ความหมาย พังผืดที่ปอด
โรคพังผืดที่ปอด (Pulmonary Fibrosis) คือโรคปอดชนิดหนึ่งที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดจนเกิดแผลเป็นและพังผืด ซึ่งรบกวนการทำงานของระบบทางเดินหายใจ โดยส่งผลให้ถุงลมปอดทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนเข้ากระแสเลือดได้ยากขึ้น และเป็นเหตุให้ผู้ป่วยรู้สึกหายใจไม่อิ่ม (Dyspnea หรือ Shortness of Breath)
เมื่อกระบวนการส่งออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดทำได้ยากขึ้น ระดับออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยก็จะลดน้อยลง ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงอย่างระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และหัวใจล้มเหลวตามมา ในปัจจุบันการรักษาพังผืดที่ปอดทำได้เพียงชะลอและประคองอาการเท่านั้น เพราะพังผืดที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้เป็นเหมือนเดิมได้
อาการของโรคพังผืดที่ปอด
ผู้ป่วยบางคนอาจยังไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมามากนัก แต่อาการที่เป็นสัญญาณแรกและมักพบได้บ่อยคืออาการหายใจไม่อิ่ม เนื่องจากพื้นที่การขยายตัวของถุงลมถูกจำกัดให้น้อยลงจากการจับตัวกันหนาของพังผืด โดยในช่วงแรกอาจเกิดขึ้นเฉพาะขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่เมื่อนานไปอาการจะเริ่มเกิดบ่อยขึ้นแม้ในตอนที่นั่งเฉย ๆ ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น
- ไอแห้งเรื้อรังและหาสาเหตุไม่ได้
- อ่อนเพลีย ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยง่าย
- เมื่อออกกำลังกายเหนื่อยง่ายและเร็วกว่าปกติ
- เจ็บหน้าอก
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดลงแบบไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดกล้ามเนื้อและปวดตามข้อต่าง ๆ
- นิ้วปุ้ม (Clubbing)
ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีระยะเวลาการทรุดตัวต่างกัน บางคนอาการอาจทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ในขณะที่บางคนอาจมีอาการคงที่เป็นระยะเวลาหลายปี โดยในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากเฉียบพลัน แพทย์อาจแนะนำให้ติดเครื่องช่วยหายใจ จ่ายยาปฏิชีวนะหรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อช่วยประคองอาการและช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยหรือคนรอบข้างส่วนใหญ่จึงอาจเข้าใจผิดว่าอาการต่าง ๆ อย่างการหายใจลำบาก หรือเหนื่อยง่าย เป็นผลจากอายุที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ดังนั้น หากพบคนใกล้ตัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าวและอาการไม่ดีขึ้น หรือพบอาการอื่น ๆ ที่กล่าวมาร่วมด้วย ควรรีบพาผู้ป่วยไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ
สาเหตุของโรคพังผืดที่ปอด
ปัจจุบันโรคพังผืดที่พบได้มากที่สุดคือชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Pulmonary Fibrosis) เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากมายที่สามารถทำให้เกิดพังผืดที่ปอด ส่วนโรคพังผืดที่พบสาเหตุนั้น มักเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศสะสมเป็นเวลานาน
การทำงานหรือการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศสะสมเป็นเวลานานอาจทำให้ปอดถูกทำร้ายจากการสูดดมสารพิษ เช่น สารพิษจากควันบุหรี่ ฝุ่นจากแร่ใยหิน ฝุ่นเหล็ก ฝุ่นถ่าน ฝุ่นหิน ฝุ่นจากธัญพืช และมูลสัตว์
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น
พังผืดที่ปอดอาจเป็นผลมาจากโรคเดิมอื่น ๆ ของผู้ป่วย เช่น
- โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน เช่น โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis) โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Polymyositis) โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคซาร์คอยโดสิส (Sarcoidosis) โรคหนังแข็ง (Scleroderma) และโรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
- โรคปอดบวม (Pneumonia)
การฉายรังสีรักษา
การใช้รังสีรักษามะเร็งปอดหรือมะเร็งเต้านมอาจทำให้ปอดของผู้ป่วยได้รับความเสียหายและเกิดพังผืดตามมาได้ โดยความรุนแรงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณและระยะเวลาที่รับรังสี ชนิดและความรุนแรงของโรคปอดเดิมของผู้ป่วย หรือได้รับการทำเคมีบำบัดร่วมด้วย (Chemotherapy) เป็นต้น
การใช้ยาบางชนิด
การใช้ยาบางชนิดอาจทำให้ปอดเกิดพังผืดหรือได้รับความเสียหาย เช่น
- ยาคีโมบำบัดเพื่อรักษามะเร็ง เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) และยาไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide)
- ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone)
- ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยาไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) และยาอีแทมบูทอล (Ethambutol)
- ยาต้านการอักเสบบางชนิด เช่น ยาริทูซิแมบ (Rituximab) และยาซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine)
การติดเชื้อ
เชื้อแบคทีเรียและไวรัสบางชนิดสามารถทำให้เกิดพังผืดได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C) อะดีโนไวรัส (Adenovirus) ไวรัสเฮอร์พีส์ (Herpes Virus)
ความเป็นไปได้อื่น ๆ
แม้ผู้ป่วยจำนวนมากจะหาสาเหตุการเกิดพังผืดไม่พบ แต่ผู้ป่วยชนิดนี้บางคนก็มีอาการหรือจุดร่วมบางอย่างร่วมกัน เช่น
- พันธุกรรม เพราะผู้ป่วยโรคนี้จำนวนหนึ่งมักมาจากครอบครัวที่มีประวัติการเกิดพังผืดชนิดเดียวกัน
- โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) ผู้ป่วยหลายคนมักมีภาวะกรดไหลย้อนร่วมด้วย แต่สาเหตุนี้ก็ยังไม่แน่นอน เพราะความเชื่อมโยงระหว่างกรดไหลย้อนกับการเกิดพังผืดที่ปอดยังอยู่ในช่วงระหว่างการศึกษา
การวินิจฉัยพังผืดที่ปอด
แพทย์อาจใช้หลายวิธีในการวินิจฉัยโรคเนื่องจากมีความเป็นไปได้มากมายที่ทำให้เกิดพังผืดที่ปอด โดยเบื้องต้นแพทย์จะซักถามประวัติผู้ป่วยเพื่อหาความเป็นไปได้หรือปัจจัยเสี่ยงในการเกิดพังผืดที่ปอดร่วมกับการตรวจร่างกาย เช่น การฟังเสียงปอดขณะหายใจด้วยการใช้สเต็ตโทสโคป (Stethoscope) จากนั้นแพทย์จะเลือกวิธีการวินิจฉัยเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น
การใช้ภาพวินิจฉัย (Imaging Tests)
เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายรังสี ช่วยให้เห็นภาพความเสียหายและพังผืดที่ปอด โดยแพทย์อาจใช้การเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อตรวจหาพังผืดในบริเวณปอด หรือใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อช่วยให้เห็นภาพปอดที่ละเอียดและแม่นยำยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวอาจไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยสาเหตุของภาวะหายใจไม่อิ่ม แพทย์อาจใช้การทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram) ซึ่งเป็นการใช้คลื่นความถี่สูงตรวจวัดการทำงานของหัวใจและวัดความดันในหัวใจห้องล่างขวาร่วมด้วย
การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests)
แพทย์จะตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอดด้วยวิธีสไปโรเมทรีย์ (Spirometry) โดยให้ผู้ป่วยหายใจออกแรง ๆ ผ่านท่อที่ติดอยู่กับตัวเครื่องเพื่อวัดความจุปอดและอัตราเร็วในการหายใจ จากนั้นแพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมโดยการบันทึกการทำงานของปอดขณะให้ผู้ป่วยวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยานอยู่กับที่ (Exercise Stress Test)
นอกจากนี้แพทย์อาจตรวจระดับออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยโดยใช้เครื่อง Pulse Oximeter ติดไว้ที่ปลายนิ้ว หรืออาจนำเลือดตัวอย่างจากเส้นเลือดแดงบริเวณข้อมือไปตรวจค่าออกซิเจนและค่าคาร์บอนไดออกไซด์
การตัดเนื้อเยื่อปอดไปตรวจ
หากตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ แพทย์อาจเลือกตัดเนื้อเยื่อบางส่วนจากปอดเพื่อใช้ในการวินิจฉัยแยกโรค โดยสามารถตัดชิ้นเนื้อดังกล่าวผ่านการส่องกล้องเข้าไปในร่างกายหรือการผ่าตัดโดยตรงได้หลายวิธี เช่น
- วิธีส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy) เป็นการใช้กล้องขนาดเล็กสอดผ่านปากหรือจมูกเข้าไปที่บริเวณหลอดลมและปอดเพื่อช่วยในการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ วิธีนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ แต่ก็อาจทำให้เกิดเลือดออกหรือเกิดภาวะปอดแฟบได้ (Deflated Lung) นอกจากนี้ แพทย์อาจเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณถุงลมมาตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมระหว่างการส่องกล้องหลอดลม
- Video–Assisted Thoracoscopic Surgery หรือ VATS วิธีนี้ผู้ป่วยจะได้ยาระงับความรู้สึก จากนั้นแพทย์จะเจาะรูและส่องกล้องขนาดเล็กเข้าไปผ่านเนื้อเยื่อระหว่างซี่โครงและตัดตัวอย่างเนื้อปอดออกมา
- Thoracotomy เป็นการผ่าตัดเข้าไปในช่องทรวงอกเพื่อนำตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดไปวินิจฉัย แต่วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ค่อนข้างรุนแรง
การตรวจเลือด
ในการวินิจฉัยแยกโรค แพทย์อาจตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อตรวจดูการทำงานของตับและไต รวมทั้งดูว่าผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อ หรือโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของภูมิคุ้มกันหรือไม่
การรักษาพังผืดที่ปอด
เมื่อปอดเกิดพังผืดขึ้นมาแล้ว ปอดจะกลับคืนสู่สภาพเดิมไม่ได้อีก ซึ่งการรักษาในปัจจุบันทำได้เพียงชะลอการเกิดพังผืดให้ช้าลงและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้นเท่านั้น โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาจากระดับความรุนแรงของอาการและสาเหตุการเกิดพังผืดของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น
การรักษาด้วยยา
เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากมายที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดพังผืดที่ปอด ชนิดของยาที่ใช้ในการรักษาจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุของแต่ละคน เช่น
