ความหมาย มะเร็งปอด (Lung Cancer)
มะเร็งปอด (Lung Cancer) คือเซลล์ส่วนใดส่วนหนึ่งภายในปอดที่มีความผิดปกติ และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายจนอาจแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย ในบทความนี้จะกล่าวถึงเพียงมะเร็งปอดที่เริ่มต้นจากเนื้อเยื่อภายในปอดเอง (Primary Lung Cancer) เนื่องจากมะเร็งปอดที่ตรวจพบมีหลายชนิด
และเมื่อมีการแบ่งประเภทของมะเร็งปอดที่เกิดจากเนื้อเยื่อปอดเพียงอย่างเดียวโดยดูตามขนาดของเซลล์บริเวณที่เกิดมะเร็งจะพบได้บ่อยอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small Cell Lung Cancer) พบอัตราการเกิดได้บ่อยถึง 80–85% และมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) พบได้ประมาณ 10–15% อีกทั้งยังมีแนวโน้มในการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
อาการมะเร็งปอด
มะเร็งปอดส่วนมากจะไม่ค่อยแสดงอาการในระยะแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น สามารถสังเกตได้จาก
- ไอเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน
- ไอปนเลือด
- หายใจเหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบากเป็นระยะเวลานาน
- เจ็บหน้าอก
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุ
- ปวดหรือเจ็บขณะหายใจหรือไอ
นอกจากนี้ยังมีบางอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่พบได้น้อย เช่น หายใจมีเสียงวีด รูปร่างของปลายนิ้วและเล็บเปลี่ยนแปลงไป ไข้ขึ้นสูง กลืนอาหารลำบาก เสียงแหบ ใบหน้าและคอมีอาการบวม
สาเหตุของมะเร็งปอด
มะเร็งปอดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
การสูบบุหรี่
เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งชนิดนี้ถึง 85% ของสาเหตุการเกิดทั้งหมด เนื่องจากภายในบุหรี่ประกอบไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายและยังมีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด ที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งปอด รวมไปถึงมะเร็งชนิดอื่นในภายหลังอย่างมะเร็งในช่องปากและมะเร็งหลอดอาหารได้ นอกจากนี้ยาสูบประเภทอื่น เช่น ยานัด ซิการ์ ยาเส้น กัญชาผสมบุหรี่ ก็ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอดได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
สารก่อมะเร็งเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปทำลายเนื้อเยื่อภายในปอดได้ทันที ซึ่งปกติร่างกายจะพยายามซ่อมแซมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่หากมีการสูดดมเข้าไปมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดความเสียหายกับเซลล์มากขึ้นจนร่างกายซ่อมแซมไม่ทัน กระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ที่ผิดปกติที่สามารถกลายเป็นมะเร็งบริเวณปอดได้
สูดดมควันบุหรี่จากคนรอบข้าง
หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า ควันบุหรี่มือสอง ถึงแม้ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่การได้รับควันบุหรี่จากผู้คนรอบข้างที่สูบก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งปอดได้ไม่แพ้กับการสูบบุหรี่โดยตรง เพราะสามารถรับสารพิษหรือสารก่อมะเร็งได้ด้วยวิธีการเดียวกัน มีผลงานวิจัยพบว่าผู้ที่อาศัยร่วมกับผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสในการเป็นมะเร็งปอดได้ถึง 20–30% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้อยู่กับผู้ที่สูบบุหรี่
ก๊าซเรดอน
ก๊าซเรดอนเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีอยู่ทั่วไป อาจมาจากดิน หิน หรืออาจพบในอาคารบางแห่ง หากสูดดมเอาก๊าซชนิดเข้าไปมาก ๆ อาจส่งผลให้ปอดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
สารพิษและมลภาวะ
สารเคมีและมลภาวะต่าง ๆ ที่ได้รับในแต่ละวันก็เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดได้สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรืออยู่ในภาคอุตสาหกรรมซึ่งทำให้ได้รับสารเหล่านี้เข้าไปเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว
ตัวอย่างสารเหล่านี้ เช่น สารหนู ถ่านหิน แร่ใยหิน เบริลเลียม แคดเมียม ถ่านโค้ก ซิลิกา นิกเกิล นอกจากนี้ การได้รับเอาควันเสียจากยานพาหนะปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงขึ้นเป็น 50% งานวิจัยพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ที่ผลิตจากรถยนต์หรือพาหนะอื่นมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดถึง 3 เท่า
การวินิจฉัยมะเร็งปอด
แพทย์จะสอบถามผู้ป่วยเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพโดยทั่วไป อาการผิดปกติที่พบ และอาจมีการตรวจการหายใจด้วยเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometer) เพื่อดูปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าออกจากปอดด้วยการหายใจ รวมไปถึงพิจารณาการตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุของอาการผิดปกติที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ หรือการตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม เช่น
การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray)
นิยมใช้เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอดเบื้องต้น หากพบเนื้องอกในปอดจะแสดงเป็นลักษณะโทนสีขาว-เทาให้เห็นถึงสภาพปอดของผู้ป่วย แต่วิธีนี้ไม่สามารถแยกความชัดเจนระหว่างก้อนเนื้อมะเร็งหรือสภาวะอื่น ๆ ที่อาจเกิดกับปอดได้อย่างโรคฝีในปอด จากนั้นแพทย์จะตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เพื่อดูอีกครั้งว่าสิ่งผิดปกตินั้นเป็นมะเร็งปอดหรือไม่ รวมถึงชนิดของมะเร็ง และการแพร่กระจายของมะเร็ง
การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสแกน (CT-scan)
เป็นการตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในโดยใช้รังสีเอกซ์ก่อนที่จะสร้างออกมาเป็นภาพด้วยเครื่องมือพิเศษ และอาจมีการฉีดสารทึบแสงให้แก่ผู้ป่วยก่อนการตรวจ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นเนื้อปอดและสิ่งผิดปกติภายในปอดได้ชัดขึ้น
การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพทซีทีสแกน (PET-CT Scan)
เพทซีทีสแกนจะใช้ในกรณีหลังจากการตรวจพบสิ่งปกติที่คาดว่าน่าจะเป็นมะเร็งภายหลังการตรวจซีทีสแกน โดยจะช่วยประเมินการแพร่กระจายของมะเร็ง ทำให้รู้ได้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งอยู่ในขั้นใด ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยและการรักษาได้ตรงจุดมากขึ้น
การส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อ (Bronchoscopy และ Biopsy)
หากพบสิ่งผิดปกติที่คาดว่าน่าจะเป็นมะเร็งบริเวณกลางหน้าอก แพทย์อาจใช้วิธีการส่องกล้องโดยใช้ท่อขนาดเล็กสอดลงไปในหลอดลม เพื่อตรวจดูความผิดปกติของปอดและตัดชิ้นเนื้อบางส่วนออกมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้วิธีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจด้วยวิธีการข้างต้นได้ แพทย์อาจพิจารณาวิธีอื่นในการใช้ในการวินิจฉัยโรค เช่น การเจาะตัดชิ้นเนื้อผ่านผิวหนังด้วยเข็มขนาดเล็ก (Percutaneous Needle Biopsy) การผ่าตัดปอดโดยใช้กล้องส่อง (Thoracoscopy) หรือการส่องกล้องในช่องอก (Mediastinoscopy)
การรักษามะเร็งปอด
เมื่อได้รับผลการวินิจฉัยที่แน่นอนว่าเป็นมะเร็งปอด แพทย์จึงสามารถระบุถึงวิธีที่ใช้ในการรักษาได้ แต่ก็ยังต้องดูจากหลายปัจจัยประกอบกันด้วย เช่น ความรุนแรงของโรคว่าผู้ป่วยอยู่ในขั้นใด ชนิดของมะเร็งปอด วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล หรือแม้แต่โอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาด เพื่อการวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยวิธีรักษามะเร็งปอดที่แพทย์มักนำมาใช้รักษาผู้ป่วยมีดังนี้
การผ่าตัด (Surgery)
วิธีนี้เป็นการรักษาที่เหมาะกับมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก โดยแพทย์จะผ่าเอาเนื้อเยื่อปอดบางส่วนที่มีเซลล์มะเร็งออก หรือผ่าตัดเอาปอดทั้งข้างออกเมื่อตรวจพบการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปทั่วปอด รวมถึงแพทย์อาจมีการเลาะต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกด้วยหากเกิดการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง
การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy)
เป็นการใช้ยาในหลายรูปแบบ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกหรือทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกายในช่วงระหว่างเวลาหนึ่ง โดยอาจจะใช้รักษาก่อนการผ่าตัดเพื่อช่วยในการทำลายเซลล์มะเร็งได้ง่ายขึ้น ในบางรายการทำเคมีบำบัดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดหรืออาการอื่นของมะเร็งในระยะแพร่กระจายได้
