โรคหิด (Scabies)

ความหมาย โรคหิด (Scabies)

โรคหิด (Scabies) เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่เกิดจากตัวหิดหรือไรที่มีชื่อว่า Sarcoptes scabiei var hominis เป็นปรสิตขนาดเล็กประมาณ 0.4 มิลลิเมตรที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในเวลากลางคืน และเกิดผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสขึ้นตามร่างกาย เช่น ง่ามมือ ง่ามเท้า ข้อพับแขน รักแร้ เต้านม และอวัยวะเพศ

ตัวหิดสามารถอาศัยอยู่บนร่างกายของมนุษย์ได้นานถึง 2 เดือน และจะเพิ่มจำนวนเรื่อย ๆ ด้วยการวางไข่บนผิวหนังชั้นหนังกำพร้าของมนุษย์ รวมถึงสามารถแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วผ่านการสัมผัสร่างกายของผู้ที่เป็นโรคหิดอย่างใกล้ชิด หรือการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ที่เป็นโรคหิด

โรคหิด

อาการของโรคหิด

โรคหิดในระยะแรกจะไม่แสดงอาการ และอาจใช้เวลานานถึง 2–6 สัปดาห์จึงจะมีอาการคันและเกิดตุ่มผื่นขึ้นบนผิวหนังบริเวณต่าง ๆ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านการบุกรุกของสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ส่วนในผู้ที่เคยเป็นโรคหิดมาก่อนแล้วมักจะแสดงอาการภายใน 1–2 วัน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจดจำการตอบสนองต่อการติดเชื้อโรคหิดไว้แล้ว 

อาการของโรคหิดที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

  • มีตุ่มผื่นแดงขึ้นเป็นจุดตามร่างกาย โดยในเด็กทารกและเด็กเล็กมักมีตุ่มผื่นขึ้นบริเวณศีรษะ ลำคอ ใบหน้า และฝ่าเท้า ส่วนในเด็กโตและผู้ใหญ่มักมีตุ่มผื่นขึ้นบริเวณง่ามนิ้ว ข้อมือ ข้อศอก เอว บั้นท้าย รักแร้ รอบหัวนมในเพศหญิง และอวัยวะเพศในเพศชาย
  • มีอาการคันอย่างรุนแรง โดยอาการคันมักจะกระจายไปยังจุดอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ฝ่ามือ และมีอาการคันรุนแรงมากขึ้นในเวลากลางคืนหรือหลังจากอาบน้ำอุ่น
  • ผิวหนังมีอาการบวมแดง แสบร้อน อ่อนนุ่มลง หรืออักเสบ ซึ่งเป็นอาการติดเชื้อที่อาจเกิดจากการเกาอย่างรุนแรง ทำให้ผิวหนังเกิดการถลอก และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาได้
  • อาจสังเกตเห็นรอยโพรงของตัวหิดมีลักษณะเป็นรอยหรือเส้นเล็ก ๆ สีเงินหรือสีดำขนาดประมาณ 2–10 มิลลิเมตรปรากฏบนผิวหนังบริเวณง่ามนิ้ว ข้อมือด้านใน ฝ่ามือ หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

โรคหิดอาจเพิ่มความรุนแรงให้กับโรคอื่นที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะโรคผิวหนังที่มีอาการคัน เช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบ หรือโรคสะเก็ดเงิน และยิ่งทำให้การวินิจฉัยโรคหิดยากมากขึ้นในผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้ด้วย 

นอกจากนี้ ยังมีโรคหิดสายพันธุ์นอร์เวย์ที่อาจทำให้เกิดอาการทางผิวหนังรุนแรงกว่าโรคหิดธรรมดา เช่น เกิดก้อนสะเก็ดหนา ๆ บนผิวหนังคล้ายกับโรคสะเก็ดเงิน ทำให้ผิวหนังแดงและตกสะเก็ดเป็นแผ่น แต่มักไม่ทำให้เกิดอาการคัน โรคหิดสายพันธุ์นี้มักเกิดในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เด็กทารก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคพาร์กินสัน โรคดาวน์ซินโดรม และผู้ที่ใช้ยาบางชนิดด้วย

สาเหตุของโรคหิด

โรคหิดสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคหิด แต่ต้องเป็นการสัมผัสในระยะเวลานานประมาณ 15–20 นาที เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่เป็นโรคหิด รวมถึงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยก็สามารถทำให้ติดโรคได้ เนื่องจากตัวหิดสามารถอยู่นอกร่างกายมนุษย์ได้นานถึง 24–36 ชั่วโมง ส่วนการจับมือ การกอด หรือการสัมผัสร่างกายในระยะเวลาสั้น ๆ มีโอกาสทำให้เกิดการติดโรคหิดได้น้อยมาก

ยิ่งไปกว่านั้น โรคหิดยังสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เพราะผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะผ่านไปประมาณ 2–3 สัปดาห์ ทำให้ผู้คนรอบข้างไม่ได้ระวังหรือป้องกันอย่างทันท่วงที โดยมักติดจากคนในครอบครัว เพื่อน หรือคู่นอนที่ป่วยเป็นโรคนี้ และมักแพร่กระจายในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ทีมกีฬา รวมถึงเรือนจำหรือเขตคุมขัง

