ปัสสาวะขัด

ความหมาย ปัสสาวะขัด

ปัสสาวะขัด (Dysuria) คือ ความรู้สึกเจ็บปวดหรือปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการระคายเคืองหรือติดเชื้อที่เนื้อเยื่อบริเวณทางเดินปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ หรือบริเวณใกล้ ๆ อวัยวะเพศ เป็นอาการโดยทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่พบได้บ่อยกว่าในเพศหญิง

ปัสสาวะขัดเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการติดเชื้อ เกิดจากการอักเสบหรือระคายเคือง ซึ่งการรักษาอาการปัสสาวะขัดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อ หรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในกรณีที่อาการปัสสาวะขัดเกิดจากผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง

Dysuria

อาการปัสสาวะขัด

อาการปัสสาวะขัดจะแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุ หรือตำแหน่งของโรคที่เป็น เช่น

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) 

อาการที่อาจเกิดขึ้นจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ได้แก่

  • ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะออกทีละน้อย
  • ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นแรง หรือปัสสาวะเป็นเลือด
  • มีอาการเจ็บที่ท้องน้อยบริเวณใกล้กระเพาะปัสสาวะ

กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) 

อาการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • มีไข้สูงและหนาวสั่น
  • ปวดหลังส่วนบน
  • ปัสสาวะขุ่นหรือปัสสาวะบ่อย

ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)

อาการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • ปัสสาวะบ่อย
  • มีตกขาวหรือของเหลวออกมาจากท่อปัสสาวะ
  • ส่วนปลายของท่อปัสสาวะเกิดรอยแดง

ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) 

อาการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • เจ็บหรือคันที่อวัยวะเพศ
  • เจ็บหรือรู้สึกไม่สบายในระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ตกขาวมีสีคล้ำ หรือมีสีอื่น มีปริมาณมากกว่าปกติ หรือมีกลิ่นเหม็น

สาเหตุของปัสสาวะขัด

สาเหตุของปัสสาวะขัดที่พบได้บ่อย แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

สาเหตุจากการติดเชื้อ

1. โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTI) 

เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัด ซึ่งการติดเชื้อเกิดขึ้นได้กับอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะ มักมีสาเหตุจากแบคทีเรียเข้าไปในทางเดินปัสสาวะจากทางท่อปัสสาวะในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ 

นอกจากนั้น เมื่อผู้หญิงเช็ดทำความสะอาดจากหลังไปหน้าอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทางท่อปัสสาวะ หรือผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มักมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมากโตหรือการติดเชื้อของต่อมลูกหมาก

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ได้แก่

  • เพศหญิง มีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่าเพศชาย
  • ผู้สูงอายุ
  • หญิงตั้งครรภ์
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นนิ่วในไต
  • ต่อมลูกหมากโต
  • มีประวัติการใช้สายสวนปัสสาวะ

2. ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis) 

อาจเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ 

3. ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) 

เป็นภาวะที่แบคทีเรียในช่องคลอดเกิดความเปลี่ยนแปลง สาเหตุที่พบบ่อย เช่น 

  • การอักเสบจากเชื้อรา (Candidiasis) 
  • การอักเสบจากแบคทีเรีย 
  • การอักเสบจากเชื้อพยาธิในช่องคลอด (Trichomonas)

สาเหตุจากการอักเสบหรือการระคายเคือง

การอักเสบหรือการระคายเคืองที่ทางเดินปัสสาวะหรือบริเวณอวัยวะเพศเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ต่อไปนี้

  • เกิดการระคายเคืองจากการมีเพศสัมพันธ์
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง (Interstitial Cystitis)
  • มีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  • ช่องคลอดเกิดการตอบสนองหรือระคายเคืองจากการใช้สบู่อาบน้ำที่มีกลิ่นหอมหรือผลิตภัณฑ์คุมกำเนิดที่มีสารฆ่าอสุจิ
  • การเปลี่ยนแปลงของช่องคลอดที่เกี่ยวข้องกับวัยหมดประจำเดือน
  • มีเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ
  • เกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด
  • ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การขี่ม้าหรือปั่นจักรยาน

ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในไต อาจมีก้อนนิ่วปิดกั้นทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเจ็บรุนแรง สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนนิ่วใหญ่มาก แพทย์จะใช้วิธีสลายนิ่ว (Lithotripsy) หากวิธีข้างต้นไม่ได้ผลอาจต้องผ่าตัดเอานิ่วออก

นอกจากนั้น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นอีกสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัดได้ แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก

การวินิจฉัยปัสสาวะขัด

การวินิจฉัยปัสสาวะขัด ผู้ป่วยอาจสังเกตความผิดปกติได้ด้วยตัวเอง หากพบว่าเกิดอาการหรือความผิดปกติต่อไปนี้ ควรพบแพทย์

  • รู้สึกเจ็บปวดเวลาปัสสาวะ
  • มีเลือดปนมากับปัสสาวะ
  • มีของเหลวหรือตกขาวออกมาจากอวัยวะเพศ
  • มีอาการปวดหลังหรือเจ็บเอว
  • มีไข้
  • เคยมีนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะ
  • สำหรับสตรีมีครรภ์ หากปัสสาวะแล้วเกิดอาการเจ็บ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