- แพทย์อาจให้ยาชนิดกดภูมิคุ้มกัน เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) สำหรับผู้ที่มีความเป็นไปได้ว่าพังผืดที่ปอดเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน หรือโรค Interstitial Lung Disease อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สำหรับผู้ที่ไม่ทราบสาเหตุการเกิดพังผืด และมีอาการกรดไหลย้อน แพทย์อาจให้ยาลดกรดเพื่อลดภาวะกรดเกินในกระเพาะให้
- หากผู้ป่วยมีพังผืดชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ และอาการต่าง ๆ ไม่ตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ แพทย์อาจเลือกวิธีการรักษาเป็นแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) โดยการใช้ยาเพอร์เฟนิโดน (Pirfenidone) และยานินเทดานิบ (Nintedanib) เพื่อช่วยชะลอการเกิดพังผืด แต่ยาทั้ง 2 ชนิดนี้อาจส่งผลข้างเคียงต่อร่างกาย โดยยานินเทดานิบอาจทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้และท้องเสีย ส่วนยาเพอร์เฟนิโดนอาจทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ ท้องเสีย และมีผื่นขึ้น
การรักษาด้วยออกซิเจน
ผู้ป่วยที่มีพังผืดที่ปอดมักพบภาวะระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ ดังนั้นแพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยออกซิเจน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจห้องล่างขวาล้มเหลวตามมาได้ นอกจากนี้การรักษายังช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกและหลับง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยแต่ละคนอาจรับการรักษาด้วยออกซิเจนไม่เท่ากัน เช่น ผู้ป่วยบางคนอาจรับออกซิเจนเฉพาะเวลานอนเท่านั้น ในขณะที่บางคนอาจต้องรับออกซิเจนตลอดเวลาหรือต้องพกถังออกซิเจนติดตัวไปด้วยตลอด เป็นต้น
การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด
สำหรับผู้ป่วยที่ปอดไม่แข็งแรง วิธีนี้จะเน้นไปที่การช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นด้วยการให้คำแนะนำในการหายใจเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปอด คำปรึกษาด้านโภชนาการ วิธีการออกกำลังกาย หรือการแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกลุ่มบำบัดโรค
การปลูกถ่ายปอด
หากอาการของผู้ป่วยอยู่ในขั้นรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ ที่กล่าวมา แพทย์อาจเลือกวิธีการปลูกถ่ายปอดในการรักษา อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยต้องใช้การรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จะแจ้งให้คนไข้ทราบถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากร่างกายอาจเกิดการติดเชื้อหรือเกิดภาวะต่อต้านอวัยวะใหม่ได้
การดูแลตนเอง
นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว ผู้ป่วยยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อลดโอกาสการเกิดพังผืดได้ด้วยตัวเอง เช่น
- เลิกสูบบุหรี่ โดยอาจปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีเลิกบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่น้ำหนักจะลดลงเพราะทานอาหารลำบาก และร่างกายต้องใช้พลังงานในการหายใจมากขึ้น โดยนักโภชนาการจะเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ เช่น การเลือกทานผักผลไม้ ธัญพืชที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อย อาหารไขมันต่ำ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว และเกลือหรือน้ำตาลที่มากเกินไป
- ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้ปอดทำงาน และลดความตึงเครียด
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพราะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง ซึ่งคนใกล้ตัวก็ควรฉีดด้วยเช่นกันเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในครอบครัว
- ไปพบแพทย์เมื่อถึงเวลานัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์สม่ำเสมอ
ภาวะแทรกซ้อนของพังผืดที่ปอด
การเกิดพังผืดที่ปอดจะทำให้ปอดส่งออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยลง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมีภาวะระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ร่างกายอ่อนแรง ขาบวม เลือดจับตัวกันเป็นลิ่ม หรือความดันหลอดเลือดปอดสูงจนทำให้หัวใจห้องขวาล้มเหลว ซึ่งเป็นภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีพังผืดที่ปอดเรื้อรังอาจเกิดภาวะภาวะซึมเศร้า ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้
การป้องกันพังผืดที่ปอด
เนื่องจากพังผืดที่ปอดส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ การป้องกันจึงอาจทำได้ยาก แต่ผู้ป่วยชนิดนี้ส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดังนั้นจึงอาจหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ด้วยการงดสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอเพื่อป้องกันปอดจากการถูกมลพิษทำร้าย