ความหมาย ปัสสาวะขุ่น
ปัสสาวะขุ่น เป็นอาการที่สีของปัสสาวะมีลักษณะขุ่นเป็นตะกอนหรือมีฟองหนา ไม่เป็นสีใสหรือสีเหลืองอ่อนตามปกติ อาจเกิดจากปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อเม็ดสีที่อยู่ในปัสสาวะ เช่น การใช้ยา การรับประทานอาหารบางชนิด หรือสาเหตุอื่นที่ทำให้ปัสสาวะมีลักษณะดังกล่าว อย่างมีโปรตีนหรือผลึกสารเจือปนอยู่ในปัสสาวะ และการติดเชื้อภายในอวัยวะต่าง ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้มีเลือดและหนองเจือปนอยู่ในปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทั่วไปที่ไม่เป็นอันตราย หรืออาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่มักเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะขาดน้ำ และอาจเกิดขึ้นพร้อมกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย
สาเหตุของปัสสาวะขุ่น
- มีฟอสเฟตตกผลึกในปัสสาวะมากเกินไป กระทบต่อค่าความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ
- มีกรดยูริกในปัสสาวะสูงเกินไป จากการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง (Purine)
- ร่างกายมีภาวะขาดน้ำเล็กน้อย
- มีไขมันอยู่ในปัสสาวะ
- มีสารออกซาเลตในปัสสาวะสูงเกินไป
- มีโปรตีนไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ
- เกิดนิ่วในไต
- ปัสสาวะปนเปื้อนไปด้วยเมือกจากช่องคลอด หรือเซลล์เยื่อบุผิว
- มีเม็ดเลือดขาวอยู่ในปัสสาวะ หรือปัสสาวะเป็นหนองจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- เกิดความผิดปกติของระบบท่อปัสสาวะกับท่อน้ำเหลืองของลำไส้เล็ก ทำให้มีน้ำเหลืองปนอยู่ในปัสสาวะ
- มีตกขาว
- ภาวะช่องคลอดอักเสบ
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดปัสสาวะขุ่น
นอกเหนือจากสาเหตุข้างต้น ปัจจัยต่อไปนี้ คือ สิ่งที่อาจมีผลกระทบต่อระดับสารเคมีต่าง ๆ หรือระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งนำไปสู่อาการปัสสาวะขุ่นหรือมีสีผิดไปจากปกติได้
- อาหาร อาหารบางชนิดอาจทำให้สีของปัสสาวะเปลี่ยน เช่น ลูกเบอร์รี่ หรือบีทรูท
- ยา การใช้ยารักษาบางชนิดอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีปัสสาวะ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ตัวผู้ป่วย
- อายุ บางกรณี ผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มในการป่วยด้วยโรคต่าง ๆ อันเป็นที่มาของการเกิดปัสสาวะขุ่นได้มากกว่า เช่น โรคเบาหวาน โรคไต
- เพศ ผู้หญิงมักป่วยด้วยการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และอาจมีอาการตกขาว หรือการติดเชื้อในช่องคลอดมากกว่า ในขณะที่ผู้ชายมักป่วยด้วยนิ่วในไตหรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- การออกกำลังกาย การออกกำลังหรือการใช้แรงงานอย่างหนักเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อระบบปัสสาวะ
- ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวที่เกี่ยวโยงทางสายเลือดป่วยด้วยโรคไต หรือนิ่วในไต อาจมีโอกาสที่จะเกิดการเจ็บป่วยนี้ขึ้นกับตนเอง
สัญญาณสำคัญที่ควรไปพบแพทย์
นอกจากอาการปัสสาวะขุ่น ควรสังเกตอาการหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกันด้วย หากพบอาการต่อไปนี้เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา
- ปัสสาวะแล้วมีเลือดปน และมีอาการเจ็บปวดในขณะปัสสาวะร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของนิ่วในไตหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ปัสสาวะแล้วมีเลือดปน แต่ไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง
- ปัสสาวะมีสีเข้มหรือสีส้ม ผิวหนังและดวงตาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง อุจจาระสีซีด อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่ตับทำงานผิดปกติ
- ปัสสาวะมีสีขุ่น หรือมีเลือดปน แล้วมีกลิ่นเหม็น ร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น หรือปวดเอว อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อยแต่ปัสสาวะได้ทีละน้อย ปัสสาวะแสบขัด (Dysuria) หรือปวดปัสสาวะขึ้นมาอย่างกะทันหัน
การตรวจวินิจฉัยปัสสาวะขุ่น
เมื่อไปพบแพทย์ ในเบื้องต้นแพทย์จะซักถามประวัติการเจ็บป่วยและการใช้ยารักษา รวมไปถึงการถามเกี่ยวกับอาการที่เผชิญอยู่ เช่น ปัสสาวะมีสี มีกลิ่น มีลักษณะอย่างไร มีหยดเลือดหรือลิ่มเลือดปนอยู่หรือไม่ เจ็บปวดในขณะปัสสาวะหรือไม่ ปัสสาวะบ่อยเพียงใด เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับปัสสาวะมานานเพียงใด เคยมีอาการดังกล่าวมาก่อนหน้าหรือไม่ มีโรคประจำตัวหรืออาการเจ็บป่วยใดอยู่ ใช้ยารักษาตัวใด มีการเปลี่ยนการรับประทานอาหารหรือไม่ เป็นต้น
จากนั้นแพทย์อาจทำการตรวจร่างกายตามบริเวณที่สงสัยว่าอาจมีการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะขุ่นหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ หรืออาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุการป่วยที่แน่ชัด เช่น
- ตรวจปัสสาวะ แพทย์จะนำตัวอย่างปัสสาวะตรวจหาเซลล์เม็ดเลือดแดง ระดับโปรตีน แร่ธาตุที่ถูกขับออกมา และอาจตรวจแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะเพื่อตรวจหาการติดเชื้อด้วย
- ตรวจเลือด แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจหาระดับครีเอตินีน ระดับไนโตรเจนในเลือดเพื่อตรวจการทำงานของไต และระดับเอนไซม์ตับ เพื่อตรวจการทำงานของตับ
การรักษาปัสสาวะขุ่น
หากปัสสาวะขุ่นหรือมีสีที่ต่างไปจากปกติจากสาเหตุทั่วไปที่ไม่เป็นอันตราย เช่น การรับประทานอาหาร หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษา ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำการรักษา แต่หากปัสสาวะขุ่นเกิดจากโรคและอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ แพทย์จะทำการรักษาที่อาการป่วยต้นเหตุ เช่น
ภาวะขาดน้ำ การรักษาภาวะขาดน้ำขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง สาเหตุของการขาดน้ำ และอายุของผู้ป่วย โดยอาจใช้วิธีการรักษา เช่น ดื่มน้ำปริมาณมาก ๆ ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารละลายอิเล็กโตรไลต์หรือคาร์โบไฮเดรต รับประทานผงละลายเกลือแร่ตามวิธีการและปริมาณที่เหมาะสมกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมในผู้ที่มีอาการท้องร่วง หรือให้น้ำเกลือรักษาในรายที่มีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งมีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด โดยแพทย์จะเลือกใช้ยาตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ป่วย และลักษณะของอาการป่วยด้วย
นิ่วในไต การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของนิ่วที่เกิดขึ้น โดยการรักษา ได้แก่
นิ่วที่มีขนาดเล็กและมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อช่วยขับปัสสาวะ
- รับประทานยาแก้ปวดอย่างไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล หรือนาพร็อกเซ็นโซเดียม เมื่อมีอาการปวด
- ใช้ยาอัลฟาบล็อกเกอร์ (Alpha Blocker) เพื่อคลายกล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะ ช่วยสลายก้อนนิ่วออกไป
นิ่วที่มีขนาดใหญ่และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
- ใช้วิธีสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy: ESWL) เป็นการใช้คลื่นเสียงที่เป็นคลื่นกระแทกสลายนิ่วให้กลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ร่างกายสามารถขับออกมาทางปัสสาวะได้
- การผ่าตัด แพทย์อาจทำการผ่าตัดเอานิ่วในไตออกมา หรือผ่าตัดด้วยเครื่องมือพิเศษขนาดเล็กเพื่อตัดชิ้นส่วนนิ่วเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ร่างกายสามารถขับออกมาทางปัสสาวะต่อไป
การป้องกันการเกิดปัสสาวะขุ่น และอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ดื่มน้ำปริมาณมาก ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสีของปัสสาวะที่เข้มขึ้น แสดงถึงภาวะที่ร่างกายกำลังต้องการน้ำมากขึ้น การดื่มน้ำปริมาณมากจะช่วยขับของเสียในระบบทางเดินปัสสาวะ ลดโอกาสในการเกิดนิ่วในไตและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
- ควรดื่มน้ำเปล่าสะอาด หรือน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน โซดา หรือน้ำอัดลมต่าง ๆ เพราะอาจทำปฏิกิริยาต่อกระเพาะปัสสาวะจนเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาได้
- หากมีโรคประจำตัว หรือกำลังป่วยด้วยโรคที่ต้องจำกัดปริมาณของเหลวในร่างกาย เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณน้ำดื่มที่เหมาะสมในแต่ละวัน
- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงเพื่อป้องกันอาการท้องผูก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออาการอื่น ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะได้ด้วย
- ปัสสาวะบ่อย ๆ ไม่กลั้นปัสสาวะ ขับถ่ายเมื่อรู้สึกปวด
- ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศด้วยสบู่อ่อน ๆ หรือน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละครั้ง แล้วเช็ดทำความสะอาดให้แห้ง เพื่อป้องกันการอับชื้นและการติดเชื้อ