ภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบาก (RDS)

ความหมาย ภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบาก (RDS)

RDS (Respiratory Distress Syndrome) หรือภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบาก คือภาวะความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจของทารก ซึ่งเป็นผลมาจากสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ที่มีหน้าที่ช่วยให้ถุงลมในปอดทำงานได้อย่างปกติในทารกมีปริมาณไม่เพียงพอ ทำให้ทารกมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจเสียงดังหรือเร็ว ตัวเขียว แสดงอาการคล้ายรู้สึกอึดอัดขณะหายใจ เป็นต้น

ภาวะ RDS พบมากในทารกคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนช่วงอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นภาวะที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้การพัฒนาหรือการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทารกล้มเหลวจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต 

RDS

อาการของ RDS 

ทารกที่มีภาวะ RDS จะแสดงอาการภายในเวลาไม่นานหลังการคลอด โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่าทารกจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือระบบอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น

  • หายใจเร็ว หายใจเสียงดังหรือมีเสียงร้องคราง จมูกบานหรือกว้างขึ้นขณะหายใจ
  • หยุดหายใจเป็นเวลาสั้น ๆ
  • หน้าอกบุ๋มหรือช่องระหว่างซี่โครงยุบลงเนื่องจากหายใจมาก 
  • ริมผีปาก ปลายมือและปลายเท้าเป็นสีม่วงคล้ำ เพราะออกซิเจนไม่เพียงพอ
  • ปริมาณปัสสาวะลดลง

สาเหตุของ RDS

ภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบากเกิดจากร่างกายของเด็กทารกมีปริมาณสารลดแรงตึงผิวไม่เพียงพอ เนื่องจากปอดพัฒนาได้ไม่เต็มที่ โดยสารดังกล่าวจะถูกผลิตขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยเคลือบผิวเยื่อบุถุงลมเพื่อช่วยให้การกักเก็บหรือปล่อยลมออกจากถุงลมภายในปอดทำงานได้อย่างปกติ จึงมักพบภาวะนี้ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้ทารกเกิดภาวะ RDS เช่น สมาชิกในครอบครัวเคยป่วยด้วยอาการดังกล่าว มารดาเป็นโรคเบาหวาน การตั้งครรภ์แฝด การผ่าคลอดหรือการคลอดก่อนกำหนด การคลอดเร็ว และปัญหาการคลอดที่ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดไปสู่ทารกลดลง เป็นต้น

การวินิจฉัย RDS

หากแพทย์สงสัยว่าทารกมีภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบาก แพทย์จะตรวจร่างกายและอาจตรวจด้วยวิธีอื่น เพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติ 
  • การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณปอด
  • การทดสอบด้วยเครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximetry Test) เพื่อตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดของทารกผ่านเซนเซอร์ที่ติดอยู่บริเวณปลายนิ้ว หู หรือนิ้วเท้า และการเจาะเลือดประเมินระดับออกซิเจนโดยตรง

การรักษา RDS 

แพทย์จะมุ่งเน้นการรักษาเพื่อช่วยให้ระบบทางเดินหายใจของทารกทำงานได้ปกติ และช่วยให้ทารกสามารถหายใจได้ด้วยตนเอง โดยมีวิธีการรักษาดังนี้

การให้สารลดแรงตึงผิวของถุงลมทดแทน (Surfactant Replacement Therapy) 

แพทย์จะให้สารลดแรงตึงผิวเพื่อช่วยให้ถุงลมภายในปอดทำงานได้อย่างปกติ หลังจากทารกได้รับสารดังกล่าวแล้ว แพทย์จะใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้ทารกหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยจำนวนครั้งของการให้สารลดแรงตึงผิวของถุงลมจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ

การใส่เครื่องช่วยหายใจแบบท่อหรือเครื่องช่วยหายใจด้วยแรงดันบวกอย่างต่อเนื่องทางจมูก

แพทย์จะใส่เครื่องช่วยหายใจแบบท่อโดยจะสอดท่อเข้าไปบริเวณหลอดลม หรือใช้เครื่องช่วยหายใจด้วยแรงดันบวกอย่างต่อเนื่องทางจมูกโดยเป็นการให้ออกซิเจนผ่านหน้ากากอันเล็ก วิธีการรักษารูปแบบนี้จะช่วยป้องกันการแฟบของถุงลมปอดและเสริมการเปลี่ยนก๊าซที่ดีขึ้น   

การรักษาด้วยออกซิเจน (Oxygen Therapy)

เป็นการให้ออกซิเจนที่มีความเข้มข้นสูงกว่าปกติ เพื่อรักษาและป้องกันภาวะพร่องออกซิเจน ซึ่งออกซิเจนจะถูกส่งเข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ ผ่านปอดโดยใช้เครื่องช่วยหายใจด้วยแรงดันบวกอย่างต่อเนื่องทางจมูก แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงก็อาจให้ออกซิเจนโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วย 

ภาวะแทรกซ้อนของ RDS 

ภาวะ RDS อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนในปริมาณที่ไม่เหมาะสม จึงอาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนหรือความผิดปกติอื่น ๆ ในระยะยาวแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล เช่น

  • เกิดอากาศสะสมบริเวณรอบหัวใจหรือทรวงอก
  • มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิดและภาวะปอดแฟบ เป็นต้น
  • ความผิดปกติในด้านพัฒนาการด้านต่าง ๆ เช่น ความบกพร่องทางสติปัญญา มีปัญหาด้านการมองเห็น เป็นต้น
  • เกิดการแข็งตัวของเลือด ลิ่มเลือด
  • มีเลือดออกในสมองหรือปอด
  • ติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ไตวาย

การป้องกัน RDS 

การลดความเสี่ยงที่ทารกจะมีภาวะ RDS คือการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด หากทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงดูแลตนเองอย่างเหมาะสมในระหว่างตั้งครรภ์ด้วยการใส่ใจในการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และเพียงพอต่อร่างกาย งดการสูบบุหรี่ งดใช้สารเสพติด หรืองดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ป้องกันการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ ในกรณีที่ตนเองมีโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ควรเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม  

นอกจากนี้ หากมีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด แพทย์จะจ่ายยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อช่วยการพัฒนาปอด สมอง ไต และช่วยการสร้างสารลดแรงตึงผิวในทารก ซึ่งยาดังกล่าวยังช่วยลดความเสี่ยงของทารกต่อการเกิดภาวะ RDS หรือหากทารกอยู่ในภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบากก็จะมีอาการที่ไม่รุนแรง