ความหมาย ภาวะคอเอียง (Torticollis)
Torticollis (ภาวะคอเอียงหรือคอบิดเอียง) เป็นภาวะผิดปกติที่คอจะบิดหรือเอียงจนสังเกตได้ว่าศีรษะและคางเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดคอ ตึงกล้ามเนื้อบริเวณลำคอ หันศีรษะลำบาก และเกิดอาการปวดศีรษะ
Torticollis เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อด้านข้างลำคอบริเวณที่อยู่ระหว่างด้านหลังใบหูและกระดูกไหปลาร้าหดสั้นลงผิดปกติ โดยภาวะนี้สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนมากมักพบได้ในเด็กและทารกแรกเกิด
อาการของ Torticollis
ผู้ที่ป่วยเป็น Torticollis มักพบอาการแตกต่างกันไปและอาการจะค่อย ๆ แย่ลง โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น
- คอเอียง หันศีรษะลำบาก
- รู้สึกปวดบริเวณกล้ามเนื้อคอ และกระดูกสันหลัง
- กล้ามเนื้อบริเวณคอมีอาการตึง และเกร็ง
- คางเอียงหรืออยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ
- ปวดศีรษะ
- ไหล่สองข้างเอียง หรือตกไม่เท่ากัน
- กล้ามเนื้อคอบวม
ในกรณีเด็กเล็กหรือทารกแรกเกิดที่ป่วยเป็น Torticollis ผู้ปกครองอาจสังเกตอาการในเบื้องต้นได้จากการที่ศีรษะของเด็กจะเอียงไปด้านในด้านหนึ่งผิดปกติ เกิดก้อนเนื้อบริเวณคอ หันศีรษะลำบาก มักหันหน้าเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ค่อยหันตัวตามขณะเรียก มักดื่มนมแม่เพียงข้างเดียว ในบางกรณีอาจพบว่าเด็กมีภาวะหน้าแบนและมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว
นอกจากภาวะ Torticollis แล้ว อาการในข้างต้นอาจเป็นสัญญาณของโรคและภาวะผิดปกติอื่นได้ หากพบลักษณะอาการดังกล่าว โดยเฉพาะในบุตรหลาน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
สาเหตุของ Torticollis
ทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดที่ส่งผลให้เกิด Torticollis แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ในกรณีเด็กเล็กหรือทารก Torticollis อาจเกี่ยวข้องกับการที่ทารกถูกกดทับขณะอยู่ในครรภ์มารดา การอยู่ผิดท่าขณะอยู่ในครรภ์ กรรมพันธุ์ หรือการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิดขณะทำคลอด
ส่วนปัจจัยอื่นที่อาจพบได้ในผู้ป่วยทั่วไป เช่น กล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดบริเวณลำคอเกิดความเสียหาย กระดูกข้อบริเวณกระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกทับเส้น (Herniated Disc) และเส้นเอ็นบริเวณลำคอเกิดความเสียหายจากการติดเชื้อ การเคลื่อนไหวลำคออย่างรุนแรง หรือการนอนผิดท่า เป็นต้น
การวินิจฉัย Torticollis
ในการวินิจฉัย Torticollis แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อดูการหันศีรษะ การเคลื่อนไหวคอ และความผิดปกติของกล้ามเนื้อบริเวณคอของผู้ป่วย นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจใช้วิธีตรวจทางการแพทย์อื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ เช่น
- การเอกซเรย์ การอัลตราซาวด์ หรือการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) ในบริเวณศีรษะและลำคอของผู้ป่วยเพื่อตรวจดูความผิดปกติ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyogram: EMG) เพื่อตรวจดูความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในกล้ามเนื้อ
- การตรวจเลือด เพื่อหาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับ Torticollis
การรักษา Torticollis
ในการรักษา Torticollis แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อย่างอายุ สุขภาพโดยรวม ประวัติทางด้านสุขภาพ ความรุนแรงของอาการ และความเหมาะสมต่อผู้ป่วย
ในกรณีผู้ป่วยเด็กเล็กและทารกที่เป็น Torticollis ตั้งแต่กำเนิด แพทย์มักจะรักษาโดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิดช่วยยืดกล้ามเนื้อด้านข้างลำคอข้างที่หดสั้นผิดปกติ และช่วยให้กล้ามเนื้อด้านข้างลำคออีกข้างแข็งแรงขึ้น รวมถึงแนะนำท่าบริหารร่างกายที่ช่วยยืดกล้ามเนื้อคอให้ผู้ปกครองสามารถช่วยออกกำลังกายให้บุตรหลานได้เองที่บ้าน ซึ่งแพทย์จะคอยนัดตรวจเพื่อติดตามอาการเป็นระยะ ๆ
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ปกครองช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างของเด็กร่วมด้วย เช่น หมั่นให้เด็กหันศีรษะบ่อย ๆ ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา และเปลี่ยนท่าให้นม โดยให้เด็กดื่มนมในท่าที่ต้องหันศีรษะในด้านที่มีอาการบ่อย ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจพิจารณาวิธีการรักษาเด็กที่ป่วยเป็น Torticollis ด้วยการผ่าตัดหากเด็กไม่ตอบสนองต่อการรักษาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในข้างต้น หรือเด็กเริ่มเข้าสู่ช่วงอายุ 3–5 ปี
ในกรณีผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็น Torticollis ตั้งแต่กำเนิด แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับโรคหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ ที่แพทย์เห็นว่าอาจส่งผลให้เกิด Torticollis โดยวิธีการรักษาที่แพทย์อาจใช้ เช่น
- การกายภาพบำบัด เช่น การประคบร้อน การใช้เครื่องมือช่วยยืดกล้ามเนื้อคอ (Cervical Traction) หรือการนวดบริเวณคอ เป็นต้น
- การออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อหรือการใส่ปลอกคอ เพื่อบรรเทาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาบาโคลเฟน (Baclofen) หรือยาฉีดโบทูไลนัม (Botulinum) เป็นต้น
- การผ่าตัดกระดูกสันหลังในกรณีที่ผู้ป่วยมีสาเหตุมาจากการที่กระดูกสันหลังเคลื่อน
ภาวะแทรกซ้อนของ Torticollis
ผู้ที่ป่วยเป็น Torticollis เรื้อรังหรืออาการมีความรุนแรง อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น กล้ามเนื้อบริเวณคอบวม อาการปวดเรื้อรัง อาการทางระบบประสาท รวมไปถึงภาวะทางจิตใจ อย่างภาวะซึมเศร้า
ในกรณีเด็กที่ป่วยเป็น Torticollis อาจส่งผลให้เด็กเกิดภาวะหัวแบนจากการที่นอนท่าใดท่าหนึ่งมากเกินไป หันศีรษะได้น้อยลง การเคลื่อนไหวของดวงตามีปัญหา รับประทานอาหารลำบาก คลานและทรงตัวลำบาก ใบหน้าผิดรูปจากการที่กล้ามเนื้อบางส่วนเคลื่อนไหวน้อยลง มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นและการได้ยิน หรือมีพัฒนาการบางอย่างช้า เช่น การนั่ง การเดิน หรือด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น
การป้องกัน Torticollis
การป้องกัน Torticollis อาจทำได้ยาก เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เบื้องต้น ผู้ปกครองที่พบว่าบุตรหลานอาจกำลังป่วยเป็น Torticollis หรือผู้ที่พบอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของ Torticollis ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้