ปวดข้อศอก (Elbow pain)

ความหมาย ปวดข้อศอก (Elbow pain)

ปวดข้อศอก (Elbow pain) เป็นอาการบาดเจ็บที่มักเกิดจากการใช้งานหรือเคลื่อนไหวมือ ข้อมือ หรือข้อศอกมากเกินไป รวมถึงสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยจากอุบัติเหตุในระหว่างการเล่นกีฬาหรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้วย นอกจากนี้ อาการปวดข้อศอกอาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงมากขึ้น เช่น โรคข้ออักเสบ ปัญหาเกี่ยวกับกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็น หรือกล้ามเนื้อ

อาการปวดข้อศอกพบได้บ่อยในผู้ที่ต้องเคลื่อนไหวมือ ข้อมือ หรือแขนในท่าเดิมซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น นักกีฬาเทนนิส นักกีฬากอล์ฟ ทันตแพทย์ นักดนตรี อาการปวดข้อศอกส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและสามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ แต่หากมีอาการรุนแรงหรือสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับโรคข้ออักเสบหรือภาวะสุขภาพที่ร้ายแรงอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

ปวดข้อศอก (Elbow pain)

อาการปวดข้อศอก

อาการปวดข้อศอกในแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุหรือความรุนแรงของอาการ โดยส่วนใหญ่มักจะปรากฏอาการต่าง ๆ ที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • รู้สึกปวด แสบร้อน ชา หรือเสียวแปลบบริเวณข้อศอกด้านนอก
  • รู้สึกตึงหรือปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหว เช่น บิดข้อมือ งอแขน ยืดแขน
  • อาการปวดอาจลามมาถึงบริเวณข้อมือ หรือปวดมากขึ้นในเวลากลางคืน
  • บริเวณข้อต่อของข้อศอกมีอาการบวมหรือฟกช้ำจนสามารถสังเกตได้
  • รู้สึกปวดหรือล้าแขนจนไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ถนัด 

อาการปวดข้อศอกอาจเกิดขึ้นแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรืออาจมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดข้อศอกเกิดขึ้นหลังจากประสบอุบัติเหตุ และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บปวดมากและอาการเจ็บปวดไม่ยอมหายไป มีรอยฟกช้ำอย่างรุนแรง มีเลือดออก ข้อศอกบิดเบี้ยวผิดปกติ หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนได้ตามปกติ ควรรีบไปพบแพทย์

สาเหตุของปวดข้อศอก

อาการปวดข้อศอกอาจเกิดจากการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือข้อต่อจากการเคลื่อนไหวในท่าเดิมซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น การเล่นกีฬาอย่างกอล์ฟหรือเทนนิส การประกอบอาชีพที่ต้องเคลื่อนไหวแขนในท่าเดิมซ้ำ ๆ อย่างทันตแพทย์หรือนักดนตรี ทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือข้อต่ออาจเกิดอาการอักเสบและรู้สึกเจ็บปวดตามมา 

การถูกกระทบกระแทกอย่างรุนแรงและกะทันหันจากอุบัติเหตุก็สามารถทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือข้อต่อเกิดการอักเสบและทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้เช่นกัน นอกจากนี้ อาการปวดข้อศอกอาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น 

การวินิจฉัยปวดข้อศอก

แพทย์จะเริ่มต้นวินิจฉัยอาการปวดข้อศอกด้วยการซักประวัติ สอบถามอาการ สอบถามสาเหตุของการเจ็บปวด รวมถึงตรวจร่างกายบริเวณข้อศอกหรือแขนที่มีอาการปวด บวม หรือมีรอยฟกช้ำ เพื่อให้ทราบตำแหน่งและความรุนแรงของอาการในเบื้องต้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจด้วยการเอกซเรย์ (X-Ray) การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือซีทีสแกน (CT scan) เพิ่มเติม เพื่อแยกแยะว่าอาการปวดข้อศอกที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากกระดูกหักหรือโรคข้ออักเสบอื่น ๆ รวมถึงตรวจดูความเสียหายของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย

การรักษาปวดข้อศอก

อาการปวดข้อศอกอาจสามารถรักษาได้ด้วยตัวเองถ้ามีอาการไม่รุนแรงและไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก แต่ถ้ามีอาการรุนแรงก็อาจจำเป็นต้องรับการรักษาโดยแพทย์ ซึ่งมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้

การรักษาด้วยตัวเอง

การรักษาด้วยตัวเองในเบื้องต้น จะเป็นการรักษาตามหลักการ RICE เพื่อลดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือข้อต่อบริเวณข้อศอก เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ และทำให้อาการบวมและอาการปวดต่าง ๆ บรรเทาลง มีวิธีการดังนี้ 

  • Rest พักการใช้แขน โดยหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวแขนในท่าเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทกบริเวณข้อศอกและแขน
  • Ice ประคบเย็นบริเวณข้อศอกเพื่อลดอาการปวดและอาการบวม โดยประคบเย็นวันละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15–20 นาที
  • Compression พยุงบริเวณที่เกิดอาการปวดด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุงแขน เพื่อลดการเคลื่อนไหวของแขน และช่วยให้อาการบวมหรืออาการปวดลดลง
  • Elevation ยกบริเวณที่ปวดให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อช่วยลดอาการบวม

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจรับประทานยาในกลุ่มยาเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อช่วยลดอาการปวดร่วมด้วย แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคกรดไหลย้อน หรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาใด ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวที่เป็นอยู่

การรักษาโดยแพทย์

การรักษาโดยแพทย์มักใช้รักษาอาการปวดข้อศอกที่มีความรุนแรง หรือเป็นผลมาจากภาวะสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งจะมีวิธีในการรักษาที่แตกต่างกันออกไปตามสาเหตุของการเกิดอาการและเงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน 

ตัวอย่างการรักษาอาการปวดข้อศอกทางการแพทย์ เช่น การทำกายภาพบำบัดการฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดอาการปวด การฉีดสารสกัดพลาสมา (Platelet-Rich Plasma: PRP) เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อ ไปจนถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีเกิดกระดูกหัก

ภาวะแทรกซ้อนของปวดข้อศอก

อาการปวดข้อศอกที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว แต่อาจทำให้เคลื่อนไหวแขนหรือหยิบจับสิ่งของได้ไม่สะดวกในช่วงแรกเท่านั้น แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม หรือผู้ป่วยกลับไปทำกิจกรรมตามปกติก่อนที่อาการปวดจะหายดี ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือข้อต่อเกิดการอักเสบซ้ำ และทำให้อาการปวดกำเริบขึ้นมาได้

การป้องกันปวดข้อศอก

อาการปวดข้อศอกที่เกิดจากอุบัติเหตุในระหว่างการเล่นกีฬาหรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอาจไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป แต่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้  ดังนี้ 

  • รักษาความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อด้วยการออกกำลังกายอยู่เสมอ แต่ควรออกกำลังกายอย่างพอดีและเหมาะสมกับเงื่อนไขสุขภาพของตนเอง
  • อบอุ่นร่างกายและคูลดาวน์ (Cool Down) ทั้งก่อนและหลังการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากทุกครั้ง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น สนับศอก อย่างถูกต้องในระหว่างการเล่นกีฬาเสมอ รวมถึงเลือกใช้อุปกรณ์การเล่นกีฬาที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน
  • ใช้กล้ามเนื้อและพักกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม ไม่หักโหมหรือใช้กล้ามเนื้อซ้ำ ๆ ในท่าเดิมมากเกินไป
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีและหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายอยู่เสมอ เพื่อที่จะสามารถไปพบแพทย์ได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดสัญญาณของปัญหาสุขภาพขึ้น