ปานดำ (Pigmented birthmarks)

ความหมาย ปานดำ (Pigmented birthmarks)

ปานดำ (Pigmented birthmarks) รอยบนผิวหนังที่มักติดตัวทารกมาแต่กำเนิด หรืออาจเกิดขึ้นหลังคลอดไม่นานก็ได้เช่นกัน ปานดำเกิดจากเซลล์เม็ดสีบนผิวหนังซึ่งเจริญเติบโตมากเกินไป โดยปานดำมีทั้งชนิดที่เรียบเนียนไปกับผิวหนัง และชนิดที่นูนขึ้นมาจากผิวหนัง รวมถึงสามารถพบได้ทั้งสีดำ สีแทน หรือสีน้ำตาลด้วย

ปานส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นบนผิวหนังไม่เป็นอันตราย และเมื่อเวลาผ่านไป ปานอาจสามารถจางหายหรือมีขนาดเล็กลงไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา อย่างไรก็ตาม หากปานที่เกิดขึ้นทำให้ผิวหนังดูไม่เรียบเนียนสวยงาม หรือส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ ก็มีวิธีในการรักษาหรือกำจัดปานบนผิวหนังหลายวิธีเลยทีเดียว

ปานดำ

สาเหตุของปานดำ

ปานดำเกิดจากการเจริญเติบโตที่มากเกินไปของเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocytes) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสี เมื่อเซลล์ชนิดนี้มารวมตัวกันอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งบนผิวหนังมากเกินไป จึงทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดรอยสีเข้มโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งจะเรียกว่าปานดำ

อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เซลล์เมลาโนไซต์มีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติจนเกิดเป็นปานดำได้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการทำงานของร่างกายซึ่งไม่เป็นอันตราย หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ก็ได้เช่นกัน

 อาการของปานดำ

ปานดำจะแสดงอาการหรือลักษณะรูปร่างแตกต่างกันออกไปตามแต่ละชนิด โดยปานดำที่พบได้บ่อยมี 3 ชนิด ดังนี้

ปานสีกาแฟใส่นม (Café-au-lait spots)

ปานสีกาแฟใส่นมจะมีสีน้ำตาลอ่อนคล้ายกาแฟใส่นม มักมีรูปร่างกลมหรือรี มีลักษณะราบเรียบกลืนไปกับผิวหนัง แต่ก็มีขอบเขตที่ชัดเจน ปานชนิดนี้มักพบแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นหลังทารกคลอดออกมาแล้วภายในระยะเวลา 2–3 เดือน และจะขยายใหญ่ขึ้นตามการเจริญเติบโต รวมถึงจะคงอยู่บนผิวหนังไปตลอดชีวิตด้วย

ปานมองโกเลียน (Mongolian spots)

ปานมองโกเลียนเป็นปานแต่กำเนิดที่พบได้บ่อยที่สุด แต่สามารถจางหายไปได้เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเด็ก ปานชนิดนี้มักพบบริเวณสะโพกหรือก้น โดยจะมีสีเขียว ฟ้าเทา หรือฟ้าเข้ม และมีลักษณะราบเรียบกลืนไปกับผิวหนัง

ไฝ (Moles)

ไฝแต่กำเนิดถือเป็นปานชนิดหนึ่ง โดยมักพบเป็นจุดเล็ก ๆ สีดำหรือสีน้ำตาลเกิดขึ้นบนผิวหนัง และจะติดตัวไปตลอดชีวิต โดยอาจมีลักษณะแบนราบหรือนูนขึ้นมาจากผิวหนังก็ได้ อีกทั้ง ไฝบางชนิดก็สามารถมีขนงอกออกมาจากไฝได้ด้วย

อาการของปานดำที่ควรไปพบแพทย์

แม้ว่าปานดำส่วนใหญ่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากสังเกตเห็นความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณปาน ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างที่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เช่น พบว่าปานมีขนาดใหญ่ผิดปกติ หรือปานมีจำนวนมากเกินไป

นอกจากนี้ หากสังเกตเห็นไฝบนผิวหนังมีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม เช่น มีขนาดใหญ่ขึ้นเกิน 7 เซนติเมตร มีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างไปจากเดิม มีสีหรือพื้นผิวที่ไม่สม่ำเสมอ รวมถึงมีอาการเจ็บปวด แสบคัน หรือมีเลือดออก อาจมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) ได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์

การวินิจฉัยปานดำ

ในเบื้องต้น แพทย์จะวินิจฉัยปานดำด้วยการตรวจร่างกายทั่วไปเพื่อดูรอยปานบนผิวหนัง แต่หากปานอยู่ลึกลงไปในชั้นผิวหนัง แพทย์อาจทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) รวมถึงการทำซีทีสแกน (CT Scan) ร่วมด้วย

ทั้งนี้ หากแพทย์สงสัยว่าอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง แพทย์อาจทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพื่อไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

การรักษาปานดำ

หากปานดำที่เกิดขึ้นบนผิวหนังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรักษาหรือกำจัดออกไป แต่หากปานดำบนผิวหนังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ ก็สามารถกำจัดออกได้ด้วยวิธีการดังนี้

การรักษาด้วยเลเซอร์

การรักษาด้วยเลเซอร์เป็นการใช้ลำแสงที่มีความเข้มข้นสูงยิงลงไปใต้ผิวหนัง เพื่อช่วยลดเม็ดสีใต้ผิวหนัง และทำให้รอยปานดำจางลงอย่างถาวร ซึ่งการรักษาด้วยเลเซอร์จะมีประสิทธิภาพสูงเมื่อทำในตอนที่เป็นทารก แต่ก็สามารถทำภายหลังเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วได้เช่นกัน

การรักษาด้วยยา

ยาบางชนิดอาจใช้รักษาปานดำได้ เช่น กลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) หรือกลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) โดยมักอยู่ในรูปแบบของยาทาเฉพาะที่ ยาฉีด หรือยารับประทาน ซึ่งตัวยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์ช่วยให้ปานดำมีขนาดเล็กลงนั่นเอง

การผ่าตัด

การผ่าตัดมักใช้รักษาปานที่มีขนาดใหญ่ นูนขึ้นมาจากผิวหนัง อยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนัง รวมถึงไฝที่มีขนาดใหญ่และไฝที่อาจพัฒนาไปเป็นโรคมะเร็งผิวหนังด้วย โดยแพทย์จะทายาชาบริเวณที่จะผ่าตัด และใช้มีดผ่าตัดขนาดเล็กในการนำปานดำหรือไฝออกมาจากผิวหนัง

ภาวะแทรกซ้อนของปานดำ

แม้ว่าปานดำส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ในบางกรณีก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เพราะปานบางชนิดสามารถพัฒนาไปเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้ ซึ่งหากไม่ได้สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง อาจทำให้โรคมะเร็งลุกลาม และเป็นอันตรายได้

ส่วนในเรื่องของจิตใจ ผู้ที่มีปานขนาดใหญ่อยู่บนใบหน้าหรือบริเวณที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ รวมถึงอาจส่งผลให้รู้สึกไม่ชอบในใบหน้าหรือร่างกายของตัวเองได้เลยทีเดียว

การป้องกันปานดำ

การเกิดปานดำยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เซลล์เม็ดสีเกิดการเจริญเติบโตอผิดปกติ 

อย่างไรก็ตาม สามารถลดความเสี่ยงที่ปานจะพัฒนากลายไปเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้ด้วยการหลีกเลี่ยงรังสี ยูวี (UV) จากแสงแดด เช่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงกว่า 30 ก่อนออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงควรสวมเสื้อผ้าแขนยาวขายาว และสวมแว่นกันแดดเพื่อช่วยป้องกันแสงแดดด้วย