ความหมาย ปัญญาอ่อน (Intellectual Disability)
ปัญญาอ่อน (Intellectual Disability หรือชื่อเดิม Mental Retardation) เป็นภาวะที่บุคคลมีระดับสติปัญญา (IQ) ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั่วไป ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้เข้าใจ การสื่อสาร พัฒนาการ ขาดทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต และเรียนรู้ช้ากว่าปกติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยภาวะนี้ยังสามารถเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ได้ผ่านการฝึกฝนดูแลอย่างเหมาะสม
โดยส่วนใหญ่ ภาวะปัญญาอ่อนยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดได้ บางส่วนอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม การเจ็บป่วย การบาดเจ็บกระทบกระเทือนกับสมอง หรือปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อย่างสุขอนามัย การดื่มสุรา การใช้ยาเสพติด หรือสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย
สาเหตุของปัญญาอ่อน
ในหลาย ๆ กรณี ภาวะนี้มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยดังต่อไปนี้
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ผู้ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม ภาวะผิดปกติของโครโมโซมเอ็กซ์ (Fragile X Syndrome) หรือโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก (Inherited Metabolic Disorders)
- เกิดปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์ อาจมีปัจจัยที่กระทบกระเทือนต่อพัฒนาการสมองของทารกในครรภ์จนทำให้เกิดภาวะปัญญาอ่อน เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด ผู้เป็นแม่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี เกิดภาวะติดเชื้อ หรือมีภาวะครรภ์เป็นพิษ
- เกิดปัญหาระหว่างการคลอด เช่น เด็กขาดออกซิเจนในขณะคลอด หรือคลอดก่อนกำหนด
- การเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคหัด หรืออาการไอเสียงก้อง
- การได้รับบาดเจ็บที่กระทบกระเทือนสมอง เช่น การบาดเจ็บบริเวณศีรษะจากอุบัติเหตุ เกิดการติดเชื้อในสมอง
- การเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น มีความผิดปกติของเนื้อสมอง สมองผิดรูป โรคลมชัก
- ปัจจัยภายนอก เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด ได้รับสารพิษอย่างสารปรอทหรือสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย มีสุขอนามัยที่ต่ำมาก เคยจมน้ำ เคยถูกทารุณกรรม เคยถูกละเลยการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และถูกกักขังหรือแยกตัวออกจากสังคมเป็นเวลานาน
อาการของปัญญาอ่อน
ผู้ที่มีภาวะปัญญาอ่อนจะมีความบกพร่องทางสติปัญญา จนทำให้เกิดปัญหาในพัฒนาการด้านต่าง ๆ โดยลักษณะอาการแสดงของปัญญาอ่อนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความบกพร่องในด้านนั้น ๆ ด้วย สำหรับเด็กที่มีภาวะปัญญาอ่อน อาจไม่ปรากฏอาการชัดเจนจนกว่าเด็กจะเข้าสู่วัยเรียน
อย่างไรก็ตาม การติดตามพัฒนาการของเด็กอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอจะช่วยคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนได้ โดยตัวอย่างพัฒนาการและอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะปัญญาอ่อน ได้แก่
- พลิกตัว ลุกขึ้นนั่ง คลาน หรือเดินได้ช้ากว่าคนปกติ
- พูดช้า หรือมีปัญหาติดขัดเกี่ยวกับการพูดคุยสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ
- พูดคุยสื่อสารด้วยภาษาง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แต่ขาดทักษะในการใช้คำหรือไวยากรณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบกับคนในวัยเดียวกัน
- ใช้สีหน้า ท่าทาง หรือสัญลักษณ์ในการสื่อสารมากกว่าการใช้คำพูดอธิบายสิ่งต่าง ๆ
- มีพัฒนาการช้าในการทำกิจวัตรประจำวันในวัยเด็ก และอาจทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ช้ากว่าคนปกติ เช่น การขับถ่าย การแต่งตัวสวมเสื้อผ้า การรับประทานอาหาร
- เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ช้ากว่าปกติ จึงมีปัญหาพัฒนาการด้านการเรียนตามวัย เช่น ด้านการเขียน การอ่าน การคิดคำนวณตัวเลข
- มีปัญหาด้านการจำ ความจำสั้น มีความยากลำบากในการจดจำสิ่งต่าง ๆ
- ขาดทักษะในการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา
- ขาดทักษะในการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน
- ขาดทักษะในการคิดและทำความเข้าใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล
- ไม่สามารถทำความเข้าใจหรือคิดเชื่อมโยงการกระทำกับผลที่จะเกิดขึ้นตามมาได้
- มีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น มีอารมณ์เกรี้ยวกราดและไม่สามารถควบคุมได้
- ขาดทักษะในการเข้าสังคม การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น หรือการยอมรับปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในสังคม
- คิดเป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม มีความยากลำบากในการคิดอย่างเป็นนามธรรม
- ไม่สามารถตระหนักถึงความสำคัญของเงินหรือเวลาได้ ขาดทักษะในการบริหารใช้จ่ายเงินและเวลา
- มีความยากลำบากในการตัดสินใจ การคิดแก้ไขปัญหา หรือหาทางออกอย่างเหมาะสม
เด็กบางรายที่มีภาวะปัญญาอ่อนอย่างรุนแรง อาจพบว่ามีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- ภาวะชัก
- ความผิดปกติทางอารมณ์และสังคม เช่น ภาวะวิตกกังวล ภาวะออทิสติก
- ด้อยความสามารถด้านทักษะการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
- มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น
- มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินเสียง
สัญญาณสำคัญของภาวะปัญญาอ่อนที่ควรไปพบแพทย์
สำหรับครอบครัวไหนที่พบว่าบุตรหลานตนเองมีพัฒนาการช้า หรือมีอาการเข้าข่ายภาวะปัญญาอ่อน อาจจะลองพาบุตรหลานไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดและแนะนำแนวทางการรับมือที่เหมาะสม
การวินิจฉัยปัญญาอ่อน
ในการวินิจฉัยภาวะปัญญาอ่อน แพทย์จะใช้วิธีการตรวจดังต่อไปนี้
สังเกตอาการ
แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะสังเกตพฤติกรรมและอาการแสดงต่าง ๆ รวมไปถึงทักษะในพัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามวัย โดยเปรียบเทียบกับผู้ที่อยู่ในวัยเดียวกัน เช่น การรับประทานอาหาร การแต่งตัวสวมเสื้อผ้า การพูดคุยสื่อสาร การเข้าใจความหมาย การมีปฏิสัมพันธ์ต่อคนในครอบครัวและเพื่อน
ทดสอบไอคิว (IQ Test) หรือทดสอบความฉลาดทางปัญญา
แพทย์จะใช้ชุดทดสอบที่เหมาะสมตามวัยของผู้ป่วย โดยผู้ที่มีภาวะปัญญาอ่อนมักจะมีผลไอคิวที่ต่ำกว่า 70 ลงมา
หากผู้ป่วยมีลักษณะทางกายภาพภายนอกที่ผิดปกติ แพทย์อาจทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาโรคที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะปัญญาอ่อน อย่างกลุ่มโรคความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ฉายภาพเอกซเรย์สมอง หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อตรวจภาวะลมชัก
สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า แพทย์อาจตรวจหาความผิดปกติอื่น เช่น ปัญหาสายตา ปัญหาการได้ยิน หรือตรวจหาโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย
การรักษาปัญญาอ่อน
ภาวะปัญญาอ่อนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ครอบครัว ผู้ปกครอง และผู้ดูแลผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือประคับประคองให้ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้และช่วยเหลือตนเอง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ดียิ่งขึ้น โดยสามารถศึกษารับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลผู้ป่วย ซึ่งอาจมีขั้นตอนดังนี้
- ศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะปัญญาอ่อน เพื่อให้เข้าใจผู้ป่วยซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป
- ให้ผู้ป่วยมีอิสระในการลองทำสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง โดยคอยแนะนำและชื่นชมเมื่อผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือทำอะไรได้สำเร็จ
- ใส่ใจติดตามผลและพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น พูดคุยประสานกับครูที่โรงเรียนถึงพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กปัญญาอ่อน และหมั่นฝึกฝนปรับพฤติกรรมเพิ่มการเรียนรู้ให้แก่เด็กในขณะอยู่ที่บ้านด้วย
- ให้ผู้ป่วยได้มีส่วนร่วมในสังคม ได้เข้าร่วมกลุ่มทำกิจกรรมกับผู้อื่น เพื่อฝึกฝนให้ผู้ป่วยเรียนรู้ทักษะสังคมมากขึ้น