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาการรักษาเคมีบำบัดในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่ายาตรงเป้า (Targeted Therapy) สำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่มีเซลล์มะเร็งตอบสนองต่อยา ซึ่งจำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็ง เพื่อให้ทราบผลการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาก่อน
การฉายแสง (Radiation Therapy)
เป็นการใช้รังสีในปริมาณสูงฉายไปบริเวณที่เกิดมะเร็งปอดขึ้นโดยตรง เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง มักจะใช้ควบคู่กับวิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด
มะเร็งปอดเป็นโรคที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ยังมีโอกาสการรักษาให้หายขาดได้ หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในระยะต้นของการเกิดโรคได้เร็วมากเท่าไหร่ยิ่งส่งผลดีต่อการรักษาได้มากเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยอยู่ในระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นหรือระยะสุดท้ายจะรักษาไม่หายขาด
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งปอด
มะเร็งปอดสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายกรณี ดังนี้
- ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Pleural Effusion) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการมีของเหลวหรือน้ำเข้าไปสะสมอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอดมากผิดปกติ อาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการหายใจ
- หายใจสั้น หากก้อนมะเร็งขยายใหญ่ขึ้นจนบดบังทางเดินในระบบทางเดินหายใจหลักจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านการหายใจ เนื่องจากเกิดการสะสมของของเหลวภายในปอด ทำให้ปอดมีการขยายตัวได้ไม่เต็มที่เมื่อมีการหายใจเข้า
- ไอเป็นเลือด (Hemoptysis) มะเร็งปอดสามารถทำให้เกิดอาการเลือดออกภายในทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของการไอเป็นเลือด และอาจส่งผลรุนแรงได้หากมีปริมาณมาก
- มะเร็งแพร่กระจายไปบริเวณอื่น ผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะลุกลามอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคไปยังบริเวณอวัยวะอื่นในร่างกาย เช่น กระดูก ปอด ตับ
การป้องกันมะเร็งปอด
มะเร็งปอดยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ดังนี้
ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบหรี่
เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปอด การลด ละ เลิก หรือเลี่ยงการสูบหรี่ รวมไปถึงยาสูบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ยานัด ยาเส้น ซิการ์ ทำให้การได้รับสารพิษหรือสารก่อมะเร็งที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายน้อยลง ยิ่งมีการสูบหรี่นานเท่าไหร่ก็อาจทำให้การเลิกบุหรี่ทำได้ยากมากขึ้นเท่านั้น
หลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่
พยายามอยู่ให้ห่างจากกลุ่มหรือบุคคลรอบข้างที่มีการสูบบุหรี่ เพื่อลดโอกาสการสูดดมควันบุหรี่เข้าไปโดยตรง อาจแนะนำให้ผู้สูบบุหรี่สูบในเขตที่มีการอนุญาตให้สูบได้ ไม่เข้าไปอยู่ในร้านอาหารที่มีการสูบบุหรี่ หรือเลือกอยู่ในสถานที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่แทน
เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
เลือกอาหารในการรับประทานที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เน้นผักและผลไม้ ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมด้วยแร่ธาตุและวิตามิน รวมไปถึงการเลือกรับประทานให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนในสัดส่วนที่เหมาะสมจากธรรมชาติโดยตรงแทนการได้รับวิตามินและแร่ธาตุจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ป้องกันตนเองจากมลภาวะหรือควันพิษ
หากทราบว่าตนเองต้องอยู่ในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายหรือสารพิษที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง ควรมีการป้องกันการสูดดมสารเหล่านั้นเข้าไปโดยตรง อย่างเช่นการทำงานในสถานที่มีฝุ่นควันมาก ควรมีการสวมหน้ากากป้องกันไว้ตลอดเวลาขณะทำงาน
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคให้ลดลงได้ ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายอาจจะเริ่มจากการออกกำลังกายอย่างช้า ๆ พยายามออกกำลังอย่างสม่ำเสมอในแต่ละสัปดาห์