ความหมาย มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer)
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer) หรือบางคนเรียกมะเร็งมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ปกคลุมผิวด้านในของมดลูก ผู้ป่วยมักมีอาการประจำเดือนมาผิดปกติ รู้สึกเจ็บหรือปวดในบริเวณเชิงกรานร่วมด้วย
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงที่พบได้บ่อย โดยอาการผิดปกติระยะแรกที่แพทย์มักพบได้บ่อยคือ มีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งการตรวจพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้เร็วเท่าไรจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษามีมากขึ้นตามไปด้วย
อาการของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
อาการเตือนแรกเริ่มของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกคือมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ออกกะปริบกะปรอย แต่ไม่ใช่ประจำเดือน หรือประจำเดือนมามากผิดปกติหรือนานกว่าปกติ หากเป็นผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนมักพบเลือดไหลออกจากช่องคลอด
รวมถึงอาจมีอาการเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่อาการของโรครุนแรงขึ้น อาจทำให้ปวดบริเวณท้องช่วงล่างหรือเชิงกราน รู้สึกแน่นท้อง มีพฤติกรรมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะเปลี่ยนไป
หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติที่คล้ายกับอาการในข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน
สาเหตุของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้อย่างชัดเจน โดยอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ภายในมดลูกหรือปัจจัยเสี่ยงบางประการ เช่น การมีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปีหรือเริ่มมีประจำเดือนช้ากว่าวัยอันควร
ส่วนปัจจัยอื่นที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ได้แก่ ความผิดปกติของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
นอกจากนี้ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกจะพบได้มากในคนที่มีอายุมากหรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือน ไม่เคยตั้งครรภ์ ตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติการป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ กลุ่มอาการลินช์ (Lynch Syndrome) หรืออยู่ระหว่างการรักษาโรคมะเร็งเต้านมด้วยฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy) ด้วยยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen)
การวินิจฉัยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
แพทย์จะสอบถามอาการและประวัติทางการแพทย์ร่วมกับการตรวจภายใน โดยเริ่มจากการตรวจอวัยวะเพศภายนอก ก่อนจะตรวจภายในและใช้มืออีกข้างกดลงบนท้องส่วนล่าง ทำให้แพทย์สัมผัสถึงรังไข่และมดลูก หรืออาจใช้คีมถ่างช่องคลอดเพื่อตรวจดูความผิดปกติบริเวณปากมดลูกหรือช่องคลอด
นอกจากนี้ อาจใช้การตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น
การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy)
แพทย์จะสอดเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กและมีกล้องติดอยู่ที่ส่วนปลายเข้าไปทางช่องคลอด เพื่อดูความผิดปกติบริเวณเยื่อที่บุผนังชั้นในของมดลูกหรือมดลูก
การตรวจอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound)
แพทย์จะสอดอุปกรณ์อัลตร้าซาวด์เข้าไปในช่องคลอด เพื่อดูความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกและความผิดปกติอื่น ๆ ในบริเวณดังกล่าว
การตัดชิ้นเนื้อตัวอย่าง (Endometrial Biopsy)
เป็นการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูกไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บในระหว่างการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ แต่หากผลที่ได้ไม่ชัดเจน แพทย์อาจขูดมดลูกเพิ่มเติมเพื่อนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็งโดยละเอียด แต่การขูดมดลูกอาจทำให้ป่วยรู้สึกปวดได้
ทั้งนี้ แพทย์อาจเอกซเรย์ ทำซีทีสแกน ตรวจ PET Scan หรือตรวจเลือดหากแพทย์สงสัยว่าเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย และหาระยะของมะเร็ง เพื่อให้เลือกวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสม
โดยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งอยู่ในบริเวณมดลูกเท่านั้น
- ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งเริ่มกระจายตัวจากมดลูกไปยังปากมดลูก
- ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังผิวชั้นนอกมดลูก ปีกมดลูก ช่องคลอด ท่อนำไข่ รังไข่ ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง
- ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่นอกอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง เช่น ปอดหรือกระดูกสันหลัง
การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
แพทย์จะวางแผนการรักษาตามชนิดของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก สุขภาพร่างกายของผู้ป่วย และระยะของมะเร็ง โดยวิธีที่แพทย์อาจเลือกใช้ในการรักษามะเร็งชนิดนี้ ได้แก่
การฉายรังสี
เป็นการฉายรังสีที่มีความเข้มข้นสูง เพื่อกำจัดหรือลดขนาดของเซลล์มะเร็ง สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย โดยให้ผู้ป่วยนอนราบบนเตียงและใช้เครื่องมือยิงรังสีลงไปบริเวณที่ต้องการกำจัดเซลล์มะเร็ง และการฉายรังสีระยะใกล้ (Brachytherapy) ที่จะฝังเครื่องมือบรรจุแร่ที่ให้สารกัมมันตรังสีไว้บริเวณมดลูกหรือช่องคลอด เพื่อช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง
การทำเคมีบำบัด
เป็นการใช้ยาเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งในร่างกาย มีทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ โดยจะเหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามหรือเกิดมะเร็งซ้ำ นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้เคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อช่วยลดขนาดก้อนเนื้อ หรือใช้หลังการผ่าตัดเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งซ้ำในอนาคต
การทำฮอร์โมนบำบัด
แพทย์จะใช้ยาต้านฮอร์โมนหรือฮอร์โมนชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อปรับเปลี่ยนระดับฮอร์โมนในร่างกายร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด วิธีนี้จะช่วยชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
การผ่าตัด
ผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอาจต้องผ่าตัดเพื่อนำมดลูกออก ส่วนมากจะเป็นการผ่าตัดนำมดลูกและอวัยวะบริเวณใกล้เคียงออกทั้งหมด (Hysterectomy) เช่น รังไข่และท่อนำไข่ และอาจมีการผ่าตัดนำต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออกไปตรวจร่วมด้วย เพื่อดูการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง การักษาด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยไม่มีประจำเดือนและตั้งครรภ์ไม่ได้อีกในอนาคต
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
แพทย์จะใช้ยากระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้มากขึ้น เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลามและอาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted Drugs Therapy)
แพทย์จะใช้ยาที่เจาะจงไปยังเซลล์มะเร็งเพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ และทำลายเซลล์มะเร็งบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลาม และมักใช้ควบคู่กับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
นอกจากการรักษาในข้างต้น ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการดูแลตามอาการ (Supportive Care) เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการรุนแรงอื่น ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด การฉายรังสีหรือการผ่าตัด รวมถึงการดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วยจากจิตแพทย์
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะโลหิตจาง (Anemia) ที่อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดหรือเวียนศีรษะ หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอกและผิวซีด นอกจากตัวโรคแล้ว ผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นผลมาจากการรักษา เช่น มีเลือดออกมากผิดปกติหรือเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด (Thromboembolism) หลังรักษาด้วยการผ่าตัด
การป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และเลิกสูบบุหรี่
นอกจากนี้ การปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิด ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งที่อาจได้รับจากพันธุกรรม หรือการทำฮอร์โมนบำบัดในวัยหมดประจำเดือนและรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูกอย่างเหมาะสม อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคได้เช่นกัน