การวินิจฉัยโดยแพทย์

แพทย์จะสอบถามประวัติ อาการต่าง ๆ และตรวจร่างกาย หรืออาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย และรักษาได้อย่างตรงจุด

แพทย์อาจถามคำถามดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้สามารถพิจารณาหาสาเหตุได้

  • อาการเกิดขึ้นอย่างไร เช่น เกิดขึ้นทันทีหรือค่อย ๆ เป็น
  • เกิดอาการบ่อยเพียงใด
  • ความเจ็บปวดเวลาปัสสาวะ เช่น เกิดความเจ็บปวดตั้งแต่ที่เริ่มปัสสาวะหรือไม่

แพทย์อาจถามถึงอาการที่เกิดร่วมด้วย เช่น อาการไข้ ตกขาวที่ผิดปกติ หรืออาการเจ็บที่หลังหรือเอว รวมไปถึงความผิดปกติในการไหลของปัสสาวะ เช่น มีปัสสาวะหยดอยู่ตลอดเวลา เจ็บปวดเมื่อเริ่มปัสสาวะ หรือความถี่ในการปัสสาวะ

นอกจากนั้น แพทย์อาจถามถึงการเปลี่ยนแปลงของปัสสาวะ เช่น สี ปริมาณ เลือดหรือหนองที่ปนมากับปัสสาวะ แพทย์อาจต้องตรวจปัสสาวะหรือทดสอบอื่น ๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย ได้แก่

  • ตรวจเลือดเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อใด ๆ หรือไม่
  • ตรวจปัสสาวะเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย เลือดหรือหนอง หนองใน หนองในเทียม หรือเริม
  • ตรวจกระเพาะปัสสาวะด้วยการใช้กล้องส่อง (Cystoscopy) เพื่อหาปัญหาที่เกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะ
  • การทำอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการดูภาพกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย

การรักษาปัสสาวะขัด

การรักษาปัสสาวะขัด แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือหากเกิดจากการติดเชื้อที่ไต ซึ่งมีความรุนแรง อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัส

การรักษาอาการปัสสาวะขัดจะรักษาตามสาเหตุ ได้แก่

  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) และกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) จากการติดเชื้อ รักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นกรวยไตอักเสบรุนแรง มีอาการไข้ หนาวสั่น หรืออาเจียนร่วมด้วย แพทย์อาจฉีดยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด
  • ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis) แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในการรักษาตามสาเหตุของการติดเชื้อ เช่น หนองใน คลามัยเดีย หรือหนองในเทียม
  • ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) และแบคทีเรียในช่องคลอด แพทย์อาจรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเชื้อรา แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งมีทั้งแบบยารับประทาน ยาเหน็บและครีม

การรักษาตามอาการ เช่น

  • ดื่มน้ำมาก ๆ ไม่ควรให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ใช้ยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
  • ใช้ยาปรับสภาพที่ทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง (Urine Alkalinizing Medication)

หากมีอาการเจ็บปวดหรือมีเลือดปนมากับปัสสาวะ รวมไปถึงมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์

  • ปัสสาวะบ่อยและอั้นปัสสาวะไม่ได้
  • ปวดท้อง
  • ปวดหลัง
  • มีไข้
  • เกิดความผิดปกติที่เกี่ยวกับช่องคลอดและท่อปัสสาวะ

ภาวะแทรกซ้อนของปัสสาวะขัด

สาเหตุสำคัญของปัสสาวะขัดมักเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนของปัสสาวะขัดอาจเกิดจากการที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม หรืออาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

  • ผู้หญิงที่เคยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป อาจทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ
  • สำหรับสตรีมีครรภ์ อาจคลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
  • หากผู้ชายเป็นท่อปัสสาวะอักเสบซ้ำ อาจทำให้ท่อปัสสาวะตีบตัน
  • ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด (Sepsis)
  • ติดเชื้อที่ลามจากทางเดินปัสสาวะไปที่ไตเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
  • ไตได้รับความเสียหายถาวร จากกรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง (Pyelonephritis)

เด็กที่มีอาการปัสสาวะขัดอาจได้รับภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ซึ่งมีโอกาสเกิดได้มากกว่าผู้ใหญ่ หากมีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว

การป้องกันปัสสาวะขัด

การป้องกันปัสสาวะขัด ทำได้หลายวิธีคือ

  • ป้องกันอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเวลาปัสสาวะได้ ทั้งยังช่วยเจือจางแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะและทำให้ขับออกมาได้ง่ายขึ้น
  • ไม่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน
  • ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดอาจใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะขัดจากสาเหตุโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งจนครบ เชื้อจะได้ถูกกำจัดออกจากร่างกายจนหมด
  • สำหรับผู้หญิง หลังขับถ่ายควรเช็ดทำความความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง และควรปัสสาวะให้เร็วที่สุดหลังจากการมีเพศสัมพันธ์เพื่อขับแบคทีเรียออก วิธีนี้จะช่วยป้องกันแบคทีเรียเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
  • เพื่อป้องกันอาการปัสสาวะขัดที่มาจากการระคายเคือง ผู้หญิงควรทำความสะอาดอวัยวะเพศให้แห้งอยู่เสมอ เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงสบู่หรือผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง
  • เพื่อป้องกันอาการปัสสาวะขัดที่มีสาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย