พฤติกรรมการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Catatonia)

ความหมาย พฤติกรรมการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Catatonia)

Catatonia คือกลุ่มอาการทางด้านพฤติกรรมและระบบการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ โดยสาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวช (Psychotic Disorder) โรคทางอารมณ์ (Mood Disorder) โรคทางระบบประสาทและสมอง หรือเป็นผลมาจากปัจจัยอื่น เช่น การใช้ยา การติดเชื้อ หรือได้รับสารพิษที่รุนแรง เป็นต้น

Catatonia แบ่งออกเป็นหลายประเภทตามลักษณะอาการที่แตกต่างกัน บางคนอาจมีอาการนิ่งเหม่อลอย ไม่ตอบสนองต่อการถูกกระตุ้นใด ๆ หรือบางคนอาจตื่นตัวมากผิดปกติ กระสับกระส่าย หรืออยู่ไม่สุข 

พฤติกรรมการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Catatonia)

อาการของ Catatonia

ผู้ป่วย Catatonia แต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกัน โดยอาการอาจเกิดขึ้นและคงอยู่เพียงไม่กี่ชั่วโมง หลายสัปดาห์ หรือนานหลายปี ซึ่งอาการส่วนใหญ่ที่มักพบได้ เช่น 

  • อยู่นิ่ง เหม่อลอย ไม่ตอบสนองต่อการถูกกระตุ้นใด ๆ
  • ไม่พูดตอบสนอง
  • ไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย เนื่องจากภาวะเกร็งของกล้ามเนื้อ
  • ร่างกายอยู่ในท่าทางผิดธรรมชาติ
  • อยู่ไม่สุข กระสับกระส่าย หรือทำท่าทางซ้ำ ๆ ไปมาโดยไม่มีเหตุผล
  • ทำหน้าตาบูดบึ้ง
  • พูดจา หรือทำท่าทางเลียนแบบคนอื่น

นอกจากนี้ ผู้ป่วย Catatonia บางคนอาจพบอาการอื่น ๆ เช่น เพ้อ ไข้ขึ้น กล้ามเนื้อเกร็ง เหงื่อออก สัญญาณผิดปกติทางร่างกายบางอย่างที่รุนแรง โดยอาจทำให้ระดับความดันโลหิต อุณหภูมิในร่างกาย อัตราการหายใจ หรืออัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป เป็นต้น ซึ่งอาการหล่านี้ต้องไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม ในบางกรณีที่อาการความรุนแรงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

สาเหตุของ Catatonia

ทางการแพทย์ยังไม่ทราบกลไกการเกิด Catatonia ที่แน่ชัด ส่วนมากแพทย์มักตรวจพบอาการในผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางอารมณ์ หรือโรคจิตเวช อย่างภาวะซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ และโรคจิตเภท (Schizophrenia)

ในบางกรณี สาเหตุของ Catatonia อาจเกี่ยวข้องกับโรคหรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น

  • โรคหรือภาวะที่ส่งผลกระทบต่อระบบเผาผลาญของร่างกาย (Metabolism) เช่น โรคไต โรคเบาหวาน หรือโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
  • โรคทางระบบประสาทและสมอง เช่น โรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) จากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่สมอง โรคพาร์กินสัน หรือโรคใด ๆ ที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท เป็นต้น
  • ความผิดปกติทางสมองจากการที่มีสารสื่อประสาทบางชนิดมากหรือน้อยเกินไป อย่างสารโดปามีน (Dopamine) หรือสารกาบา (GABA)
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชบางชนิด หรือการหยุดยาบางชนิดอย่างกะทันหัน เช่น ยาโคลซาปีน (Clozapine)
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ภาวะขาดวิตามินบี 12 ขั้นรุนแรง การติดเชื้อ มีประวัติเกี่ยวข้องกับสารพิษบางชนิด โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกัน ออทิสติก (Autism) หรือเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจขั้นรุนแรง เป็นต้น

นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการเกิด Catatonia อาจเพิ่มมากขึ้นตามอายุ และมีแนวโน้มหรือพบได้มากในผู้หญิง ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) ผู้ที่มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด อย่างยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) หรือการใช้โคเคน

การวินิจฉัย Catatonia

ในการวินิจฉัย Catatonia เบื้องต้น แพทย์จะสังเกตพฤติกรรมร่วมกับการพูดคุยกับผู้ป่วย โดยกระบวนการดังกล่าวอาจมีวิธีที่ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน จากนั้นจะใช้วิธีตรวจอื่นเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยแยกโรคที่อาจส่งผลให้เกิดอาการใกล้เคียงกัน เช่น

การตรวจเลือด

โรคหรือภาวะบางอย่างอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายคลึงกับ Catatonia เช่น ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย (Electrolyte Imbalance) หรือโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism) โดยแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูความสมดุลของแร่ธาตุในร่างกาย และหาค่าดีไดเมอร์ (D–Dimer) เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าค่าดีไดเมอร์ที่สูงขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับการเกิด Catatonia 

การใช้ภาพวินิจฉัย (Imaging Tests)

แพทย์อาจตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) บริเวณสมองของผู้ป่วย เพื่อดูความผิดปกติทางสมองบางอย่าง เช่น ภาวะสมองบวม หรือเนื้องอกในสมอง เป็นต้น

การรักษา Catatonia

แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนจากโรคหรือภาวะที่อาจเป็นสาเหตุของ Catatonia ในเบื้องต้นมักใช้วิธีการรักษาด้วยยาเป็นอันดับแรก โดยยาที่แพทย์มักใช้ในการรักษา เช่น

  • ยากล่อมประสาทในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) อย่างยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) ลอราซีแพม (Lorazepam) หรือยามิดาโซแลม (Midazolam) เพื่อเพิ่มสารสื่อประสาทในสมองที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิด Catatonia 
  • ยากลุ่มคลายกล้ามเนื้อ
  • ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants)
  • ยากลุ่มบาร์บิทูเรต (Barbiturate)
  • ยาโบรโมคริปทีน (Bromocriptine)
  • ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)
  • ยากลุ่มลิเทียม (Lithium carbonate)
  • ยาปรับระดับฮอร์โมนไทรอยด์
  • ยาโซลพิเดม (Zolpidem)

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีภาวะอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิด Catatonia อย่างการขาดวิตามินบางชนิด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับการฉีดหรือรับประทานวิตามินเสริมร่วมด้วย

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการขั้นรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือเคยมีประวัติการเกิด Catatonia มาก่อน แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่น อย่างการรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy: ECT) ที่ใช้เครื่องมือในการปล่อยกระแสไฟฟ้าสู่สมองของผู้ป่วย เพื่อปรับระดับสารสื่อประสาทในสมองที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าว

ภาวะแทรกซ้อนของ Catatonia

ผู้ป่วยที่มีอาการในกลุ่ม Catatonia อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุ และหากเกิดอาการดังกล่าวเป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดโรคหรือภาวะอื่นตามมา เช่น

  • เกิดการบาดเจ็บ เนื่องจากผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีลักษณะอาการอยู่ไม่สุข หรือตื่นตัวมากเกินปกติ อาจมีพฤติกรรมอันตรายต่อตัวเองหรือบุคคลรอบข้าง
  • ขาดสารอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่ยอมรับประทานอาหาร ซึ่งแพทย์อาจรักษาภาวะดังกล่าวโดยการให้สารอาหารทางหลอดเลือดแทน
  • การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติล้มเหลว (Autonomic instability) จากภาวะบางอย่าง อย่างภาวะตัวร้อนเกิน (Hyperthermia) ความดันโลหิตสูง (Hypertension) หรือภาวะหัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia)
  • กลุ่มอาการทางระบบประสาทเอ็นเอ็มเอส (Neuroleptic malignant syndrome)
  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด 

การป้องกัน Catatonia

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิด Catatonia ได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการในกลุ่ม Catatonia ควรระมัดระวังการใช้ยาต้านอาการทางจิตบางชนิด อย่างยาคลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine) เนื่องจากการใช้ยาดังกล่าว อาจส่งผลให้อาการต่าง ๆ แย่ลง