ภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism)

ความหมาย ภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism)

Priapism หรือภาวะองคชาตแข็งค้าง เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นเนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนออกจากบริเวณองคชาตได้ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวด องคชาตมีการแข็งตัวนานมากกว่า 4 ชั่วโมง และอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้แม้ไม่มีการตื่นตัวทางเพศ

Priapism เป็นภาวะที่พบได้ในเพศชายทุกวัย โดยเฉพาะช่วงอายุประมาณ 5–10 ปี และ 20–50 ปี ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นที่มีความรุนแรงตามมา อย่างภาวะหย่อนสมรรภาพทางเพศ

ภาวะองคชาตแข็งค้าง (Priapism)

อาการของ Priapism

Priapism แบ่งออกได้ 2 รูปแบบ คือ

  • Ischemic Priapism
    เป็นรูปแบบที่พบได้มากที่สุด โดยเลือดไม่สามารถไหลเวียนออกจากองคชาต ทำให้องคชาตหดตัวกลับไม่ได้ อาจแข็งตัวนานมากกว่า 4 ชั่วโมงหรือแข็งตัวโดยไม่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองทางเพศ แข็งบริเวณลำองคชาตแต่นิ่มในส่วนปลาย และอาจมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆIschemic Priapism ยังมีรูปแบบย่อยลงไปคือ Stuttering Priapism อาการของผู้ป่วยอาจเริ่มจากองคชาตแข็งตัวโดยไม่ได้ตั้งใจและรู้สึกเจ็บเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ โดยอาการอาจมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มักพบได้มากในผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease: SCD) ซึ่งเซลล์เม็ดเลือดแดงจะอุดกั้นเส้นเลือดภายในองคชาตและเกิดภาวะเลือดคั่ง
  • Nonischemic Priapism
    เป็นรูปแบบที่พบได้น้อย โดยเลือดจะไหลเวียนเข้าไปในบริเวณองคชาตเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการปวดเนื่องจากภาวะนี้มักไม่ก่อให้เกิดภาวะขาดเลือดของเนื้อเยื่อ จึงทำให้ไม่มีการตายของเนื้อเยื่อตามมา

หากพบว่าตนเองมีอาการองคชาตแข็งตัวติดต่อกันนานมากกว่า 4 ชั่วโมง ควรพบแพทย์ทันที เพราะเป็นภาวะที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ในกรณีที่มีอาการแข็งตัวแบบรู้สึกเจ็บเกิดขึ้นซ้ำหรือบ่อย ๆ และหายไปได้เอง ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและป้องกันอาการผิดปกติที่อาจตามมาในอนาคต  

สาเหตุของ Priapism 

ภาวะ Priapism เกิดขึ้นเมื่อระบบการทำงานภายในองคชาตบางส่วนทำงานผิดปกติ โดยอาจเป็นระบบไหลเวียนโลหิต กล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ไหลเข้าสู่องคชาตเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังมีการแข็งตัวขององคชาตอยู่ ซึ่งความผิดปกติภายในองคชาตอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

โรคเลือดหรือความผิดปกติของเม็ดเลือด

ภาวะ Priapism อาจเกี่ยวข้องกับโรคเลือดหรือความผิดปกติของเม็ดเลือด เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว  มะเร็งเม็ดเลือดขาว ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนมากที่มีอาการองคชาตแข็งค้างจะเป็นผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดจะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนโลหิตออกจากองคชาต

การใช้ยา

ภาวะ Priapism อาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดหรือการใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น

  • การใช้ยาแบบฉีดเข้าในบริเวณองคชาตโดยตรง เพื่อรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อาทิ ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ยาอัลโปรสเตดิล (Alprostadil) ยาปาปาเวอรีน (Papaverine) หรือเฟนโตลามีน (Phentolamine) 
  • ยารักษาโรคสมาธิสั้น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล หรือโรคทางจิตเวช
  • กลุ่มยาแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha Blocker)
  • ยาที่ช่วยในการไหลเวียนโลหิต
  • การรับประทานฮอร์โมน

นอกจากนี้ ภาวะ Priapism อาจเป็นผลจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การได้รับบาดเจ็บหรือป่วยด้วยโรคมะเร็งในบริเวณเชิงกราน องคชาต ขาหนีบและก้น ความผิดปกติทางระบบประสาทเนื่องจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง โรคซิฟิลิส หรือความผิดปกติของเมตาบอลิก พิษจากสัตว์กัดต่อย เป็นต้น

การวินิจฉัย Priapism 

เนื่องจากภาวะ Priapism จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติสุขภาพและอาการผิดปกติ เช่น ระยะเวลาแข็งตัวขององคชาตที่ผิดปกติไป ระยะเวลาของการแข็งตัวปกติ การใช้ยาหรือสารเสพติดโดยเฉพาะกัญชาและโคเคน หรือเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังการได้รับบาดเจ็บในบริเวณดังกล่าว เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะนำข้อมูลต่าง ๆ ไปวินิจฉัยร่วมกับประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกาย

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น

  • การตรวจปริมาณก๊าซในเลือด (Blood Gas Measurement) เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ช่วยให้ทราบถึงรูปแบบของภาวะ Priapism ระยะเวลาการเกิดอาการหรือความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น โดยจะนำเลือดจากบริเวณองคชาตมาตรวจปริมาณก๊าซในเลือดในห้องปฏิบัติการ 
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจนับปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยหรือตรวจพบอาการของโรคเลือด
  • การทำอัลตราซาวด์ (Ultrasound) โดยใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Doppler Ultrasonography) เพื่อตรวจดูลักษณะการไหลเวียนเลือดภายในองคชาต ทำให้ระบุประเภทของภาวะ Priapism ความผิดปกติหรืออาการบาดเจ็บที่อาจเป็นสาเหตุของ Priapism 
  • การทดสอบด้านพิษวิทยา (Toxicology Test) โดยการนำปัสสาวะของผู้ป่วยไปตรวจหาสารเสพติดที่อาจเป็นสาเหตุให้องคชาตแข็งตัวผิดปกติ

การรักษา Priapism 

หากผู้ป่วยมีภาวะ Nonischemic Priapism อาการที่เกิดขึ้นมักจะหายไปเองได้โดยไม่ต้องรักษา เนื่องจากเป็นอาการที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองคชาต แต่แพทย์จะให้ผู้ป่วยสังเกตอาการและบรรเทาอาการด้วยการประคบน้ำแข็งหรือวิธีการต่าง ๆ เพื่อลดอาการบวม นอกจากนี้ บางกรณีอาจรักษาด้วยการผ่าตัด โดยแพทย์อาจผ่าตัดใส่อุปกรณ์ดูดซับเพื่อสกัดการไหลเวียนของเลือดไปสู่องคชาต บางรายอาจใช้การผ่าตัดแก้ไขเส้นเลือดหรือเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการได้รับการบาดเจ็บ

ในกรณีของ Ischemic Priapism เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด ซึ่งแพทย์จะรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีต่อไปนี้

การระบายเลือด

แพทย์จะใช้ยาชาก่อนใช้เข็มขนาดเล็กดูดเลือดส่วนเกินออกจนกว่าอาการแข็งตัวจะหายไป ซึ่งการรักษาวิธีนี้จะช่วยลดความเจ็บปวด ระบายเลือดที่มีระดับออกซิเจนต่ำและช่วยบรรเทาอาการแข็งตัว 

การใช้ยา

แพทย์จะใช้ยารักษาควบคู่กับการระบายเลือด โดยเป็นยากระตุ้นระบบประสาทซิย์มพาเธติค อย่างยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) ฉีดเข้าไปในบริเวณองคชาต เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนออกจากองคชาตได้มากขึ้น และแพทย์จะสังเกตผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้น อย่างอาการปวดหัว เวียนศีรษะ ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ 

ภาวะแทรกซ้อนของ Priapism 

ภาวะ Priapism อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรงหากเลือดที่ไม่มีออกซิเจนคั่งอยู่ภายในองคชาตเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณองคชาตได้รับความเสียหายและเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

การป้องกัน Priapism 

ภาวะ Priapism บางประเภทสามารถป้องกันได้โดยรักษาโรคที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปกตินี้ และหากต้องใช้ยาที่มีผลข้างเคียงให้เกิดภาวะ Priapism ควรพูดคุยกับแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อปรับเปลี่ยนยา ไม่ควรปรับหรือหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง