บาริซิทินิบ (Baricitinib)
Baricitinib (บาริซิทินิบ) เป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาในกลุ่ม Tumor Necrosis Factor Inhibitor โดยตัวยาจะช่วยบรรเทาอาการปวด บวมหรือกดเจ็บตามข้อ นอกจากนี้ อาจใช้รักษาโรคอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Baricitinib
กลุ่มยา | ยากลุ่มเจเอเคอินฮิบิเตอร์ (Janus Kinase Inhibitors: JAK) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | ในปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ อีกทั้งอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในระหว่างการใช้ยาและในอนาคต ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา และผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการให้นมขณะใช้ยา เนื่องจากยาอาจปนเปื้อนในน้ำนมแม่ได้ |
คำเตือนในการใช้ยา Baricitinib
ข้อควรทราบก่อนการใช้ยา Baricitinib เพื่อความปลอดภัย
- แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบหากมีอาการแพ้ยา Baricitinib ยาชนิดอื่น หรือมีอาการแพ้สารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เช่น ยากดภูมิคุ้มกันหรือยารักษาโรคเก๊าท์
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังป่วยเป็นโรคไต โรคมะเร็ง ระดับคอเลสเตอรอลสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน หรือสูบบุหรี่ เนื่องจากการใช้ยา Baricitinib อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร เกิดลิ่มเลือด โรคมะเร็ง หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะติดเชื้อรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
- ผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคไวรัสตับอักเสบบีหรือซี มีแผลตามผิวหนัง หายใจลำบาก เจ็บขณะปัสสาวะหรือท้องเสีย มีภาวะติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หนาวสั่น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ก่อนการใช้ยา
- หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือการรักษาทางทันตกรรม ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบก่อนว่ากำลังใช้ยา Baricitinib รวมถึงยา วิตามิน และอาหารเสริมอื่นที่ใช้ร่วมกัน
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังวางแผนตั้งครรภ์ สงสัยว่าตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์
- ไม่ควรฉีดวัคซีนเชื้อเป็นในระหว่างการใช้ยา Baricitinib
- การใช้ยา Baricitinib อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้ที่เพิ่งฉีดวัคซีน
- ในระหว่างใช้ยา Baricitinib ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ปริมาณการใช้ยา Baricitinib
ตัวอย่างการใช้ยา Baricitinib รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในผู้ใหญ่ ที่อาการรุนแรงปานกลางหรือรุนแรงมาก แพทย์จะให้รับประทานยาในปริมาณ 4 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน ร่วมกับยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) หรือยากลุ่ม Disease Modifying Anti-Rheumatic Drugs (DMARDs) ชนิดอื่นตามคำสั่งแพทย์
หากอาการของผู้ป่วยคงที่แล้ว แพทย์อาจลดปริมาณยาลงเป็น 2 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อซ้ำหรือติดเชื้อเรื้อรัง และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปี แแพทย์จะให้รับประทานยาในปริมาณ 2 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน
การใช้ยา Baricitinib
วิธีการใช้ยา Baricitinib อย่างปลอดภัยมีดังนี้
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ ห้ามเริ่มหรือหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยา
- รับประทานยา Baricitinib พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ หากไม่สามารถกลืนยาได้ ให้ละลายยากับน้ำเปล่า 2 ช้อนชาและดื่มให้หมดทันที จากนั้นเติมน้ำประมาณ 10 มิลลิลิตรในแก้วที่ใช้ละลายยา คนเล็กน้อยและดื่มตามให้หมด
- ในระหว่างการใช้ยา Baricitinib ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายตามนัดหมายอย่างเคร่งครัด เนื่องจากแพทย์จะต้องตรวจหาการติดเชื้อวัณโรค เชื้อไวรัสตับอักเสบ ตรวจดูการทำงานของตับหรือไต และตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ
- หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- ห้ามใช้ยา Baricitinib ร่วมกับผู้อื่น เพราะปริมาณยาที่เหมาะสมในแต่ละรายจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาการ การตอบสนองของร่างกาย และยาชนิดอื่น ๆ ที่กำลังใช้อยู่
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงในระหว่างใช้ยา และหากผู้ป่วยใช้ยา Baricitinib เกินขนาดแล้วมีอาการหายใจลำบากหรือหมดสติ ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Baricitinib
ยา Baricitinib อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ไขมันในเลือดสูง มีอาการของโรคเริมหรือโรคหวัด
ผลข้างเคียงรุนแรงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น เหงื่อออกมากในตอนกลางคืน ไออย่างรุนแรง มีไข้ หายใจลำบากหรือเป็นเสียงหวัด ลำไส้ทำงานผิดปกติ ท้องเสีย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ล้า และคลำเจอก้อนที่คำ รักแร้หรือเชิงกราน หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือทวีความรุนแรงขึ้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
อย่างไรก็ตาม ควรหยุดใช้ยา Baricitinib แล้วไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดหากพบอาการต่อไปนี้
- มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน ลมพิษ หายใจลำบาก เวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีอาการบวมหรือคันบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ
- คลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างรุนแรง
- มีอาการของภาวะโลหิตจาง ซึ่งจะเห็นได้จากอาการผิวซีด ใจเต้นเร็วหรืออ่อนล้าผิดปกติ
- มีอาการของโรคตับ เช่น เบื่ออาหาร เกิดภาวะดีซ่าน คลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างต่อเนื่อง ปวดท้อง หรือปัสสาวะเป็นสีเข้ม
- มีอาการของหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง หรือลิ่มเลือดอุดตันอย่างรุนแรง เช่น เจ็บหน้าอกลุกลามไปยังคอและแขน หายใจไม่อิ่ม เหงื่อออกมาก ร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดลิ้นแข็ง เวียนศีรษะอย่างรุนแรง ขาหรือแขนบวมและปวดในระหว่างการใช้ยา
- มีอาการของโรคงูสวัด โดยพบผื่นแดงเป็นหย่อม ๆ ที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย รู้สึกแสบร้อนและชาตามผิวหนัง มีอาการคล้ายจะเป็นไข้
- วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หมดสติ