ความหมาย ปวดศีรษะจากการมีเพศสัมพันธ์
Sex headaches หรืออาการปวดศีรษะที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดได้ขึ้นในช่วงใดก็ได้ในขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยอาการปวดศีรษะจากการมีเพศสัมพันธ์มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และอาจบรรเทาหรือป้องกันได้ด้วยการใช้ยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์
อาการปวดศีรษะจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้และเป็นอาการที่ไม่อันตราย โดยอาการปวดของ Sex headaches อาจเกิดขึ้นได้หลายแบบขึ้นอยู่กับสาเหตุและความผิดปกติที่เกิดขึ้น
อาการของ Sex headaches
อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นในระหว่างมีเพศสัมพันธ์สามารถเกิดขึ้นช่วงใดก็ได้ขณะมีทำกิจกรรมทางเพศ โดยอาจปวดเพียงครู่เดียว หรือต่อเนื่องกันหลายนาที หลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน แต่อาการปวดศีรษะจากเพศสัมพันธ์นั้นมักไม่เป็นอันตราย โดยอาการปวดศีรษะจากเพศสัมพันธ์แบ่งได้ ดังนี้
- ปวดตื้อบริเวณศีรษะและลำคอ มักเกิดจากการความตื่นเต้นและแรงกระตุ้นทางเพศที่สูงขึ้นในขณะมีเพศสัมพันธ์ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและลำลำคอหดเกร็ง
- ปวดศีรษะแบบฉับพลัน รุนแรง หรือปวดตุ้บ ๆ ลักษณะเดียวกับปวดหัวไมเกรน อาการปวดศีรษะในรูปแบบนี้มักเกิดขึ้นในช่วงก่อนถึงและในระหว่างถึงจุดสุดยอดทางเพศ เนื่องจากความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นและหลอดเลือดในศีรษะขยายตัว
สาเหตุของ Sex headaches
สาเหตุของอาการปวดหัวจากเพศทั้งสองรูปแบบนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุทางกายภาพที่ต่างกัน อาการปวดตื้อบริเวณคอและศีรษะมีสาเหตุจากเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณคอและศีรษะ ส่วนอาการปวดศีรษะที่คล้ายไมเกรนนั้นเกิดจากการที่หลอดเลือดในศีรษะขยายตัวทำให้เกิดอาการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะจากเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม (AVM) หรือโรคการเชื่อมต่อของหลอดเลือดในสมองผิดปกติ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะเลือดออกของผนังหลอดเลือดในสมอง ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด การอักเสบจากการติดเชื้อ ตนเองหรือคนในครอบครัวมีประวัติอาการปวดหัวไมเกรน เป็นต้น นอกจากนี้ อาการปวดหัวจากเพศสัมพันธ์ยังพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิงอีกด้วย
การวินิจฉัย Sex headaches
การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะอาจทำได้ด้วยกันหลายวิธี แพทย์อาจเริ่มต้นด้วยการตรวจร่างกาย ซักประวัติการรักษาโรค และแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ อย่างการแสดงภาพในสมองด้วยคลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็ก (MRI) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CTs) บางกรณีแพทย์อาจใช้การฉีดสารทึบแสงข้าไปในหลอดเลือดก่อนการแสดงภาพด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในกรณีที่หลอดเลือดเกิดความผิดปกติ (Angiogram) นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal tap) เพื่อนำออกมาใช้ในการตรวจหาโรค
การรักษา Sex headaches
อาการปวดศีรษะจากเพศสัมพันธ์สามารถใช้ยาแก้ปวดที่ไม่มีสเตียรอยด์ อย่างไอบูโพรเฟน หรือพาราเซมอลในการรักษาได้ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดศีรษะจากเพศสัมพันธ์นั้นเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ผู้ป่วยควรดูแลตนเองและรักษาโรคเหล่านั้นควบคู่กันไปด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของ Sex headaches
โดยปกติแล้วอาการปวดศีรษะจากเพศสัมพันธ์นั้นไม่เป็นอันตราย แต่หากเกิดอาการเกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่น อาการคอแข็ง อาเจียน หมดสติ หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงต่อเนื่องกันเกิน 1 วัน เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
การป้องกัน Sex headaches
หากผู้ป่วยไม่มีโรคหรือสุขภาวะอื่น ๆ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยา ในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ที่ใช้ลดความดันโลหิตและรักษาอาการปวดหัวไมเกรน อย่างโพรพราโนลอลและเมโทโพรลอลเป็นประจำทุกวันเพื่อผลการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ในอีกกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาอินโดเมทาซิน หรือยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์ก่อนมีเพศสัมพันธ์ 1 ชั่วโมงเพื่อป้องกันอาการแบบชั่วคราว นอกจากนี้ การสลับบทบาทขณะดำเนินกิจกรรมทางเพศเพื่อลดการเคลื่อนไหวก็อาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการปวดศีรษะได้