มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal Cancer)

ความหมาย มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal Cancer)

มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal Cancer) คือโรคที่เกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อบริเวณกล่องเสียงได้รับความเสียหายและเจริญเติบโตผิดปกติ กลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง มักพบในผู้สูงอายุและพบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 

มะเร็งกล่องเสียงอาจเกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ รวมถึงเคยมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งกล่องเสียง ผู้ที่เป็นมะเร็งกล่องเสียงจะมีอาการบวมหรือพบก้อนนูนที่ลำคอ เสียงแหบ ปวดคอ ปวดหู หรือหายใจลำบาก ซึ่งยิ่งตรวจพบและรักษาได้เร็วเพียงใด ผู้ป่วยก็ยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตมากเท่านั้น

Laryngeal Cancer

สาเหตุของมะเร็งกล่องเสียง

ในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่ามะเร็งกล่องเสียงเกิดจากสาเหตุใด มีเพียงปัจจัยเสี่ยงทำให้เซลล์ที่บริเวณกล่องเสียงได้รับความเสียหายและเจริญเติบโตขึ้นผิดปกติ กลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในที่สุด ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกล่องเสียง มีดังนี้

  • การดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ที่มีส่วนประกอบของใบยาสูบ
  • สมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งกล่องเสียง
  • การรับประทานเนื้อแดง อาหารแปรรูป อาหารทอด และรับประทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ
  • การติดเชื้อเอชพีวี (Human Papilloma Virus) มักแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
  • การสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น แร่ใยหิน ถ่านหิน ขี้เลื่อย นิกเกิล ควันของดีเซล ควันของกรดซัลฟูริก ฟอร์มาลดีไฮด์ (สารเคมีที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสีหรือเครื่องสำอาง) ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (สารเคมีที่เป็นตัวทำละลายในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด)
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Fanconi Anemia)

อาการของมะเร็งกล่องเสียง

อาการของมะเร็งกล่องเสียงที่พบบ่อย ได้แก่

อาการข้างต้นอาจไม่ใช่สัญญาณหรืออาการของมะเร็งกล่องเสียงเสมอไป หากมีอาการต่อเนื่องนาน 1 สัปดาห์ขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาต่อไป

อาการของมะเร็งกล่องเสียงที่ควรไปพบแพทย์ 

หากมีอาการของโรคมะเร็งกล่องเสียง เช่น หายใจไม่อิ่ม หายใจมีเสียงหวีด รู้สึกเหมือนมีอะไรติดคอ หรือไอเป็นเลือด ควรรีบไปรับการตรวจวินิจฉัยมะเร็งจากแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ทันท่วงที 

การวินิจฉัยมะเร็งกล่องเสียง

หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการของมะเร็งกล่องเสียง เช่น เสียงแหบ ไออย่างหนัก แพทย์จะวินิจฉัยโดยเริ่มจากตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกาย สำรวจในช่องปาก ตรวจที่บริเวณลำคอว่ามีก้อนนูนหรือมีอาการบวมหรือไม่ จากนั้นอาจมีการวินิจฉัยโดยวิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังต่อไปนี้

  • การใช้กล้องส่องตรวจในโพรงจมูก (Nasal Endoscopy) โดยใช้ท่อขนาดเล็ก มีไฟส่องสว่างและกล้องอยู่ที่ปลายท่อ สอดเข้าทางรูจมูกลงไปยังลำคอ แพทย์อาจพ่นยาชาเพื่อลดระงับความรู้สึกที่บริเวณจมูกและคอก่อนการส่องกล้อง
  • การใช้กล้องส่องตรวจในกล่องเสียง (Laryngoscopy) ในกรณีที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการใช้กล้องส่องตรวจในโพรงจมูก ลักษณะจะคล้ายกัน เพียงแต่วิธีการนี้จะใช้ท่อที่มีขนาดยาวกว่าและสอดเข้าทางปาก อาจต้องใช้ยาสลบร่วมด้วยในขณะที่วินิจฉัยด้วยวิธีนี้
  • การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) โดยตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณกล่องเสียงไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง
  • การใช้เข็มเจาะเพื่อดูดเซลล์ไปตรวจ (Needle Aspiration) ในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีก้อนนูนเกิดขึ้นที่ลำคอ
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี (PET Scan) หรือการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อหาตำแหน่งของการเกิดมะเร็งและประเมินการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งกล่องเสียง การประเมินระยะการแพร่กระจายของมะเร็งจะเป็นขั้นตอนต่อไปที่จะเกิดขึ้นเพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม 

การรักษามะเร็งกล่องเสียง

วิธีการรักษามะเร็งกล่องเสียงจะขึ้นอยู่กับขนาดและระยะของมะเร็ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. การฉายรังสี 

การฉายรังสีโดยใช้แสงที่มีพลังงานสูงในการกำจัดเซลล์มะเร็ง มักใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในระยะแรก ๆ และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ หรือใช้รักษาร่วมกับการทำเคมีบำบัด การฉายรังสีอาจต้องรักษาประมาณ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องนาน 3-7 สัปดาห์ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ แต่จะมีอาการดีขึ้นหลังจบการรักษาไปแล้วประมาณ 2–3 สัปดาห์

2. การทำเคมีบำบัด 

การทำเคมีบำบัด โดยใช้ยาที่มีคุณสมบัติในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง รวมถึงป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำหลังการรักษา ใช้รักษาร่วมกับการฉายรังสีได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา แพทย์จะใช้ฉีดยาเข้าเส้นเลือดประมาณ 1 ครั้งทุก ๆ 3–4 สัปดาห์ ไม่เกิน 6 เดือน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ โดยจะมีอาการดีขึ้นหลังจบการรักษา

3. ยามุ่งเป้า

เป็นการรักษาโดยใช้ยาหรือสารอื่น ๆ เพื่อโจมตีเซลล์มะเร็งไม่ให้แพร่กระจายมากขึ้น โดยสำหรับการรักษามะเร็งกล่องเสียงแบบมุ่งเป้าจะใช้ยาซีทูซิแมบ (Cetuximab) เพื่อระงับโปรตีนที่ช่วยให้เซลล์มะเร็งเติบโต 

โดยอาจใช้ร่วมกับการฉายรังสีในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการทำเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็อาจมีการใช้ยาซีทูซีแมบร่วมกับยาสำหรับทำเคมีบำบัดด้วยเช่นกัน

4. การผ่าตัด 

การผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งกล่องเสียงจะแตกต่างกันไปตามระยะของมะเร็ง โดยในระยะแรกแพทย์จะผ่าตัดนำเนื้องอกออกมาโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับกล่องเสียง ระยะกลางแพทย์จะผ่าตัดกล่องเสียงและสายเสียงในส่วนที่ได้รับผลกระทบจากเซลล์มะเร็งออกเพียงบางส่วน ส่วนในะระยะหลัง จะเป็นการผ่าตัดกำจัดกล่องเสียงและสายเสียงทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากเซลล์มะเร็ง รวมถึงต่อมน้ำเหลืองหากมีการลุกลามของมะเร็ง

การผ่าตัดในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้วอาจส่งผลให้เสียงเปลี่ยน เสียงแหบ หายใจลำบาก หรือพูดไม่ได้ โดยกรณีที่หายใจลำบากหลังการผ่าตัดแพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเจาะคอเพื่อใช้หายใจแบบชั่วคราวหรือถาวร 

สำหรับกรณีที่พูดไม่ได้เนื่องจากนำกล่องเสียงออก แพทย์อาจให้ฝึกพูดโดยใช้ลมจากกระเพาะอาหารช่วย (Esophageal Speech) หรือใช้อุปกรณ์ช่วยอื่น เช่น กล่องเสียงเทียม  (Voice Prosthesis) และอุปกรณ์ช่วยพูด (Electrolarynx)

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งกล่องเสียง

หากปล่อยมะเร็งกล่องเสียงไว้จนไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดการลุกลามของเซลล์มะเร็ง และทำให้มีอาการมากขึ้น เช่น หายใจลำบาก กลืนลำบาก เสียงหาย เป็นก้อนที่คอ และก้อนอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นจนทำให้ไม่สามารถหายใจได้ รวมถึงเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด หลอดเลือด กระดูก 

นอกจากนี้ การรักษาด้วยการฉายแสงและเคมีบำบัดอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ รวมถึงวิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงด้วยการผ่าตัดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นกัน แต่ค่อนข้างน้อย 

การป้องกันมะเร็งกล่องเสียง

การป้องกันอาจทำได้ด้วยการลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งกล่องเสียง โดยการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ควรปฏิบัติได้ตามแนวทาง ดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ที่มีส่วนประกอบของใบยาสูบ
  • หลีกเลี่ยงหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป
  • ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันทุกครั้ง หากต้องทำงานใกล้ชิดกับสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง
  • รับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้สด โดยเฉพาะมะเขือเทศ ส้ม มะนาว น้ำมันมะกอก น้ำมันตับปลา เป็นต้น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งกล่องเสียง