ความหมาย น้ำท่วมปอด (Pulmonary Edema)
น้ำท่วมปอด (Pulmonary Edema) หรือปอดบวมน้ำ เป็นภาวะที่เกิดจากการมีของเหลวในถุงลมปอดมากผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหายใจไม่อิ่มเนื่องจากขาดออกซิเจน โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น หัวใจผิดปกติ ปอดบวมติดเชื้อ สัมผัสกับสารพิษหรือการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น ส่วนการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ซึ่งหากเกิดภาวะน้ำท่วมปอดแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
อาการของน้ำท่วมปอด
น้ำท่วมปอดมีอยู่หลายชนิด โดยอาการจะแตกต่างกันไป ดังนี้
อาการของน้ำท่วมปอดชนิดเรื้อรัง
- หายใจไม่อิ่มขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ
- หายใจมีเสียงครืดคราดหรือมีเสียงหวีด
- หายใจลำบากเมื่อต้องออกแรง หรือหายใจลำบากเมื่อนอนราบ
- ตื่นนอนกลางดึกเพราะหายใจลำบาก ซึ่งอาจต้องลุกขึ้นนั่งเพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหากมีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจวาย
- อ่อนเพลีย หรือมีอาการบวมที่ขาและเท้า
อาการของน้ำท่วมปอดชนิดเฉียบพลัน
- หายใจไม่อิ่มอย่างรุนแรง หรือหายใจลำบากเมื่อนอนลง
- หอบ หรือรู้สึกเหมือนจมน้ำ
- หายใจมีเสียงหรือหายใจลำบาก
- กระสับกระส่าย สับสน วิตกกังวล
- ไอมีเสมหะเป็นฟองสีชมพู
- เจ็บหน้าอกหากมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการน้ำท่วมปอดระยะเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
อาการของน้ำท่วมปอดจากการขึ้นที่สูง
- ปวดศีรษะ ซึ่งอาจเป็นอาการแรกที่เกิดขึ้น
- มีไข้ ไอ ไอมีเสมหะหรืออาจมีเลือดปน
- หายใจไม่อิ่มหลังจากออกแรง ซึ่งจะเกิดอาการเมื่อหยุดพัก
- เดินขึ้นเนินหรือที่สูงได้ยากลำบาก
- ใจสั่น หรือหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
- เจ็บหน้าอก
ทั้งนี้ หากขึ้นที่สูงแล้วทำให้เกิดอาการอย่างเจ็บหน้าอก มีไข้ ปวดศีรษะ ไอ ไอมีเสมหะปนเลือด หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ หายใจไม่อิ่ม มีปัญหาเมื่อเดินขึ้นที่สูงและเกิดความผิดปกติเมื่อกลับมาเดินในที่ราบ ควรรีบไปพบแพทย์
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรสังเกตอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน และควรไปพบแพทย์หากพบอาการดังต่อไปนี้
- หายใจติดขัดอย่างรุนแรง หายใจไม่อิ่ม และหายใจไม่ออก
- มีอาการวิตกกังวลที่เกิดจากความผิดปกติในการหายใจ
- เหงื่อออกพร้อมกับหายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ
- ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นสีเทาหรือม่วง
- ไอพร้อมกับมีเสมหะปนเลือดหรือเป็นฟอง
สาเหตุของน้ำท่วมปอด
โดยทั่วไปน้ำท่วมปอดจะมีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจล้มเหลว หรืออาจเกิดจากหัวใจห้องล่างซ้ายไม่สามารถสูบฉีดเลือดที่มาจากปอดไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ตามปกติ ซึ่งภาวะดังกล่าวทำให้เกิดแรงดันเพิ่มขึ้นและย้อนกลับไปที่ปอด นอกจากนั้น ภาวะหลอดเลือดแดงตีบ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม ลิ้นหัวใจผิดปกติ และความดันโลหิตสูง ก็สามารถทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายทำงานบกพร่องได้
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมปอด ได้แก่
- ลิ่มเลือดอุดตัน
- กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome: ARDS)
- การสัมผัสกับแอมโมเนีย คลอรีน หรือสารพิษอื่น ๆ
- การสูดควันที่มีส่วนประกอบของสารเคมีบางชนิด
- สมองหรือระบบประสาทบาดเจ็บหรือเกิดบาดแผล
- ปอดเกิดการบาดเจ็บหลังจากรักษานำลิ่มเลือดออกไป
- การติดเชื้อไวรัส
- จมน้ำ
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
- การอยู่ในที่สูงหรือขึ้นที่สูงประมาณ 8,000 ฟุต
- โรคหัวใจ หรือภาวะหัวใจขาดเลือด
- ความดันโลหิตสูงเฉียบพลัน
- ปอดบวม
- ตับอ่อนอักเสบ
- ไตวาย
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง หรือเลือดเป็นพิษจากการติดเชื้อ
การวินิจฉัยน้ำท่วมปอด
เนื่องจากภาวะน้ำท่วมปอดมักต้องรักษาอย่างทันท่วงที การวินิจฉัยเบื้องต้นจึงเป็นการสังเกตอาการที่เกิดขึ้นและตรวจร่างกาย เมื่ออาการทรงตัว แพทย์จะถามถึงประวัติการเจ็บป่วยและโรคประจำตัว รวมถึงอาจทดสอบด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย เช่น
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง
- การตรวจระดับออกซิเจนในเลือด
- การตรวจเอ็กโคคาร์ดีโอแกรม (Echocardiogram) หรืออัลตร้าซาวด์เพื่อหาความผิดปกติของหัวใจ
- การเอกซเรย์ปอด
