ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum)

ความหมาย ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum)

ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum: LGV) คือโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia Trachomatis) ซึ่งมักเกิดการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์หรือทวารหนัก ทำให้เกิดตุ่มฝีที่อวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบและทวารหนักบวมและปวด หากไม่ได้รับการรักษา อาการของโรคจะพัฒนาไปถึงระยะสุดท้าย และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

ฝีมะม่วงถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เรื้อรัง ผู้ป่วยมักได้รับเชื้อผ่านการร่วมเพศหรือการสัมผัสผิวหนังที่มีเชื้อฝีมะม่วงโดยตรง โรคนี้มักพบมากในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ชายที่ร่วมเพศด้วยกัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยหายและใช้ชีวิตได้ตามปกติ

Lymphogranuloma Venereum

สาเหตุของฝีมะม่วง

ฝีมะม่วงเกิดจากการติดเชื้อของระบบน้ำเหลืองในร่างกาย ซึ่งเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง โรคนี้มีสาเหตุของการติดเชื้อมาจากเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia Trachomatis) 3 สายพันธุ์ คือ L1 L2 และ L3 ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียคนละสายพันธุ์กับที่ก่อให้เกิดโรคหนองในเทียม

ผู้ป่วยมักติดเชื้อฝีมะม่วงจากการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ทวารหนัก และปากกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือการสัมผัสผิวหนังที่มีเชื้อ หรือหนองจากแผลโดยตรง

ฝีมะม่วงพบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายที่อายุประมาณ 15–40 ปีที่มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ แต่จะพบบ่อยกว่าในเพศชาย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค คือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน และการมีโรคประจำตัว เช่น ติดเชื้อ HIV 

อาการของฝีมะม่วง

บางครั้ง ผู้ติดเชื้อฝีมะม่วงอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลยก็ได้ หรือเพิ่งเริ่มแสดงอาการในระยะหลัง ๆ และเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะในเพศหญิง ซึ่งอาการของฝีมะม่วงแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

อาการระยะที่ 1

ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อฝีมะม่วงจะแสดงอาการของโรคภายใน 3–30 วัน หลังได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคฝีมะม่วง โดยผู้ป่วยจะแสดงอาการ ดังนี้

  • มีตุ่มหนองเล็ก ๆ หรือเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศ ในช่องคลอด ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือภายในช่องปากและลำคอ ซึ่งมักไม่รู้สึกเจ็บปวดและจะหายไปเองหลังจากผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงอาจไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อฝีมะม่วง
  • อาจมีตกขาวปนหนองไหลออกจากทวารหนัก ท่อปัสสาวะ หรือปากมดลูก

อาการระยะที่ 2

หลังจากเกิดอาการระยะแรกประมาณ 2–6 สัปดาห์ อาการของฝีมะม่วงจะเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการในหลาย ๆ ระบบของร่างกาย ดังนี้

  • ต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณขาหนีบข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง หรือบริเวณอื่น เช่น อุ้งเชิงกราน ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย คอ และรักแร้ มีลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่และเจ็บ เกิดเป็นช่อง (Sinus Tract) ที่ทำให้หนองหรือเลือดภายในฝีไหลออกจากผิวหนังได้
  • มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดตามร่างกาย ผู้หญิงอาจมีอาการปวดท้องน้อยหรือปวดหลังด้วย
  • เจ็บขณะปัสสาวะ ปวดบริเวณทวารหนัก รู้สึกปวดเหมือนอยากถ่ายอุจจาระ บางคนมีอาการท้องผูก 
  • คันและมีเลือดหรือหนองไหลจากทวารหนัก 
  • คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ

อาการระยะที่ 3

หากไม่ได้รับการรักษา อาการของโรคฝีมะม่วงจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งอาจปรากฏหลังจากติดเชื้อไปแล้วหลายเดือนหรือหลายปี ในระยะนี้ฝีมักจะหายไป โดยทิ้งรอยแผลเป็นไว้ 

หากการติดเชื้อกินเวลานานหรือเกิดซ้ำ อาจทำให้ท่อน้ำเหลืองอุดตัน ทำให้เนื้อเยื่อที่อวัยวะเพศบวมและผิดรูป หรืออาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ทวารหนักตีบ และฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula)

