ความหมาย มะเร็งเล็บ (Subungual Melanoma)
มะเร็งเล็บ (Subungual melanoma) เป็นมะเร็งผิวหนังบริเวณใต้เล็บ โดยอาจสังเกตมะเร็งเล็บได้จากอาการต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นบนเล็บ เช่น เส้นแนวตั้งสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำที่มักลากยาวจากปลายเล็บถึงโคนเล็บ เล็บแตก เล็บเป็นโพรง โดยอาการเหล่านี้อาจพบได้บ่อยบริเวณเล็บของนิ้วหัวแม่มือ เล็บของนิ้วหัวแม่เท้า และนิ้วชี้
มะเร็งเล็บเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรง โดยอาการอาจค่อย ๆ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ดังนั้น เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติใด ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะหากยิ่งค้นพบได้เร็ว ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการรักษามากขึ้น
สาเหตุของมะเร็งเล็บ
มะเร็งเล็บเกิดจากการที่เซลล์สร้างเม็ดสี (Meanocyte cells) เจริญเติบโตมากผิดปกติจนกลายเป็นมะเร็ง โดยในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดมะเร็งเล็บอย่างแน่ชัด แต่อาจขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น
- มีอายุ 50–70 ปี
- เคยมีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งเล็บมาก่อน
- เคยมีประวัติบาดเจ็บบริเวณเล็บ
อาการของมะเร็งเล็บ
มะเร็งเล็บสามารถสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น
- เส้นแนวตั้งสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำที่มักลากยาวจากปลายเล็บถึงโคนเล็บ
- แถบสีเข้มบนเล็บที่ค่อย ๆ ขยายใหญ่ยิ่งขึ้น และบางครั้งอาจมีเลือดออกบริเวณดังกล่าว
- ผิวหนังรอบเล็บมีสีคล้ำขึ้น
- มีก้อนเนื้อใต้เล็บ
- เล็บแตก เล็บเป็นโพรง
อาการของมะเร็งเล็บที่ควรไปพบแพทย์
หากพบเห็นสัญญาณของโรคมะเร็งเล็บต่าง ๆ หรือสังเกตเห็นว่าเล็บมีรูปร่าง สี หรือลักษณะผิดปกติไปจากเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาโรคมะเร็งและรับการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสม
การวินิจฉัยมะเร็งเล็บ
แพทย์จะทำการตรวจดูบริเวณเล็บที่มีอาการ และอาจซักประวัติอื่น ๆ เช่น โรคประจำตัว อาการ ประวัติการป่วยเป็นโรคมะเร็งของครอบครัว นอกจากนี้ แพทย์อาจนำตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อหาว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ โดยตัวอย่างชิ้นเนื้อที่นำไปตรวจอาจแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เกิดอาการ เช่น ชิ้นเนื้อบริเวณตัวสร้างเล็บ (Nail matrix) ชิ้นเนื้อใต้เล็บ ชิ้นเนื้อบริเวณฐานเล็บ
การรักษามะเร็งเล็บ
มะเร็งเล็บมักรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อนำบริเวณที่เป็นมะเร็งออก โดยแพทย์จะทำการถอดเล็บ และหลังจากนั้นจึงจะทำการผ่าตัดมะเร็งออก นอกจากนี้ ยังมีการรักษาอื่น ๆ ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับอาการหรือดุลยพินิจของแพทย์ เช่น
- การฉายรังสีหรือการทำคีโม มักใช้รักษาในกรณีที่มะเร็งเล็บลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ
- ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการรักษาเพื่อช่วยให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้นและป้องกันการกลับมาเป็นมะเร็งเล็บซ้ำได้
- ยามุ่งเป้า ซึ่งเป็นยาที่จะทำลายเซลล์มะเร็งเป้าหมายโดยตรง
ภาวะแทรกซ้อนมะเร็งเล็บ
หากปล่อยมะเร็งเล็บทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา เซลล์มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ การรักษามะเร็งเล็บยังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น การติดเชื้อหรือรอยแผลเป็นจากการผ่าตัด
การป้องกันมะเร็งเล็บ
มะเร็งเล็บเป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่ เช่น พันธุกรรม อายุ นั้นไม่สามารถป้องกันได้ ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณเล็บที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเล็บได้ เช่น
- ตัดเล็บให้สั้น และรักษาความสะอาดของเล็บอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการกัดหรือแกะเล็บ
- ใส่ถุงเท้าหรือถุงมือขณะทำงาน เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
- ใส่รองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า ไม่คับแน่นหรือหลวมจนเกินไป
นอกจากนี้ การไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตเห็นอาการมะเร็งเล็บก็อาจช่วยลดความรุนแรงของอาการและลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาได้