ปานแดง (Vascular birthmarks)

ความหมาย ปานแดง (Vascular birthmarks)

ปานแดง (Vascular birthmarks) คือ จุดหรือรอยปื้นสีแดง สีแดงเข้มหรือสีชมพูบนผิวหนัง ซึ่งอาจพบได้ตั้งแต่กำเนิดหรือช่วงหลังจากทารกคลอดออกมาแล้วไม่นาน โดยปานแดงเกิดจากความผิดปกติของการสร้างหลอดเลือดขณะอยู่ในครรภ์ เช่น การสร้างหลอดเลือดมากเกินไป หรือการสร้างหลอดเลือดที่ขยายตัวได้มากกว่าปกติ 

ปานเป็นความผิดปกติของสีผิวชนิดหนึ่ง โดยลักษณะ รูปร่าง หรือสีอาจแตกต่างกันไปตามความผิดปกติของเซลล์ เช่น เซลล์ผิวหนัง หลอดเลือด ทางเดินน้ำเหลือง โดยปานแดงเป็นหนึ่งในลักษณะของปาน ซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งปานแดงยังอาจจางลงไปได้เอง หรืออาจรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การเลเซอร์ผิวหนัง หรือการใช้ยาต่าง ๆ 

ปานแดง

สาเหตุของปานแดง

ปานแดงอาจปรากฏขึ้นเนื่องจากบริเวณที่มีปานแดงเกิดความผิดปกติของการสร้างหลอดเลือดใต้ผิวหนัง เช่น มีการสร้างหลอดเลือดมากเกินไป หรือหลอดเลือดขยายตัวได้มากกว่าปกติ โดยปานแดงอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้

  • ปานแดงชนิดแซลมอน แพตช์ (Salmon patch) เป็นปานแดงที่เกิดจากหลอดเลือดใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัว โดยบริเวณนั้นอาจมีเลือดไหลเวียนเพิ่มขึ้น จึงอาจส่งผลให้เกิดปานแดงชนิดนี้ได้
  • ปานแดงชนิดฮีแมงจิโอมา (Hemangioma) ปานแดงชนิดนี้เกิดจากการมีหลอดเลือดปริมาณมากมารวมตัวกัน และดันผิวหนังจนเป็นก้อนเนื้อนูนขึ้นมา
  • ปานแดงชนิดเส้นเลือดฝอย (Port-Wine Stain) ปานแดงชนิดนี้อาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติในการสร้างหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนัง โดยหลอดเลือดฝอยอาจขยายตัวมากผิดปกติ และเกิดเป็นปานแดงชนิดเส้นเลือดฝอยตามมา

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติของการสร้างหลอดเลือดนั้นยังไม่ชัดเจน โดยการเกิดปานแดงนั้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม หรือความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ 

อาการของปานแดง

โดยส่วนใหญ่แล้ว ปานแดงมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ นอกจากการมีจุดหรือรอยปานบนผิวหนัง ซึ่งสามารถพบได้ทุกส่วนของร่างกาย อย่างไรก็ตาม ปานแดงอาจมีลักษณะแตกต่างกันไปตามชนิดของปานแดง ดังนี้

ปานแดงชนิดแซลมอน แพตช์ (Salmon patch)
ปานแดงชนิดนี้เป็นปานแดงที่พบได้บ่อย อาจสังเกตได้จากปานสีแดงหรือสีชมพูเรียบ พบได้บ่อยบริเวณหน้าผาก คิ้ว เปลือกตา หลังคอ จมูก หรือหลังศีรษะ โดยปานแดงชนิดแซลมอน แพตช์มักสังเกตเห็นได้ชัดมากขึ้นเมื่อเด็กกำลังร้องไห้ หรืออุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนไป

ปานแดงชนิดฮีแมงจิโอมา (Hemangioma)
ปานแดงชนิดฮีแมงจิโอมา หรือเนื้องอกหลอดเลือดเป็นปานแดงที่เป็นลักษณะก้อนเนื้อนูนและนิ่ม มักมีสีแดงหรือสีแดงคล้ำ โดยปานแดงชนิดนี้มักพบได้บ่อยบริเวณใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอก หรือหลัง 

ปานแดงชนิดเส้นเลือดฝอย (Port-Wine Stain)
ปานแดงชนิดเส้นเลือดฝอยเป็นปานที่มีรอยปื้นสีแดงหรือสีแดงคล้ำ อาจมีขนาดใหญ่หรือเล็กแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น ปานแดงอาจหนา ขรุขระ และมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยปานแดงชนิดเส้นเลือดฝอยมักพบได้บ่อยบริเวณคอ หนังศีรษะ และใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตา 

อาการของปานแดงที่ควรไปพบแพทย์

หากสังเกตเห็นปานแดงเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่าปานแดงมีอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ นอกจากนี้ ควรไปพบแพทย์หากปานแดงมีลักษณะดังนี้

  • ปานแดงมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีขนาดใหญ่ขึ้น หนาขึ้น หรือมีสีเข้มขึ้น
  • ปานแดงมีเลือดหรือหนองไหล
  • ปานแดงมีอาการบวมหรือติดเชื้อ  
  • ปานแดงมีอาการเจ็บ ปวด หรือคัน
  • ปานแดงส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย เช่น การมองเห็น การหายใจ การได้ยิน
  • ปานแดงชนิดเส้นเลือดฝอยเกิดขึ้นบริเวณรอบดวงตา เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของดวงตาและระบบประสาทได้

การวินิจฉัยปานแดง

แพทย์สามารถวินิจฉัยปานแดงได้จากการตรวจดูลักษณะของปานแดง หากเป็นปานแดงชนิดฮีแมงจิโอมาหรือชนิดเส้นเลือดฝอยที่อยู่ใกล้กับอวัยวะสำคัญ แพทย์อาจให้ทำซีที สแกน (CT scan) หรือทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม เนื่องจากปานแดงส่งผลต่อสุขภาพได้

การรักษาปานแดง

ปานแดงส่วนใหญ่มักหายไปได้เองเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษาปานแดงที่อยู่บนร่างกายอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ ไม่สะดวกในการใช้ชีวิต หรือปานแดงอาจส่งผลต่อสุขภาพ โดยวิธีการรักษาปานแดงอาจแตกต่างกันไปตามชนิดของปานแดง เช่น

  • การทำเลเซอร์ แพทย์อาจใช้เลเซอร์เพื่อลดขนาดหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยให้รอยปานแดงจางลง นอกจากนี้ ยังอาจใช้เพื่อกำจัดปานแดงชนิดฮีแมงจิโอมาให้หลุดออกไปอีกด้วย
  • การใช้ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) การใช้ยาโพรพราโนลอล ซึ่งเป็นยาในกลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ อาจนำมาให้รักษาปานแดงชนิดฮีแมงจิโอมา เมื่อปานแดงเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยยาโพรพราโนลอล อาจช่วยลดขนาดของก้อนเนื้อ และช่วยให้ก้อนเนื้อยุบลง
  • การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ แพทย์อาจแนะนำให้กินหรือฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หากการรักษาปานแดงชนิดฮีแมงจีโอด้วยยาโพรพราโนลอลไม่ได้ผล โดยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อาจช่วยให้หลอดเลือดหดตัวลง และส่งผลให้ปานแดงเล็กลง

ภาวะแทรกซ้อนของปานแดง

ปานแดงมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะปานแดงชนิดแซลมอน แพตช์ แต่สำหรับปานแดงชนิดฮีแมงจิโอมาและปานแดงชนิดเส้นเลือดฝอย อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น

ภาวะแทรกซ้อนของปานแดงชนิดฮีแมงจิโอมา

ปานแดงชนิดฮีแมงจิโอมาอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น

  • ก้อนเนื้อปานแดงอาจแตกออก ทำให้รู้สึกเจ็บและมีเลือดไหล ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดรอยแผลเป็นหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • หากปานแดงเกิดขึ้นใกล้ตา อาจส่งผลต่อการมองเห็น เช่น ตามัว สายตาเอียง สายตาสั้น ท่อน้ำตาอุดตัน  
  • หากปานแดงเกิดขึ้นใกล้จมูกหรือคอ ทางเดินหายใจอาจถูกปิดกั้นบางส่วน และส่งผลให้หายใจลำบากได้
  • หากปานแดงเกิดขึ้นใกล้ริมฝีปาก อาจทำให้กินอาหารลำบาก ริมฝีปากผิดรูป
  • หากปานแดงเกิดใกล้หู อาจส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางการได้ยิน

ภาวะแทรกซ้อนของปานแดงชนิดเส้นเลือดฝอย

ปานแดงชนิดเส้นเลือดฝอยมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ในบางกรณี ปานแดงอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • หากปานแดงชนิดเส้นเลือดฝอยเกิดขึ้นใกล้เปลือกตา อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดตาเป็นต้อหิน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ 
  • หากเกิดปานแดงร่วมกับภาวะบางอย่าง เช่น กลุ่มอาการสเตอร์จ-เวเบอร์ (Sturge-Weber syndrome) อาจส่งผลให้มีปัญหาทางระบบประสาท เช่น โรคลมชัก 

นอกจากปานแดงจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่างแล้ว ปานแดงที่มีขนาดใหญ่และสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย อาจสร้างความไม่มั่นใจให้แก่ผู้ที่มีปานแดง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางด้านจิตใจและการเข้าสังคมได้ 

การป้องกันปานแดง

ในปัจจุบัน ปานแดงยังไม่วิธีที่ช่วยป้องกันการเกิดของปานแดงได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดปานแดงอย่างแน่ชัด อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตลักษณะของปานแดงอยู่เสมอ หากปานแดงมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์ เพราะการไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากปานแดงได้