ความหมาย ภาวะเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติ (Thrombocytosis)
Thrombocytosis (ภาวะเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติ) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับเกล็ดเลือดมากผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดบริเวณอวัยวะต่าง ๆ จนนำไปสู่อาการผิดปกติทางร่างกาย หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
ภาวะเกล็ดเลือดสูงกว่าปกติแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่ทราบสาเหตุ (Secondary Thrombocytosis) โดยอาจเป็นผลมาจากโรค ภาวะผิดปกติทางร่างกาย หรือปัญหาทางสุขภาพบางอย่าง และชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ (Primary Thrombocythemia) ที่แพทย์มักตรวจพบจากการตรวจเลือดหรือการตรวจโรคอื่น เนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากมักไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ
อาการของ Thrombocytosis
ภาวะ Thrombocytosis มักไม่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ หากพบอาการก็มักแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับโรคหรือภาวะผิดปกติที่เป็นสาเหตุของภาวะนี้
ในบางกรณี ผู้ที่มีภาวะ Thrombocytosis อาจเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดตามร่างกายจนนำไปสู่อาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น
- ปวดศีรษะ
- หน้ามืด เวียนศีรษะ
- คลื่นไส้
- อ่อนเพลีย
- หายใจไม่อิ่ม
- รู้สึกเจ็บหรือปวดบริเวณแขน หลัง คอ ขากรรไกร หรือช่วงท้อง
- รู้สึกชาหรือคล้ายมีเข็มทิ่มบริเวณเท้าหรือมือ
- บริเวณเท้าหรือมือแดง แสบร้อน หรือปวดตุบ ๆ
- เจ็บหน้าอก
- กระบวนการรับรู้และการสื่อสารเปลี่ยนไป
- เป็นลม
- ชัก
นอกจากอาการจากโรคหรือภาวะผิดปกติที่เป็นสาเหตุของภาวะนี้ หรืออาการจากการเกิดลิ่มเลือด ผู้ที่มีภาวะ Thrombocytosis อาจพบอาการเลือดออกง่ายร่วมด้วย เช่น เลือดกำเดาไหล เกิดรอยช้ำตามร่างกาย เลือดออกบริเวณเหงือก อุจจาระปนเลือด หรือปัสสาวะปนเลือด เป็นต้น
สาเหตุของ Thrombocytosis
โดยปกติ ไขกระดูกจะมีหน้าที่ผลิตสเต็มเซลล์ (Stem Cells) หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดต่าง ๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด เป็นต้น
ภาวะ Thrombocytosis เป็นภาวะที่ไขกระดูกผลิตเกล็ดเลือดออกมามากเกินไป โดยมีทั้งในลักษณะปกติและผิดปกติ ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน แต่ชนิดที่พบได้บ่อยมักเป็นชนิดที่เกล็ดเลือดมีลักษณะปกติ ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักพบว่าภาวะที่ไขกระดูกผลิตเกล็ดเลือดออกมามากเกินไปมีสาเหตุมาจากปัจจัยบางอย่าง เช่น
- โรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ภาวะโลหิตจางจากการแตกของเม็ดเลือดแดง (Hemolytic Anemia) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis) เป็นต้น
- การเสียเลือดจำนวนมาก
- การติดเชื้อ
- การผ่าตัดนำม้ามออกจากร่างกาย
- ผลค้างเคียงจากยาบางชนิด
ในกรณีที่พบได้น้อย อย่างเกล็ดเลือดมีลักษณะผิดปกติ แพทย์มักหาสาเหตุของผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่พบ แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีนบางชนิด
การวินิจฉัย Thrombocytosis
ในเบื้องต้นจะเป็นการสอบถามอาการผิดปกติ ประวัติต่าง ๆ ของผู้ป่วย ทั้งการใช้ยา การเข้ารักษาตัวจากโรคต่าง ๆ พฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการตรวจเลือดเพื่อดูระดับเกล็ดเลือดเป็นระยะ ๆ
หากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยมีภาวะ Thrombocytosis จะมีการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ และนำผลที่ได้ไปใช้พิจารณาเลือกวิธีการรักษา โดยวิธีการตรวจที่อาจใช้วินิจฉัยผู้ป่วย เช่น ตรวจดูระดับธาตุเหล็กในเลือด ตรวจดูสัญญาณของการติดเชื้อ ตรวจหามะเร็งบางชนิด หรือตรวจไขกระดูก เป็นต้น
การรักษา Thrombocytosis
โดยส่วนใหญ่ หากผู้ป่วยที่มีภาวะ Thrombocytosis ทั้งชนิดที่ทราบสาเหตุและไม่ทราบสาเหตุ ไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ แพทย์อาจเพียงแนะนำให้ผู้ป่วยมาตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อสังเกตอาการเท่านั้น
ส่วนในรายที่ต้องรับการรักษา แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามความเหมาะสมตามแต่ละคน หากตรวจพบสาเหตุ วิธีการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับโรคหรือภาวะผิดปกติที่เป็นต้นเหตุ แต่หากไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จะใช้เกณฑ์บางอย่างในการพิจารณาว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการรักษาหรือไม่ เช่น
- อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
- พฤติกรรมการสูบบุหรี่
- มีประวัติการเกิดลิ่มเลือด หรือพบอาการเลือดออกตามร่างกาย
- มีโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายบางชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ระดับไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน เป็นต้น
หากผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ข้างต้น แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพรินในปริมาณต่ำ ยาไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea) หรือยาอินเตอร์เฟอรอนชนิด Alfa (Interferon Alfa) เป็นต้น
- การแยกเกล็ดเลือดออกจากเลือดหรือวิธี Plateletpheresis โดยแพทย์จะเจาะเลือดผู้ป่วยผ่านสายยางเข้าสู่เครื่องมือที่ช่วยแยกเกล็ดเลือดออกจากเลือด จากนั้นจะนำเลือดที่ได้กลับสู่ร่างกายของผู้ป่วยอีกครั้ง
ภาวะแทรกซ้อนของ Thrombocytosis
ผู้ที่มีภาวะ Thrombocytosis ส่วนใหญ่จะไม่พบภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่ภาวะนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด เช่น
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยเพศหญิงที่อยู่ในช่วงรับประทานยาคุมกำเนิด
- การแท้งบุตรหรือทารกมีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญโตหากผู้ป่วยอยู่ในช่วงตั้งครรภ์
- ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack)
- โรคหลอดเลือดสมอง หรือเส้นเลือดในสมองแตก (Stroke)
- ภาวะหัวใจขาดเลือด
นอกจากนี้ ภาวะ Thrombocytosis ยังอาจนำไปสู่โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) หรือมัยอีโลไฟโบรซิส (Myelofibrosis) แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย
การป้องกัน Thrombocytosis
ภาวะ Thrombocytosis มักเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยและบางกรณีก็ยังหาสาเหตุไม่พบ การป้องกันจึงทำได้ยาก ในเบื้องต้นอาจลดความเสี่ยงได้โดยการไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตามเกณฑ์หรือประจำปี หรือหากพบอาการผิดปกติใด ๆ ทางร่างกาย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