อาการของฝีมะม่วงที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการผิดปกติใด ๆ ที่สงสัยว่าเป็นอาการของฝีมะม่วง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา เพราะหากปล่อยให้อาการของโรคดำเนินไปโดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้อาการเข้าสู่ระยะรุนแรงขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวตามา

การวินิจฉัยฝีมะม่วง

แพทย์ซักประวัติการรักษาและการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย รวมถึงตรวจร่างกายบริเวณที่มีฝีมะม่วง ตรวจดูอาการปวดบวมเจ็บ และภาวะต่อมน้ำเหลืองโต เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค ดังนี้

  • ตรวจเชื้อจากการเก็บตัวอย่าง แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนัง เพื่อตัดและนำตัวอย่างชิ้นเนื้อของฝีมะม่วง สารคัดหลั่งจากแผล หรือเนื้อเยื่อของลำไส้ตรง ไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค
  • ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วยไปตรวจ เพื่อวินิจฉัยชนิดของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฝีมะม่วง
  • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) และซิฟิลิส (Syphilis) 

การรักษาฝีมะม่วง

โรคฝีมะม่วงรักษาได้ โดยวิธีรักษาโรคนี้มี 2 วิธี ได้แก่การรักษาด้วยยา และการผ่าตัด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  1. การรักษาด้วยยา

แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วง เพื่อใช้รักษาการติดเชื้อและป้องกันเชื้อแบคทีเรียทำลายเนื้อเยื่อส่วนอื่น โดยยาปฏิชีวนะหลักที่ใช้รักษาโรคฝีมะม่วง คือดอกซีไซคลิน (Doxycycline) โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาดอกซีไซคลินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 100 มิลลิกรัม เป็นเวลา 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์

กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาดอกซีไซคลินในการรักษา หรือกำลังตั้งครรภ์ แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวะนะอื่น ๆ  เช่น อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรืออะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) โดยให้รับประทานต่อเนื่องกันประมาณ 3 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้นหากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน

  1. การผ่าตัด

ผู้ป่วยฝีมะม่วงที่เกิดก้อนฝีหรือต่อมน้ำเหลืองโตอาจต้องเจาะผิวเอาของเหลวในฝีออกมา เพื่อบรรเทาอาการของโรคให้ทุเลาลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายที่ลำไส้ตรงตีบหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

หลังได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยควรบอกคู่นอนให้ทราบภายใน 60 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ เพื่อให้คู่นอนไปตรวจและรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอาการรุนแรงและการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น รวมทั้งลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นอีกครั้งด้วย ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายดี และควรมาพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอจนกว่าอาการของการติดเชื้อจะหายเป็นปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของฝีมะม่วง

ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายปีหลังติดเชื้อครั้งแรก ภาวะแทรกซ้อนของฝีมะม่วง มีดังนี้

  • ฝีคัณฑสูตร (Fistula) ซึ่งทำให้ทวารหนักเกิดรูที่เชื่อมระหว่างลำไว้ตรงกับช่องคลอด
  • ภาวะองคชาตมีพังผืด หรือองคชาตผิดรูปในเพศชาย
  • ภาวะปากมดลูกอักเสบหรือท่อนำไข่อักเสบในเพศหญิง ซึ่งส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และภาวะมีบุตรยาก
  • อวัยวะสืบพันธุ์บวมและอักเสบเรื้อรัง
  • ลำไส้ตรงเกิดแผลและตีบ ส่งผลให้ลำไส้อุดตัน
  • การอักเสบที่ข้อต่อ ดวงตา หัวใจ หรือตับ
  • ปอดบวม 
  • ภาวะตับโต

การป้องกันฝีมะม่วง

ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วงที่ทราบว่าตัวเองได้รับเชื้อ ควรงดมีเพศสัมพันธ์และพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เพื่อป้องกันเชื้อแพร่ไปสู่คู่นอนของตน ทั้งนี้ โรคฝีมะม่วงป้องกันได้ โดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย แนวทางในการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยปฏิบัติได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนัง แผล หรือสารคัดหลั่งที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
  • เข้ารับการตรวจร่างกายของตนเองและคู่นอนก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนหลายคน
  • ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยลดโอกาสติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดอื่น ๆ เนื่องจากการใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มมึนเมาจะทำให้ขาดสติ ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เสี่ยงติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย เช่น ลืมใส่ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์