ความหมาย น้ำตาลในเลือดสูง
น้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งระดับน้ำตาลที่ปกติคือประมาณ 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่หากค่าที่ได้สูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไปจะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน
โดยทั่วไป การตรวจจะใช้เกณฑ์วัดระดับน้ำตาลก่อนรับประทานอาหารในตอนเช้า ผู้ที่เข้ารับการตรวจต้องอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงในคืนก่อนตรวจ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและไม่ได้รับการรักษานั้นอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่งผลให้เส้นประสาท หลอดเลือด หรืออวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายจนมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาได้
อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
น้ำตาลในเลือดสูงมักไม่มีอาการบ่งบอกในช่วงแรก แต่เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติได้เมื่อระดับน้ำตาลสูงเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป อาจใช้เวลาหลายวันไปจนถึงหลายสัปดาห์ จึงจะแสดงอาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางรายที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเวลานานอาจไม่มีอาการผิดปกติ แม้จะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่พบได้บ่อย มีดังนี้
อาการในช่วงเริ่มต้นสังเกตได้จาก
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน
- มองเห็นไม่ชัด
- กระหายน้ำมาก
- ปวดศีรษะ
- เหนื่อยง่าย
ผู้ที่ระดับน้ำตาลสูงขึ้นและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากการสะสมของสารคีโตน (Ketones) ซึ่งเป็นของเสียในเลือดและปัสสาวะ ทำให้มีอาการอื่นตามมา เช่น
- ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้
- หายใจสั้น
- ปากแห้ง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง
- อ่อนเพลีย
- น้ำหนักลด
- รู้สึกสับสน
- แผลหายช้ากว่าปกติ
- ติดเชื้อบริเวณช่องคลอดหรือผิวหนัง
- ในรายที่อาการรุนแรงอาจเป็นลม หมดสติ
- เส้นประสาทเสียหาย ส่งผลให้มีอาการเท้าเย็นจนปวดหรือไม่มีความรู้สึก ขนขาล่วง หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง
- มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา หลอดเลือด หรือไต
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการอาเจียนหรือท้องเสียเรื้อรัง แม้แต่กรณีที่รับประทานอาหารหรือน้ำได้ตามปกติ ไข้ขึ้นนานกว่า 24 ชั่วโมง ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 240 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไปแม้รับประทานยาโรคเบาหวานอย่างต่อเนื่อง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูอาการอย่างละเอียด
สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมักมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานเป็นหลัก เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นมีระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้ง่าย เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลผิดปกติ ต่างจากคนทั่วไปที่ฮอร์โมนอินซูลินจะถูกผลิตและหลั่งจากตับอ่อนหลังมื้ออาหาร โดยทำหน้าที่เป็นตัวนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายเพื่อเผาผลาญเป็นพลังงาน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงในระดับปกติ
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดภาวะนี้ได้ง่าย เช่น ได้รับฮอร์โมนอินซูลินหรือรับประทานยาเบาหวานไม่เพียงพอ ไม่ควบคุมอาหาร มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตเฉื่อยชา ไม่ค่อยได้ออกแรง ได้รับบาดเจ็บหรือเข้ารับการผ่าตัด รับประทานยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานก็เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน โดยอาจมีสาเหตุมาจากโรคหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่น
- โรคตับอ่อนอักเสบ
- โรคมะเร็งตับอ่อน
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
- กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing's Syndrome) เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดมากกว่าปกติ
- เนื้องอกบางชนิดที่ทำให้การหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ
- การเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างรุนแรงหรือรวดเร็ว เช่น ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง การได้รับบาดเจ็บ หรืออาการเจ็บป่วยชนิดรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นชั่วคราว
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) เอสโตรเจน กลูคากอน (Glucagon) และยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน
- การรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป
- ภาวะเครียด
- เคลื่อนไหวร่างกายน้อย ไม่ออกกำลังกาย
การวินิจฉัยภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
แพทย์จะวินิจฉัยภาวะนี้จากการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเป็นหลัก โดยพิจารณาร่วมกับข้อมูลด้านอื่นของผู้ป่วย เช่น อาการผิดปกติที่พบ ประวัติทางการแพทย์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต การตรวจร่างกาย เป็นต้น ซึ่งวิธีการตรวจเลือดเบื้องต้นทำได้หลายวิธีและมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เช่น
- การตรวจระดับน้ำตาลแบบสุ่มตรวจ (Random Blood Sugar)
เป็นการเจาะเลือดในช่วงเวลาใดก็ได้ ค่าระดับน้ำตาลในเลือดปกติควรอยู่ที่ประมาณ 70-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่จำเป็นต้องใช้วิธีอื่นช่วยยืนยันผลอีกครั้ง เนื่องจากเกิดความคลาดเคลื่อนได้สูงกว่าการตรวจอื่น ๆ - การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting Blood Glucose)
เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหารและน้ำเป็นเวลาอย่างต่ำ 8 ชั่วโมง มักตรวจในช่วงเช้าของวัน โดยค่าระดับน้ำตาลในเลือดปกติควรต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และเมื่อสูงกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน - การตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (Glycohemoglobin A1c)
เป็นการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดช่วง 2-3 เดือนก่อนการเข้ารับการตรวจ ซึ่งค่าปกติมีระดับต่ำกว่า 5.7% หากอยู่ในช่วง 5.7-6.4% จะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และหากมีค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไป แสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน - การทดสอบการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลินต่อระดับน้ำตาลในเลือด (Oral Glucose Tolerance Test)
เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังการดื่มน้ำที่มีน้ำตาลกลูโคสละลายในปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด วิธีนี้นิยมใช้ตรวจโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจมีเกณฑ์จำแนกที่แสดงถึงภาวะนี้แตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้
- ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 59 ปี และไม่มีโรคประจำตัวหรือความผิดปกติของร่างกาย ค่าระดับน้ำตาลในเลือดควรอยู่ระหว่าง 80-120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้น และมีโรคประจำตัวหรือความผิดปกติของร่างกาย เช่น โรคหัวใจ โรคไตหรือโรคตับ มีแนวโน้มหรือเคยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ค่าระดับน้ำตาลในเลือดควรอยู่ระหว่าง 100-140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ทั้งนี้ การวินิจฉัยภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจากการตรวจเลือดตามข้างต้นเป็นเกณฑ์ทั่วไปที่นิยมใช้ ซึ่งค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดควรพิจารณาจากปัจจัยของแต่ละบุคคลประกอบกันด้วย เพราะบุคคลบางกลุ่มอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดแตกต่างจากคนปกติ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน และผู้สูงอายุ
การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนั้นรักษาหรือควบคุมให้เป็นปกติได้ ซึ่งจะมีวิธีแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล โดยพิจารณาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงและความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงไม่รุนแรงหรืออยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ควบคุมอาหาร ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน หรือรับการรักษาเพิ่มเติม
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจะรักษาโดยการให้ฮอร์โมนอินซูลินเป็นหลัก ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นเริ่มรักษาจากการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและฉีดยา บางครั้งอาจได้รับฮอร์โมนอินซูลินควบคู่ไปด้วย แต่หากเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจากโรคหรือความผิดปกติของร่างกายจะต้องรักษาที่ต้นเหตุ เพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับสู่ภาวะปกติ และบางรายอาจได้รับฮอร์โมนอินซูลินในระหว่างการรักษาไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม แพทย์จะพิจารณาจากตัวผู้ป่วยก่อนเป็นขั้นแรก เพื่อปรับแผนการรักษาให้เหมาะกับสถานการณ์ เบื้องต้นมักแนะนำให้ปรับพฤติกรรมด้านอื่นไปพร้อมกันกับการรักษา ซึ่งวิธีการรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่ไม่รุนแรงมักมีแนวทาง ดังนี้
ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและดื่มน้ำให้มากขึ้น
แพทย์หรือนักโภชนาการจะช่วยดูแลและให้คำแนะนำด้านการกินอาหารที่ถูกต้อง โดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนควบคู่กัน เช่น ลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หรือดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพราะน้ำจะช่วยขจัดน้ำตาลออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะและป้องกันภาวะขาดน้ำ หรือลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง เพราะสารอาหารกลุ่มนี้อาจไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด
โดยหลายคนไม่ทราบว่า ร่างกายจะย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตไปเป็นกลูโคสหรือน้ำตาลในเลือด การรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมากจะส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ปรุงแต่งด้วยน้ำตาลอย่างน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ ซึ่งจะถูกดูดซึมได้เร็วกว่าอาหารคาร์โบไฮเดรตในรูปแบบอื่น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการรับประทานคาร์โบไฮเดรตในปริมาณเหมาะสม เพื่อช่วยให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ได้
ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ ช่วยเพิ่มการใช้พลังงาน ทำให้น้ำตาลถูกนำออกมาใช้ แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิดควรระมัดระวังในการเลือกประเภทของการออกกำลังกาย โดยอาจขอคำแนะนำจากแพทย์ในเบื้องต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ตรวจพบคีโตนในปัสสาวะนั้นไม่ควรออกกำลังกาย ซึ่งภาวะนี้มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มากกว่าชนิดที่ 2
เปลี่ยนชนิดของยา
ยาบางชนิดมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคอื่น ๆ ที่มีภาวะนี้อาจได้รับการปรับเปลี่ยนชนิดและปริมาณยาที่ใช้ เพื่อลดผลข้างเคียงและความเสี่ยงด้านสุขภาพ
ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยควบคุมอาการไม่ให้แย่ลง ผู้ป่วยควรจดบันทึกและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้แพทย์ติดตามการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการเตือนตัวเองให้คอยควบคุมระดับน้ำตาล
นอกจากนี้ ผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยการใช้สารให้ความหวานทดแทนการบริโภคน้ำตาลทราย ซึ่งจะช่วยให้รับประทานอาหารได้หลากหลายและดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสารให้ความหวานในกลุ่มที่ไม่ให้พลังงาน ให้พลังงานต่ำ หรือมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ แต่หากผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพอื่นร่วมด้วยควรศึกษาข้อจำกัดและขอคำแนะนำในการใช้สารให้ความหวานจากแพทย์ก่อนเสมอ
ตัวอย่างสารให้ความหวานในกลุ่มที่ไม่ให้พลังงาน ให้พลังงานต่ำ หรือมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น
- แอสปาร์แตม (Aspartame)
มีรสชาติหวานกว่าน้ำตาลทรายถึง 200 เท่า แต่ให้พลังงานที่เท่ากัน ผู้บริโภคควรใช้ในปริมาณน้อยหรือไม่เกิน 40-50 มิลลิกรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ วัน ทั้งนี้ หากใช้ในปริมาณมากจะให้เกิดรสขม นอกจากนี้ แอสปาร์แตมยังไม่ทนต่อความร้อน จึงนำมาใช้ในการประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มบางประเภทไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคฟีนิลคีโตนูเรียห้ามใช้สารชนิดนี้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย - ไอโซมอลทูโลส (Isomaltulose)
มีรสชาติหวานน้อยกว่าน้ำตาล ไม่มีรสขมหรือเฝื่อน ทนต่อการประกอบอาหารในความร้อนสูง มีรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาล ทำให้รสชาติอาหารไม่เปลี่ยน โดยให้พลังงานเทียบเท่ากับน้ำตาลทรายแต่มีค่าดัชน้ำตาลต่ำ (Low GI) จากผลการศึกษาบางส่วนระบุว่าไอโซมอลทูโลสอาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูงฉับพลัน โดยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นช้า ๆ และอาจช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ ไอโซมอลทูโลสจึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ที่กำลังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด - ซูคราโลส (Sucralose)
มีรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาล แต่มีความหวานกว่าน้ำตาลถึง 600 เท่า ไม่มีรสขมหรือรสเฝื่อน นำมาปรุงอาหารและเครื่องดื่มได้ แต่ไม่ควรบริโภคเกิน 15 มิลลิกรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ วัน - สตีเวียร์ (Stevia)
หรือหญ้าหวาน มีสารให้ความหวานหลักคือ สตีวิออลไกลโคไซด์ (Steviol Glycosides) มีความหวานกว่าน้ำตาล 200-400 เท่า ให้รสขมเล็กน้อย สามารถปรุงแต่งอาหารที่ใช้ความร้อนสูงได้ แต่ไม่ควรบริโภคในปริมาณมากเกินกว่า 4 มิลลิกรัม/ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ วัน
อย่างไรก็ตาม สารให้ความหวานแต่ละชนิดมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์ ข้อจำกัด และปริมาณที่เหมาะสมก่อนการบริโภคเพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและหมั่นตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
ผู้ที่ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายตามมา เช่น
- การทำงานของไตเสื่อมลงจนอาจเกิดไตวาย
- โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
- เส้นประสาทถูกทำลายและทำงานผิดปกติ ทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อน เจ็บเหมือนเข็มทิ่ม และการรับรู้สึกความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไป
- โรคทางตาหรือเกิดความผิดปกติกับดวงตาที่เรียกว่าเบาหวานขึ้นตา เช่น จอประสาทเสียหาย โรคต้อหิน โรคต้อกระจก เป็นต้น
- ผิวหนังเกิดการติดเชื้อ
- มีปัญหาเกี่ยวกับเท้า เนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลายและเลือดไหลเวียนไม่สะดวก เช่น เท้าติดเชื้อหรือไร้ความรู้สึก บางรายอาจรุนแรงจนต้องตัดขาทิ้ง
- เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อ
- โรคฟันและเหงือก
สำหรับภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงและมักพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ได้แก่
- ภาวะกรดคั่งในเลือดจากสารคีโตน (Diabetic Ketoacidosis) เกิดจากร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์ขาดพลังงานและต้องสลายไขมันมาใช้เป็นพลังงาน โดยในระหว่างกระบวนการนี้จะเกิดสารคีโตนที่เป็นพิษขึ้นในเลือดและบางส่วนตรวจพบได้ในปัสสาวะ หากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาพนี้นานเกินไปจะเสี่ยงต่ออาการโคม่าและเสียชีวิตได้
- ภาวะโคม่าจากน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemic Hyperosmolar Syndrome) เป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินตามปกติ แต่ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จึงไม่อาจนำน้ำตาลหรือไขมันมาเป็นพลังงาน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงกว่า 600 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โดยน้ำตาลบางส่วนจะถูกขับออกทางปัสสาวะและเป็นสาเหตุให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำรุนแรงจนเสียชีวิตหรืออยู่ในอาการโคม่า
การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
ระดับน้ำตาลในเลือดเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การป้องกันที่ดีจึงอยู่ที่ความใส่ใจในเรื่องการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน และตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือเป็นโรคเบาหวานนั้นควรรับประทานยาและไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และหากพบความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการควบคุมหรือป้องกันอาการไม่ให้แย่ลง