การวินิจฉัยโรคหิด

แพทย์จะวินิจฉัยอาการของโรคหิดเบื้องต้นด้วยการตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงตรวจดูลักษณะผิวหนังบริเวณที่แสดงอาการ และตรวจดูว่ามีร่องรอยโพรงของตัวหิดอยู่หรือไม่ นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การทดสอบด้วยหมึก แพทย์จะใช้น้ำหมึกถูรอบบริเวณที่คันและเช็ดออกด้วยแผ่นแอลกอฮอล์สำหรับเช็ดแผล เพื่อตรวจหาร่องรอยการเข้าสู่ผิวหนังของตัวหิด หากมีร่องรอยของตัวหิดจะปรากฏเป็นรอยหมึกติดอยู่ที่เส้นโพรงของตัวหิด
  • การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ แพทย์จะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อด้วยการขูดบริเวณผิวหนังบริเวณที่มีตุ่มคันเบา ๆ จากนั้นนำไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาร่องรอยของตัวหิดหรือไข่ของตัวหิดที่เป็นสาเหตุของโรค

การรักษาโรคหิด

การใช้สบู่ น้ำร้อน และการถูหรือขัดผิวไม่สามารถกำจัดตัวหิดได้ และอาจทำให้วงจรของตัวหิดขยายพันธุ์บนผิวหนังยิ่งขึ้นด้วย แพทย์จะรักษาโรคหิดด้วยการใช้ครีม โลชั่น หรือยาขี้ผึ้งสำหรับทาผิวหนัง โดยแนะนำให้ทายาในตอนกลางคืน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ตัวหิดตื่นตัวและทำให้เกิดอาการคันได้มากที่สุด ผู้ป่วยอาจต้องทายาทั่วทั้งร่างกายตั้งแต่บริเวณคอลงไป และสามารถล้างยาออกได้ในตอนเช้า

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหิดโดยทั่วไป มีดังนี้

  • ขี้ผึ้งซัลเฟอร์ (Sulfur) ประกอบด้วยตัวยา 5–10% ยานี้ค่อนข้างปลอดภัย จึงสามารถใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรได้
  • ครีมเพอร์เมทริน (Permethrin) ประกอบด้วยตัวยา 5% ยานี้ไม่ควรใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ครีมโครตาไมตอน (Crotamiton) ประกอบด้วยตัวยา 10% ยานี้ไม่ควรใช้ในเด็กและผู้ที่มีประวัติแพ้ตัวยานี้
  • โลชั่นเบนซิลเบนโซเอต (Benzyl Benzoate) ประกอบด้วยตัวยา 10–25% ยานี้สามารถใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
  • โลชั่นลินเดน (Lindane) ประกอบด้วยตัวยา 1% ตัวยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทางระบบประสาท เช่น อาการชัก จึงควรใช้ยาอย่างระมัดระวังในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี และห้ามใช้ในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และผู้ป่วยที่มีอาการผิวหนังอักเสบเป็นบริเวณกว้าง

นอกจากการใช้ยาข้างต้น แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากโรคหิดด้วย เช่น

  • ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการคัน เช่น โลชั่นเบนาดริล (Benadryl) หรือโลชั่นพราโมซีน (Pramoxine)
  • ครีมสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการบวมและอาการคัน
  • ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อชนิดอื่น ๆ จากการเกาผิวอย่างต่อเนื่อง
  • ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือรอยโรคลุกลามแพร่กระจายไปทั่วร่างกายเป็นจำนวนมาก

การรักษาโรคหิดในช่วงสัปดาห์แรกอาจดูเหมือนอาการแย่ลง แต่เมื่อผ่านช่วงสัปดาห์แรกไปจะสังเกตได้ว่าอาการคันลดลง และอาการจะหายดีภายใน 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากอาการยังไม่หายไปภายใน 4 สัปดาห์แสดงว่ายังคงมีการติดเชื้อของโรคหิดอยู่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหิด

โรคหิดสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อทุติยภูมิได้ เนื่องจากการเกาบริเวณที่มีอาการคันอย่างรุนแรงซ้ำ ๆ จะทำให้ผิวหนังเกิดการบาดเจ็บและถลอก ส่งผลให้อาจได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นและเกิดการติดเชื้อเพิ่มได้ง่ายขึ้น เช่น เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลพุพอง (Impetigo) 

การป้องกันโรคหิด

แม้โรคหิดจะสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้อย่างรวดเร็วและอาจสังเกตได้ยากจนกว่าจะมีอาการแสดงออกมา แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหิดได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ป่วย รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรือเครื่องนอนร่วมกับผู้อื่นด้วย

และเพื่อป้องกันไม่ให้โรคหิดกลับมาเกิดซ้ำ ผู้ป่วยควรใช้ยาให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ และแม้ว่าจะกำจัดตัวหิดออกจากร่างกายแล้ว แต่ตัวหิดสามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้นาน 4–6 วัน จึงควรซักทำความสะอาดเครื่องนอน เสื้อผ้า และผ้าเช็ดตัวโดยใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือตากแดดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง รวมถึงดูดฝุ่นหรือทำความสะอาดภายในบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้มีตัวหิดหลงเหลืออยู่ด้วย