ปากกระตุก (Lip Twitching) คืออาการที่ริมฝีปากบนหรือล่างเกิดการกระตุกโดยไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งปากกระตุกมักเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป การใช้ยาบางชนิด การขาดสารอาหารอย่างโพแทสเซียม นอกจากนี้ ปากกระตุกยังอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายและไม่ควรมองข้าม
ถึงแม้อาการปากกระตุกอาจสร้างความไม่สบายใจหรือความรำคาญใจให้แก่ผู้ที่มีอาการ แต่ปากกระตุกเป็นอาการที่สามารถรักษาและดูแลเบื้องต้นได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งนี้ หากปากกระตุกเกิดขึ้นร่วมกับอาการผิดปกติต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
สาเหตุของอาการปากกระตุก
ปากกระตุกมักเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปากหรือใบหน้าเกิดการหดตัวโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวทำงานผิดปกติ โดยปัจจัยต่าง ๆ อาจส่งผลต่อการทำงานของเส้นประสาทได้ เช่น
- การบริโภคเครื่องดื่มคาเฟอีนมากเกินไป การดื่มคาเฟอีนมากเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณกาแฟ 5 แก้ว อาจทำให้เกิดอาการปากกระตุกได้
- ความเครียด โดยเฉพาะผู้ที่มีความเครียดสูง อาจทำให้เกิดการกระตุกบริเวณปาก ใบหน้า หรือกล้ามเนื้อส่วนอื่นของร่างกาย
- ร่างกายขาดโพแทสเซียม โพแทสเซียมเป็นเกลือแร่ที่จำเป็นต่อการส่งกระแสประสาทจากสมองไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ดังนั้น การที่ร่างกายขาดโพแทสเซียมอาจทำให้การส่งกระแสประสาททำงานผิดปกติ และส่งผลให้ปากกระตุกได้
- โรคเส้นประสาทถูกทำลายจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Neuropathy) เป็นโรคที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป จนทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย และเกิดอาการปากกระตุกหรือตากระตุกตามมา
- โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก (Bell's Palsy) โรคนี้อาจทำให้กล้ามเนื้อใบหน้า หรือเปลือกตาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า
- โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก (Hemifacial Spasms) เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่เส้นประสาทบริเวณใบหน้าได้รับความเสียหาย หรือถูกกดทับจากเนื้องอกหรือเส้นเลือด
- กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette's Syndrome) โรคทูเร็ตต์เป็นโรคที่ผู้ป่วยอาจทำเสียงหรือท่าทางซ้ำ ๆ โดยไม่สามารถควบคุมได้ เรียกว่า ติ๊กส์ (TICS) ซึ่งปากกระตุกก็อาจเป็นหนึ่งในอาการติ๊กส์นั่นเอง
- โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของบริเวณสมองและระบบประสาท โดยปากกระตุกอาจเป็นสัญญาณของโรคพาร์กินสันระยะแรกได้
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อเส้นประสาทที่คอยควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ซึ่งโรคนี้อาจทำให้ทั้งใบหน้ากระตุก รวมไปถึงริมฝีปากด้วย
- ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ (Hypoparathyroidism) เป็นโรคที่เกิดเมื่อต่อมพาราไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ และอาจทำให้เกิดปากกระตุกได้
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยารักษาโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ยาต้านไมเกรน ยาปฏิชีวนะบางชนิด
อาการปากกระตุก
อาการปากกระตุกสามารถสังเกตได้จากการที่ริมฝีปากบนหรือล่างเกิดการกระตุกอย่างฉับพลัน โดยที่ไม่สามารถควบคุมให้อาการกระตุกหยุดได้ ซึ่งผู้ที่มีอาการปากกระตุกอาจมีความถี่ และความรุนแรงของอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
อาการปากกระตุกที่ควรไปพบแพทย์
หากอาการปากกระตุกยังคงไม่ดีขึ้น ปากกระตุกเกิดขึ้นบ่อย หรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการปากกระตุกร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น รู้สึกอ่อนแรง เวียนศีรษะ ชาด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
การวินิจฉัยอาการปากกระตุก
ปากกระตุกสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจดูลักษณะการกระตุกเป็นอย่างไร สอบถามอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับปากกระตุก สอบถามประวัติอาการป่วย และสอบถามเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการปากกระตุก
นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ตรวจด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น ตรวจเลือด การทำเอ็มอาร์ไอ สแกน (MRI Scan) เพื่อหาสาเหตุของอาการปากกระตุกเพิ่มเติม
การรักษาอาการปากกระตุก
การรักษาปากกระตุกสามารถทำได้ด้วยวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น เช่น
- งดหรือลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น บรอกโคลี กล้วย อะโวคาโด
- ใช้นิ้วกดนวดเบา ๆ บริเวณริมฝีปากที่เกิดการกระตุก
- ประคบอุ่นบริเวณที่เกิดปากกระตุก
นอกจากนี้ การรักษาอาการปากกระตุกอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุ เช่น ปากกระตุกที่เกิดจากโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก (Hemifacial spasms) อาจรักษาได้ด้วยการฉีดโบท็อกซ์ (BOTOX) การใช้ยาต่าง ๆ หรือการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนปากกระตุก
อาการปากกระตุกอาจสร้างความกังวลหรือความรำคาญใจให้แก่ผู้ที่มีอาการ แต่ปากกระตุกมักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุของอาการปากกระตุกอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น
- ปากกระตุกจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ การพูด หรือการกิน
- ปากระตุกที่เกิดจากโรคพาร์กินสัน อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคสมองเสื่อม (Dementia)
- ปากกระตุกที่เกิดจากภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ อาจส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะไตวาย อาการชัก
การป้องกันปากกระตุก
ปากกระตุกเป็นอาการที่สามารถป้องกันได้หลายวิธี เช่น
- กินอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียมเพื่อป้องกันร่างกายขาดโพแทสเซียม เช่น บรอกโคลี กล้วย ส้ม ผักปวยเล้ง มันฝรั่ง
- ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและไม่เยอะจนเกินไป
- จัดการกับความเครียด เช่น นั่งสมาธิ ฝึกวิธีหายใจเพื่อคลายเครียด โยคะ ทำงานอดิเรกที่ชอบ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ปรับเปลี่ยนยาที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปากกระตุก โดยไม่ควรหยุดหรือลดปริมาณยาลงด้วยตัวเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อพบอาการปากกระตุกร่วมกับอาการผิดปกติ เพราะอาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น หรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มาพร้อมกับปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุได้