ความหมาย พยาธิในช่องคลอด
พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) คือ ภาวะติดเชื้อปรสิตจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจทำให้ผู้หญิงมีอาการคันบริเวณอวัยวะเพศ ช่องคลอดส่งกลิ่นเหม็น มีตกขาวสีเขียวและเป็นฟอง เจ็บขณะปัสสาวะ รวมทั้งอาจทำให้หญิงมีครรภ์เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ส่วนผู้ชายสามารถติดเชื้อนี้ได้เช่นกันแต่มักไม่แสดงอาการ โดยผู้ที่ติดเชื้อควรรับประทานยาปฏิชีวนะจนกว่าจะหายดี แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้หลังรักษาหายไปแล้ว
อาการของพยาธิในช่องคลอด
ในช่วงแรกของการติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่หลังจากติดเชื้อตั้งแต่ 5-28 วันขึ้นไป ผู้ป่วยอาจมีอาการ ดังนี้
- มีตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวเป็นฟอง ซึ่งอาจเป็นสีขาว เทา เหลือง หรือเขียว และอาจส่งกลิ่นเหม็นคาวปลา
- มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอยหรือไหลออกมามาก
- บวม แดง คัน หรือรู้สึกแสบบริเวณอวัยวะเพศ
- ปวดปัสสาวะบ่อย
- เจ็บปวดขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีตกขาวที่ส่งกลิ่นเหม็น และเจ็บปวดขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์
สาเหตุของพยาธิในช่องคลอด
พยาธิในช่องคลอดเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว Trichomonas Vaginalis ที่ตรวจพบได้จากน้ำในช่องคลอดหรือน้ำอสุจิของผู้ป่วย ซึ่งติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และผู้หญิงสามารถติดเชื้อนี้ได้ทั้งในช่องคลอดและท่อปัสสาวะ
โดยผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด ได้แก่
- ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
- ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ
- ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
เนื่องจากพยาธิในช่องคลอดติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ดังนั้น กิจกรรมอื่น ๆ จึงอาจไม่ทำให้เกิดการติดต่อได้ เช่น การใช้ภาชนะรับประทานอาหาร ผ้าเช็ดตัว โถสุขภัณฑ์ หรือสระว่ายน้ำร่วมกับผู้ป่วย การกอด การจูบ และการมีเพศสัมพันธ์ทางปากหรือทวารหนักกับผู้ป่วย เป็นต้น
การวินิจฉัยพยาธิในช่องคลอด
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดมักแสดงอาการคล้ายโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ จึงทำให้การวินิจฉัยโรคเป็นไปได้ยาก ดังนั้น ผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีอาการผิดปกติทางช่องคลอดจึงควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวช
เมื่อไปรับการตรวจ แพทย์อาจซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน และอาจนำตกขาวไปส่งตรวจเพื่อดูเชื้อพยาธิในช่องคลอดด้วยวิธี ดังนี้
- ส่องกล้องจุลทรรศน์
- เพาะเชื้อจากตัวอย่างสารในช่องคลอด
- ใช้ชุดทดสอบแอนติเจนหรือสารพันธุกรรม
นอกจากนี้ หากสงสัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยโดยไม่รอผลการตรวจวินิจฉัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ส่วนผู้ป่วยที่พบว่าตนเองติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดแน่ชัดแล้ว ควรตรวจเลือดหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย เช่น ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และซิฟิลิส เป็นต้น รวมทั้งผู้ป่วยต้องแจ้งให้คู่นอนไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเช่นเดียวกัน
การรักษาพยาธิในช่องคลอด
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดต้องรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ซึ่งวิธีการใช้ยา มีดังนี้
- รับประทานยาเมโทรนิดาโซลหรือทินิดาโซลครั้งเดียวในปริมาณ 2 กรัม หรือรับประทานยาเมโทรนิดาโซลวันละ 500 มิลลิกรัม ติดต่อกันนาน 5-7 วัน
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไปพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติใด ๆ หลังใช้ยา
- งดดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยาเมโทรนิดาโซลหรือทินิดาโซล และอย่างน้อย 3 วันหลังหยุดใช้ยา เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หรือผิวแดง
- งดมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษาและหลังจากหายเป็นปกติอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น หรือการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพิ่ม
- ปรึกษาแพทย์ถึงการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หากแพ้ยาเมโทรนิดาโซลหรือทินิดาโซล
- หญิงมีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาเมโทรนิดาโซลหรือทินิดาโซล เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือทารกได้ โดยเฉพาะหากรับประทานยาปริมาณมากในครั้งเดียว
- ยาเมโทรนิดาโซลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือรู้สึกถึงรสโลหะในปาก เป็นต้น
- ไปพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามผลการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการผิดปกติหลังใช้ยา ซึ่งอาจเกิดจากการรับประทานยาไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง อาเจียนหลังรับประทานยา หรือติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดซ้ำ โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะในปริมาณที่มากกว่าเดิม หรือรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป
ภาวะแทรกซ้อนของพยาธิในช่องคลอด
ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด มีดังนี้
- หญิงมีครรภ์เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด รวมทั้งทารกอาจมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่าปกติ หรืออาจติดเชื้อปรสิตจากแม่ได้หากคลอดตามธรรมชาติ
- ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม หรือช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย เป็นต้น
- เสี่ยงติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่นำไปสู่โรคเอดส์ได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้วก็มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายขึ้นด้วย
- เกิดภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจทำให้ท่อนำไข่อุดตันจากแผลเป็น ปวดท้องหรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานอย่างเรื้อรัง รวมทั้งอาจส่งผลให้มีลูกยาก
การป้องกันพยาธิในช่องคลอด
โดยทั่วไป การติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดสามารถป้องกันได้ ดังนี้
- สวมถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นวิธีป้องกันพยาธิในช่องคลอดที่ได้ผลดีเช่นเดียวกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- รีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการตกขาวผิดปกติ รวมทั้งรู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์
- หากพบว่าติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด ทั้งตนเองและคู่นอนควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำหรือการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นด้วย