ภาวะน้ำนมไหล (Galactorrhea)

ความหมาย ภาวะน้ำนมไหล (Galactorrhea)

ภาวะน้ำนมไหล (Galactorrhea) เป็นภาวะที่มีน้ำนมหรือของเหลวลักษณะคล้ายน้ำนมไหลออกจากเต้านมข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ซึ่งภาวะน้ำนมไหลไม่ได้จัดเป็นโรคโดยตรง แต่อาการน้ำนมไหลอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติในร่างกายจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผลข้างเคียงจากยาที่ใช้อยู่ หรือโรคบางอย่าง

ภาวะน้ำนมไหลพบได้ทั้งเพศหญิงและชาย แต่จะพบบ่อยในเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 20–35 ปี และผู้หญิงที่เคยตั้งครรภ์มาก่อน นอกจากนี้ อาจพบในทารกแรกเกิดด้วย แต่จะพบได้น้อยมาก อาการน้ำนมไหลอาจหายไปได้เอง หรือบางครั้งอาจต้องรับประทานยาและผ่าตัดตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ

ภาวะน้ำนมไหล (Galactorrhea)

อาการของภาวะน้ำนมไหล

อาการหลักของภาวะน้ำนมไหลคือ มีของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนม หรือในบางกรณีอาจมีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองหรือเขียวไหลออกมาจากเต้านมข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง โดยที่ไม่ได้กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ซึ่งน้ำนมอาจไหลออกมาเองตลอดเวลา หรือไหลเป็นระยะเมื่อบีบที่เต้านม โดยแต่ละคนอาจมีปริมาณน้ำนมที่ไหลออกมามากหรือน้อยแตกต่างกัน

อาการอื่นของผู้มีภาวะน้ำนมไหล เช่น

ในบางครั้ง น้ำนมอาจไหลออกมาเมื่อกระตุ้นหรือสัมผัสเต้านมขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติและจะหายได้เอง แต่กรณีที่มีน้ำนมไหลออกจากเต้านมข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และไม่ได้เกิดจากการสัมผัสเต้านม ควรไปพบแพทย์ และในกรณีที่ทารกมีอาการน้ำนมไหลอย่างต่อเนื่อง ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

นอกจากนี้ หากของเหลวที่ไหลออกจากเต้านมมีสีเหลือง เป็นเลือด และคลำพบก้อนเนื้อที่เต้านม ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งเต้านม

สาเหตุของภาวะน้ำนมไหล

น้ำนมไหลอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งคาดว่าเนื้อเยื่อที่เต้านมของผู้ป่วยอาจไวต่อฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ที่ผลิตน้ำนมในเลือดเป็นพิเศษ ทำให้มีน้ำนมไหลแม้ฮอร์โมนโปรแลคตินจะอยู่ในระดับปกติ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

  • เนื้องอกโปรแลคติโนมา (Prolactinoma) ซึ่งเกิดบริเวณต่อมใต้สมอง เมื่อเนื้องอกกดทับต่อมใต้สมองจะกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนโปรแลคตินออกมามากกว่าปกติ ซึ่งโปรแลคตินเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำนมหลังคลอดบุตร ร่างกายจึงกระตุ้นให้น้ำนมไหลออกมา
  • โรคประจำตัว เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) โรคไตเรื้อรัง เนื้องอกชนิดอื่น มะเร็งปอดบางชนิด และโรคตับ เช่น ตับแข็ง
  • การผ่าตัด แผลไฟไหม้ หรือการบาดเจ็บที่ทรวงอกและไขสันหลัง
  • การสัมผัสและเสียดสีบริเวณเต้านมมากเกินไป เช่น ขณะมีเพศสัมพันธ์ ขณะตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง และการสวมเสื้อผ้าและชุดชั้นในที่รัดรูป
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ยาต้านเศร้า ยารักษาอาการทางจิต ยากล่อมประสาท (Sedative) ยาลดความดันโลหิต ยาลดกรด (Antacids) และยากลุ่มโอปิออยด์
  • การใช้อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรบางชนิด เช่น ผักชีล้อม (Fennel) เทียนสัตตบุษย์ (Anise) ฟีนูกรีก (Fenugreek)
  • การใช้สารเสพติด เช่น โคเคน กัญชา
  • การตั้งครรภ์ และความเครียดเรื้อรัง ที่ทำให้ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินเพิ่มขึ้น
  • การขาดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ในเพศชาย ซึ่งทำให้มีอาการน้ำนมไหล เต้านมขยายใหญ่ คัดเต้านม ความต้องการทางเพศลดลง และหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของหญิงตั้งครรภ์สูงผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผ่านรกเข้าสู่กระแสเลือดของทารกในครรภ์ ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเต้านมของทารกมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีอาการน้ำนมไหล

