั้ง ซึ่งแนะนำให้หยอดตาในช่วงเย็น
เด็กที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ใช้ยาหยอดตาความเข้มข้น 0.003% ในปริมาณเดียวกันกับผู้ใหญ่
การใช้ยา Travoprost
ยาทราโวโพรสมีวิธีการใช้ ดังนี้
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
- ห้ามใช้ยานี้ขณะใส่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากยา Travoprost อาจมีส่วนผสมของสารกันบูด ซึ่งส่งผลให้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มเปลี่ยนสีได้ ผู้ป่วยจึงควรรออย่างน้อย 15 นาที หลังการใช้ยาแล้วจึงใส่คอนแทคเลนส์
- ควรล้างมือให้สะอาดก่อนการใช้ยาทุกครั้ง โดยผู้ป่วยควรเงยหน้าและดึงเปลือกตาล่างลงมาเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับหยอดตา กะตำแหน่งให้ปลายหลอดยาห่างจากดวงตาพอประมาณแล้วค่อย ๆ หยดยาลงไปตามปริมาณที่แพทย์ได้แนะนำไว้ หลังจากนั้นให้หลับตาไว้ 2-3 นาที ก้มหน้าลงเล็กน้อยโดยที่ไม่หรี่ตาหรือกระพริบตา ใช้นิ้วมือค่อย ๆ กดนวดเบา ๆ ที่บริเวณหัวตาประมาณ 1 นาที เพื่อไม่ให้ของเหลวในตาระบายไปยังท่อน้ำตา หลังจากหยอดตาแล้ว ให้รออย่างน้อย 5 นาที แล้วจึงค่อยใช้ยาหยอดตาชนิดอื่นตามที่แพทย์สั่ง
- ห้ามสัมผัสที่ปลายหลอดยาหรือวางหลอดยาให้สัมผัสกับดวงตาโดยตรง เพราะยาอาจปนเปื้อนและอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่ตาได้
- ห้ามใช้ยาหยอดตาหากตัวยามีสีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามล้างหลอดหยดยา แต่ให้เปลี่ยนฝาปิดหลอดหยดยาอันใหม่แทน
- หากผู้ป่วยลืมใช้ยา ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดอาจไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หากเผลอรับประทานยาหยอดตาลงไป ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงโดยตรง หากไม่ได้ใช้งานควรปิดหลอดยาให้แน่นสนิทเสมอ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Travoprost
โดยปกติยา Travoprost มักส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น รู้สึกไม่สบายตา มีอาการคันหรือเจ็บตา ตาแดง เปลือกตาบวม มองเห็นเป็นภาพเบลอ รู้สึกเหมือนมีวัตถุแปลกปลอมอยู่ในดวงตา ตาแห้ง น้ำตาไหล ขนตางอกเพิ่มขึ้นผิดปกติโดยมีลักษณะหนาและยาว ขอบตาหรือขนตาดำคล้ำ ลักษณะของเปลือกตาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดวงตาไวต่อแสงมากขึ้น เป็นต้น หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้
- มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก อาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น
- ตาบวมแดง รู้สึกไม่สบายตาอย่างรุนแรง มีสะเก็ดหรือหนองที่ตาซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
- เปลือกตาบวมแดงหรือมีอาการคันบริเวณเปลือกตา
- ดวงตาไวต่อแสงอย่างรุนแรง
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- รู้สึกแสบร้อนอย่างรุนแรงหรือเกิดการระคายเคืองหลังจากใช้ยาหยอดตา
อย่างไรก็ตาม ยานี้อาจทำให้สีของม่านตาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งอาจเกิดอย่างช้า ๆ จนไม่ทันสังเกตเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี และอาจเปลี่ยนสีถาวรแม้จะหยุดใช้ยาแล้วก็ตาม ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวก็ควรปรึกษาจักษุแพทย์ด้วยเช่นกัน