- ติดต่อพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กปัญญาอ่อนคนอื่น ๆ เพื่อปรึกษาแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดูแลเด็กในปกครองของตน
ทั้งนี้ ผู้ดูแลสามารถรับบริการความช่วยเหลือทางการแพทย์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ด้วย เช่น
- อรรถบำบัด เป็นการฝึกการพูด โดยนักอรรถบำบัดจะคอยช่วยเหลือดูแลให้ผู้ป่วยออกเสียงและแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการพูด
- กิจกรรมบำบัด นักกิจกรรมบำบัดจะคอยช่วยเหลือดูแลให้ผู้ป่วยฝึกทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วยตนเอง
- กายภาพบำบัด สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ นักกายภาพบำบัดจะคอยฝึกฝนและกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อในส่วนที่มีปัญหา เช่น ฝึกหยิบจับสิ่งของ หรือเคลื่อนไหวร่างกายในส่วนต่าง ๆ
- การให้คำปรึกษาแบบครอบครัว เป็นวิธีการที่ให้สมาชิกในครอบครัวได้มาพูดคุยปรึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หาทางออกเกี่ยวกับการรับมือปัญหา ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยปัญญาอ่อน และให้กำลังใจซึ่งกันและกันภายใต้การดูแลของนักบำบัดผู้เชี่ยวชาญ
- การใช้อุปกรณ์สนับสนุน เป็นการใช้อุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีเท่าที่ควร ให้สามารถฝึกฝนทักษะในด้านต่าง ๆ และใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือนี้เป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น วีลแชร์ ไม้เท้า หรืออุปกรณ์ที่ช่วยเหลือในการเคลื่อนไหวอื่น ๆ
นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยปัญญาอ่อนที่มีภาวะอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษาของโรคที่ป่วยร่วมด้วย เช่น
- ยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ในผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นแบบ ADHD หรือ ADD
- ยาแอลฟา อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ ใช้ในผู้ที่มีภาวะอาการสมาธิสั้น ก้าวร้าว กล้ามเนื้อกระตุก หรือมีความผิดปกติในการนอน
- ยาระงับอาการทางจิต สำหรับผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง และมีสมาธิสั้น
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะปัญญาอ่อน
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะปัญญาอ่อนจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยปัญหาหลัก ๆ ที่มักพบก็เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการเข้าสังคม
การป้องกันภาวะปัญญาอ่อน
แนวทางการป้องกันที่สำคัญเพื่อไม่ให้เกิดภาวะปัญญาอ่อน ควรทำตั้งแต่การวางแผนการตั้งครรภ์ไปจนขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์ ได้แก่
- ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคทางพันธุกรรม ควรรับการตรวจหาโรคทางพันธุกรรมก่อนการตั้งครรภ์
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม หรือผู้หญิงตั้งครรภ์ที่แพทย์มีดุลยพินิจว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเช่นกัน
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการเกิดกลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ (Fetal Alcohol Syndrome) ซึ่งจะกระทบต่อกระบวนการเจริญเติบโตของเด็กจนอาจเกิดภาวะปัญญาอ่อนได้
- ควรฝากครรภ์ รับยาหรือวิตามินบำรุงครรภ์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหรือการติดเชื้อต่าง ๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้ทารกในครรภ์เกิดมาพร้อมกับภาวะปัญญาอ่อน
- ตรวจครรภ์และไปพบแพทย์ที่ฝากครรภ์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การอัลตราซาวด์ การเจาะน้ำคร่ำไปตรวจ
นอกจากนี้ การป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปัญญาอ่อนกับตนเอง คนในครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด คือ การรักษาสุขภาพและสุขอนามัยให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ตรวจร่างกายเป็นประจำ เข้ารับการรักษาโรคประจำตัวหรืออาการที่ป่วยอยู่ และระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุหรือภัยอันตรายที่จะกระทบกระเทือนต่อสมองและร่างกาย