การวินิจฉัยภาวะน้ำนมไหล

แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพ การใช้ยา และการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อหาสาเหตุของภาวะน้ำนมไหล รวมทั้งตรวจเต้านมและบริเวณรอบหัวนมเพื่อตรวจดูอาการน้ำนมไหล และคลำตรวจหาก้อนเนื้อหรือเนื้อเยื่อเต้านมที่หนาตัวขึ้น ซึ่งอาจเป็นสัญญาของเนื้องอกที่เต้านม นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น

  • การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับฮอร์โมนโปรแลคติน หากระดับโปรแลคตินสูงขึ้น แพทย์มักจะตรวจระดับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) ด้วย
  • การตรวจน้ำนมที่ไหลจากเต้านมเพื่อตรวจปริมาณไขมันที่อยู่ในน้ำนม กรณีที่เคยตั้งครรภ์มาก่อน
  • การตรวจการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยหญิง เนื่องจากการตั้งครรภ์อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมา
  • การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) และซีที แสกน (CT Scan) สมองเพื่อตรวจหาเนื้องอกและความผิดปกติบริเวณต่อมใต้สมอง กรณีที่พบว่าฮอร์โมนโปรแลคตินสูงจากการตรวจเลือด
  • การตรวจแมมโมแกรม (Mamogram) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อตรวจเนื้อเยื่อเต้านมกรณีที่แพทย์พบก้อนที่เต้านม หรือพบความผิดปกติของเต้านมหรือหัวนม

นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งให้หยุดใช้ยาที่ใช้อยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ หากแพทย์สงสัยว่าภาวะน้ำนมไหลเกิดจากการใช้ยา

การรักษาภาวะน้ำนมไหล

บางครั้งน้ำนมไหลอาจหายได้เองด้วยการดูแลตัวเองที่บ้านโดยไม่ต้องรับการรักษา เช่น หลีกเลี่ยงการจับ และบีบนวดบริเวณเต้านมขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรคลำเพื่อตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองบ่อยเกินกว่าเดือนละ 1 ครั้ง สวมเสื้อและชุดชั้นในที่มีขนาดพอดี ไม่คับแน่นจนเสียดสีบริเวณเต้านมมากเกินไป และใส่แผ่นซับน้ำนมรองบริเวณหัวนมด้านในชุดชั้นใน หากมีน้ำนมไหลซึมออกมาที่เสื้อผ้า

อย่างไรก็ตาม กรณีที่อาการน้ำนมไหลไม่หายไปเอง อาจต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งจะแตกต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น

หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดภาวะน้ำนมไหล

แพทย์อาจให้ปรับปริมาณยา หยุดยาที่ใช้อยู่ และเปลี่ยนยา หากการใช้ยารักษาโรคประจำตัวเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการน้ำนมไหล ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการใช้ยาตามแต่ละบุคคล ไม่ควรปรับเปลี่ยนหรือหยุดยาเองกะทันหัน เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้

รับประทานยาลดการสร้างฮอร์โมนโปรแลคติน

รับประทานยาที่ช่วยลดหรือยับยั้งการสร้างฮอร์โมนโปรแลคติน และกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนโดปามีน (Dopamine) เช่น ยาโบรโมคริปทีน (Bromocriptine) และยาคาเบอร์โกลีน (Cabergoline) ซึ่งยาเหล่านี้สามารถช่วยลดขนาดของเนื้องอกโปรแลคติโนมาและเนื้องอกอื่น ๆ ได้ด้วย ทั้งนี้ การใช้ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และคลื่นไส้

รักษาโรคประจำตัว

หลายกรณีที่ภาวะน้ำนมไหลเกิดจากโรคบางชนิด การรักษาโรคเหล่านี้จะช่วยให้อาการน้ำนมไหลหายดีได้ด้วย เช่น รักษาภาวะขาดไทรอยด์ด้วยการรับประทานยา เช่น เลโวไทรอกซีน (Levothyroxine) และยาบำบัดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid Replacement Therapy) รวมทั้งการรับประทานยา การฉายแสง หรือการผ่าตัดเพื่อรักษาเนื้องอกโปรแลคติโนมา และเนื้องอกชนิดอื่น

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะน้ำนมไหล

ยาบางชนิดที่ใช้รักษาภาวะน้ำนมไหลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีบุตรยาก และปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น นอกจากนี้ เนื้องอกในต่อมใต้สมองจะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน แพทย์อาจให้รับประทานยาคุมกำเนิดที่ช่วยเสริมฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

การป้องกันน้ำนมไหล

ภาวะน้ำนมไหลป้องกันได้ยาก แต่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดอาการได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัส บีบ และตรวจเต้านมอย่างรุนแรงหรือบ่อยเกินไป และสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่คับและเสียดสีกับผิวบริเวณเต้านมหรือหัวนม