ฟีบัคโซสตัต
Febuxostat (ฟีบัคโซสตัต) เป็นยาในกลุ่มยารักษาเก๊าท์และภาวะกรดยูริคเกิน ใช้สำหรับรักษาโรคเก๊าท์ ออกฤทธิ์ลดการผลิตกรดยูริคในร่างกาย โดยไม่สามารถบรรเทาอาการปวดบวมจากโรคเก๊าท์ได้ในทันที แต่ผลการรักษาจะปรากฏเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง นอกจากนี้ ยานี้อาจนำไปใช้รักษาโรคหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Febuxostat
กลุ่มยา | ยารักษาเก๊าท์ และภาวะกรดยูริคเกินในเลือด |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ลดระดับกรดยูริคในเลือด |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์กลุ่มยา |
คำเตือนในการใช้ยา Febuxostat
- ห้ามใช้ยา Febuxostat หากมีประวัติการแพ้ยาชนิดนี้ หรือแพ้ส่วนประกอบอื่น ๆ และควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงประวัติการแพ้ก่อนการรักษาทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาชนิดนี้ร่วมกับยาเมอร์เเคปโตพิวรีนหรือยาอะซาไธโอพรีน และแจ้งให้แพทย์ทราบหากใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรชนิดอื่นอยู่เป็นประจำ
- ผู้ที่มีประวัติการรักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ภาวะเส้นเลือดสมองอุดตัน เคยปลูกถ่ายอวัยวะ หรือเคยเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนใช้ยา
- ยา Febuxostat ใช้เวลาหลายเดือนในการแสดงผลการรักษา และไม่สามารถบรรเทาอาการปวดข้อได้ในทันที หากมีอาการอื่น ๆ ควรแจ้งแพทย์เพื่อสั่งจ่ายยาสำหรับบรรเทาอาการ
- ยานี้อาจทำให้ง่วงซึม วิงเวียน และมีการรับรู้ลดน้อยลง จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานที่ใช้เครื่องจักรในขณะที่ใช้ยา
- การใช้ยา Febuxostat ในช่วงแรกอาจส่งผลให้อาการของโรคเก๊าท์กำเริบได้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้ปวดอื่น ๆ เพื่อป้องกันและรักษาอาการที่อาจเกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด
- การใช้ยานี้อาจส่งผลต่อการทำงานของตับ จึงควรได้รับการตรวจการทำงานของตับบ่อยครั้งในระหว่างที่ใช้ยา
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยานี้อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
- ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายา Febuxostat สามารถส่งผ่านทางน้ำนมแล้วเป็นอันตรายต่อเด็กได้หรือไม่
ปริมาณการใช้ยา Febuxostat
ภาวะกรดยูริคเกินในเลือดจากโรคเก๊าท์
ตัวอย่างการใช้ยา Febuxostat เพื่อรักษาภาวะกรดยูริคเกินในเลือดจากโรคเก๊าท์
ผู้ใหญ่ ในช่วงแรกของการรักษา ให้รับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม/วัน หลังจาก 2 สัปดาห์ หากมีกรดยูริคในเลือดมากกว่า 6 มิลลิกรัมต่อ 1 เดซิลิตร ให้เพิ่มปริมาณยาเป็น 80 มิลลิกรัม/วัน และในกรณีจำเป็น อาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 120 มิลลิกรัม/วัน โดยแพทย์อาจปรับปริมาณยาตามความเหมาะสมในผู้ป่วยบางราย เพื่อให้เกิดประสิทธิผลทางการรักษาสูงสุด ซึ่งผู้ป่วยควรรับประทานยาตามปริมาณที่แพทย์กำหนดเท่านั้น
สำหรับผู้ป่วยที่ไตเสื่อมขั้นรุนแรง ใช้ยาปริมาณสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
ภาวะกรดยูริคเกินในเลือดจากการรักษาโรคมะเร็ง
ตัวอย่างการใช้ยา Febuxostat เพื่อลดภาวะกรดยูริคเกินในเลือดจากรักษาโรคมะเร็ง
ผู้ใหญ่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีความเสี่ยงระดับกลางและสูงในการเกิดกลุ่มอาการเซลล์มะเร็งถูกทำลาย ให้รับประทานยาปริมาณ 120 มิลลิกรัม/วัน ในช่วง 2 วันก่อนได้รับยาเคมีบำบัด และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7-9 วัน หรือขึ้นอยู่กับระยะในการทำเคมีบำบัด
การใช้ยา Febuxostat
- อ่านใบกำกับยาและปฏิบัติตามคำแนะนำทุกขั้นตอน หากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับยา ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ
- อาจรับประทานยา Febuxostat ร่วมกับมื้ออาหารหรือไม่ก็ได้
- แพทย์อาจสั่งจ่ายยาลดกรดร่วมกับยานี้หากจำเป็น
- เพื่อผลในการรักษาที่ดีที่สุด ควรรับประทานยาตามปริมาณที่แพทย์สั่งให้ครบทุกมื้อ และห้ามหยุดใช้ยาเอง
- หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้เวลาการใช้ยามื้อถัดไปแล้วให้ข้ามไปรับประทานยาในมื้อต่อไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณ
- หลังจากรักษาด้วยยา Febuxostat เป็นเวลา 6 เดือน หากอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการทรุดลง ควรไปพบแพทย์
- ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง โดยเก็บให้พ้นจากแสง ความร้อน เด็ก และสัตว์เลี้ยง
ผลข้างเคียงในการใช้ยา Febuxostat
การใช้ยา Febuxostat อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น อาการปวดตามข้อต่อ มีอาการบวมแดงจากโรคเก๊าท์ เวียนศีรษะ รวมทั้งอาจเกิดความผิดปกติกับตับ เป็นต้น หรือหากผู้ป่วยพบอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงหลังจากการใช้ยา Febuxostat ดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
- อาการแพ้ยา เช่น หายใจติดขัด ลมพิษ ใบหน้า ปาก และลำคอบวม เป็นต้น
- ตาเหลือง ตัวเหลือง ซึ่งเป็นอาการของดีซ่าน ร่วมกับปวดท้องบริเวณด้านขวาบน
- เจ็บแน่นหน้าอก
- คลื่นไส้ตลอดเวลา
- ปัสสาวะสีคล้ำ มีเลือดปน หรือรู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะ
- สูญเสียความรู้สึกหรืออ่อนแรงร่างกายซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน
- อาการของภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น มีอาการชาหรืออ่อนแรงอย่างฉับพลัน ปวดหัวรุนแรงอย่างฉับพลัน ปัญหาในการทรงตัวและการมองเห็น เป็นต้น