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือตรวจหาสัญญาณของภาวะหัวใจขาดเลือด
การรักษาน้ำท่วมปอด
การรักษาภาวะน้ำท่วมปอดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ แต่ในเบื้องต้นหากผู้ป่วยมีปัญหาในการหายใจและมีระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำ แพทย์อาจให้ออกซิเจนโดยให้ผู้ป่วยใช้หน้ากากออกซิเจนหรือสอดท่อออกซิเจนเข้าไปในรูจมูก ซึ่งแพทย์จะเฝ้าดูอาการและรักษาระดับออกซิเจนในร่างกายของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และหากน้ำท่วมปอดจากสาเหตุอื่น ๆ แพทย์ก็จะรักษาภาวะดังกล่าวและรักษาน้ำท่วมปอดไปพร้อมกัน
ส่วนยาที่ใช้รักษาภาวะน้ำท่วมปอด มีดังนี้
- กลุ่มยาลดแรงดันที่เกิดจากของเหลวเข้าไปในหัวใจและปอด เช่น ยาไนโตรกลีเซอริน และยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ เป็นต้น
- กลุ่มยาขยายหลอดเลือดและลดความดันในหัวใจห้องล่างซ้าย เช่น ยาไนโตรปรัสไซด์ เป็นต้น
- มอร์ฟีน ซึ่งอาจนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการหายใจไม่อิ่มและอาการวิตกกังวล แต่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาชนิดอื่นมากกว่า
- ยารักษาความดันโลหิต แพทย์อาจให้ใช้ยาลดความดันโลหิตสำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงจากน้ำท่วมปอด หรือให้ยาเพื่อเพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำ
นอกจากนี้ หากน้ำท่วมปอดเกิดจากการอยู่บนที่สูง กรณีที่ผู้ป่วยปีนป่ายหรือไปท่องเที่ยวบนที่สูง ด้วยความสูงประมาณ 600-900 เมตร ก็อาจทำให้เกิดอาการได้ โดยควรรักษาและบรรเทาอาการ ดังนี้
- ลดระดับความสูงเพื่อช่วยลดอาการเบื้องต้น หากมีอาการป่วยรุนแรง จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลงมายังที่ต่ำโดยเร็วที่สุด
- หยุดทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงและทำให้ร่างกายอบอุ่น เพื่อป้องกันอาการแย่ลง
- บางกรณีอาจต้องให้ออกซิเจนหรือเครื่องช่วยหายใจกับผู้ป่วย เพื่อเพิ่มระดับออกซิเจนในร่างกายหรือเพิ่มอากาศเข้าไปในปอดให้มากขึ้น
- ใช้ยาไนเฟดิปีน เพื่อช่วยลดความดันของหลอดเลือดในปอด ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้น
- นักปีนเขาบางรายมักใช้ยาเพื่อป้องกัันและรักษาอาการจากการปีนขึ้นที่สูง เช่น ยาอะเซตาโซลาไมด์ หรือยาไนเฟดิปีน เป็นต้น โดยการใช้ยาสำหรับป้องกันอาการ ให้เริ่มใช้ยาอย่างน้อย 1 วันก่อนไปปีนเขา
ภาวะแทรกซ้อนของน้ำท่วมปอด
ภาวะแทรกซ้อนของน้ำท่วมปอดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งส่วนใหญ่หากอาการไม่รุนแรงและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะสามารถฟื้นฟูร่างกายได้เป็นปกติ
แต่หากอาการป่วยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลให้เกิดความดันหลอดเลือดปอดสูง อาจทำให้หัวใจห้องล่างอ่อนแอลงและทำงานล้มเหลวได้ในที่สุด เพราะผนังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาจะบางกว่าห้องซ้าย และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมาได้ เช่น
- มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด
- ตับคั่งและบวม
- แขน ขา และท้องบวม
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือได้รับการรักษาช้าอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนผู้ป่วยบางรายที่เป็นน้ำท่วมปอดระยะเฉียบพลันก็อาจถึงแก่ชีวิตได้แม้ได้รับการรักษาแล้วก็ตาม
การป้องกันน้ำท่วมปอด
เนื่องจากน้ำท่วมปอดเป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต้องได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดอาการ
อย่างไรก็ตาม การป้องกันในเบื้องต้นที่พอจะช่วยได้สามารถทำได้โดยรับวัคซีนป้องกันปอดบวม หรือวัคซีนป้องกันไข้หวัด โดยเฉพาะผู้ที่มีหัวใจผิดปกติหรือผู้สูงอายุ ซึ่งหลังจากเกิดอาการ ผู้ป่วยควรใช้ยาขับปัสสาวะตามที่แพทย์สั่งเพื่อป้องกันการเกิดอาการซ้ำ
นอกจากนั้น สามารถลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวายหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมปอดที่พบได้บ่อย ด้วยการดูแลตนเอง ดังนี้
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชในปริมาณมาก
- รับประทานเกลืิอให้น้อย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมระดับความดันโลหิต และตรวจระดับคอเลสเตอรอลอยู่เสมอ
- สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ให้พยายามลดน้ำหนักตัว หรือรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หลีกเลี่ยงการเผชิญความเครียด
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการใช้ยาเสพติด
- หากมีปัญหาสุขภาพ ให้ไปพบแพทย์ตามนัดหมายเป็นประจำ