มาลาเรีย

ความหมาย มาลาเรีย

มาลาเรีย (Malaria) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวแพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงก้นปล่องเพศเมีย (Anopheles Spp.) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงและหนาวสั่น โดยมักพบโรคนี้ในเขตที่มีภูมิอากาศร้อนชื้นและมีแหล่งน้ำขังตามธรรมชาติมาก ซึ่งเป็นที่อาศัยของยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรค

มาลาเรีย

โรคมาลาเรียแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2555 พบว่ามีผู้ติดเชื้อมาลาเรียมากกว่า 34,000 คน และในปี พ.ศ. 2556 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม มีผู้ป่วยทั้งประเทศจำนวน 12,000 คน และเสียชีวิต 12 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายแดน

อาการของมาลาเรีย

อาการของมาลาเรียจะแตกต่างกันไป ระยะเวลาที่เกิดจะขึ้นอยู่กับชนิดของโปรโตซัวที่เป็นสาเหตุ โดยอาการของมาลาเรียที่พบบ่อย ได้แก่

  • มีไข้สูง หนาวสั่น
  • เหงื่อออกมาก
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ท้องเสีย 
  • ภาวะโลหิตจาง
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • อาการหมดสติไม่รับรู้ต่อการกระตุ้นต่าง ๆ หรือโคม่า
อย่างไรก็ตาม อาการของมาลาเรียจะไม่รุนแรงและบางอาการระบุโรคได้ยาก เพราะมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ดังนั้น ผู้ที่อาศัยหรือเดินทางไปยังที่ที่มีการระบาด โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไข้สูงหรือมีอาการของมาลาเรียอื่น ๆ  ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

สาเหตุของมาลาเรีย มาลาเรียเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่เรียกว่า พลาสโมเดียม (Plasmodium) มียุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะ โดยเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม (Plasmodium) มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน แต่ชนิดที่ทำให้เกิดโรคในคนมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่

  • พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (Plasmodium Falciparum)
  • พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ (P.Vivax)
  • พลาสโมเดียม มาลาริอี่ (P.Malariae)
  • พลาสโมเดียม โอวาเล่ (P.Ovale)
  • พลาสโมเดียม โนว์ไซ (P. Knowlesi)
เชื้อที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย คือ พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (Plasmodium Falciparum) และรองลงมา คือ พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ (P.Vivax)

มาลาเรียมีการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างไร?

การติดเชื้อมาลาเรียเริ่มต้นจากยุงที่เป็นพาหะดูดเลือดและปล่อยเชื้อที่อยู่ในน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือดคน โดยประมาณ 30 นาที เชื้อจะเข้าสู่ตับและแบ่งตัวเพิ่มจำนวน หลังจากนั้น เชื้อจะกลับเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดแดงเพื่อแบ่งตัวเพิ่มจำนวน จนกระทั่งเซลล์เม็ดเลือดแดงแตก เชื้อจะเข้าไปอาศัยและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่ต่อไป โดยเชื้อแต่ละชนิดจะใช้เวลาในการแบ่งตัวและทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกแตกต่างกันไป เช่น

  • เชื้อพลาสโมเดียม ฟัสซิพารัม ใช้เวลาในการแบ่งตัว 42-48 ชั่วโมง จึงทำให้เกิดไข้ทุกวันที่ 3
  • เชื้อพลาสโมเดียมไวแวกซ์ และโอวัลเล่ ใช้เวลาในการแบ่งตัว 48 ชั่วโมง จึงทำให้เกิดไข้ทุกวันที่ 3
  • เชื้อพลาสโมเดียม มาลาริอี ใช้เวลาในการแบ่งตัว 72 ชั่วโมง อาการไข้จึงเกิดทุกวันที่ 4
  • เชื้อพลาสโมเดียม โนวไซ ใช้เวลาในการแบ่งตัว 24 ชั่วโมง อาการไข้จึงเกิดทุกวัน
เชื้อมาลาเรียสามารถแพร่ไปยังผู้อื่นได้จากยุงที่ไปกัดผู้ป่วยมาลาเรีย แต่ไม่สามารถติดต่อกันจากคนสู่คนได้ นอกจากจะเป็นการติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจติดเชื้อมาลาเรียได้จากการรับเลือดหรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน แต่จะเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก

การวินิจฉัยมาลาเรีย

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการซักประวัติและการเดินทางของผู้ป่วย รวมไปถึงการตรวจร่างกายและตรวจเลือด โดยส่วนใหญ่แพทย์จะใช้การตรวจเลือดที่เรียกว่า Thick Smear และ Thin Smear ซึ่งทำได้โดยการตรวจเลือดหาเชื้อภายใต้กล้องจุลทรรศน์ และการตรวจวิธีนี้ต้องย้อมสีเลือดให้เห็นตัวเชื้อด้วยสียิมซา (Giemsa) เพื่อให้แพทย์สามารถพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม แพทย์อาจใช้การตรวจอื่น ๆ เพื่อช่วยในการระบุชนิดของเชื้อโปรโตซัว ได้แก่

  • ตรวจการทำงานของตับ
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)
  • ตรวจน้ำตาลในเลือด
  • การตรวจยีน (Gene) มีราคาแพงมาก ไม่เป็นที่นิยมใช้ในไทย
  • การตรวจด้วยการย้อมสีเลือดและตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
  • ชุดตรวจหาแอนติเจนของเชื้อ (RDT) ซึ่งมีจำหน่ายแต่ราคาค่อนข้างแพงและไม่เป็นที่นิยมใช้ในไทย
  • ตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopy)
การรักษามาลาเรีย

มาลาเรียรักษาได้ หากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที แพทย์จะรักษาด้วยการดูแลประคับประคองอาการ รวมทั้งบำบัดรักษาภาวะแทรกซ้อน และให้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย (Antimalarial) ซึ่งการเลือกชนิดของยาหรือรูปแบบการให้ยาจะประกอบไปด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ชนิดของโปรโตซัว ความรุนแรงของอาการ อายุของผู้ป่วย การตั้งครรภ์ รวมไปถึงการดื้อยา

ยาต้านมาลาเรียที่นำมาใช้บ่อย ได้แก่

  • ยาคลอโรควิน (Chloroquine)
  • ยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline
  • ยาควินิน ซัลเฟต (Quinine Sulfate)
  • ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine)
  • ยาเมโฟลควิน (Mefloquine)
  • ยาไพรมาควิน (Primaquine)
  • การใช้ร่วมกันระหว่างยา Proguanil และ Atovaquone
  • การใช้ร่วมกันระหว่างยา Artemether และ Lumefantrine
ข้อสำคัญในการเลือกชนิดของยาฆ่าเชื้อมาลาเรีย ควรพิจารณาประสิทธิภาพของยา เพราะการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ต่าง ๆ จะแตกต่างกัน สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื้อมาลาเรียจะดื้อยาคลอโรควิน (Chloroquine) เป็นส่วนใหญ่

ภาวะแทรกซ้อนของมาลาเรีย

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่

  • ภาวะโลหิตจาง (Anaemia) เป็นภาวะที่เม็ดเลือดแดงไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อและอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย
  • มาลาเรียขึ้นสมอง (Cerebral Malaria) เชื้อมาลาเรียส่งผลกระทบต่อสมอง ทำให้หลอดเลือดในสมองบวม ซึ่งสร้างความเสียหายให้สมองได้อย่างถาวร และอาจทำให้เกิดอาการชักหรือโคม่าได้
  • ปอดบวมน้ำ (Pulmonary Oedema) เกิดการสะสมของเหลวในปอดทำให้มีปัญหาในการหายใจ
  • อวัยวะภายในล้มเหลว เช่น ตับ ไต หรือม้าม
  • ม้ามบวมและแตก
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycaemia)
  • ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome: ARDS)
  • อาการช็อกเนื่องจากความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ ได้แก่
  • คลอดก่อนกำหนด
  • ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
  • ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างการคลอด
  • แท้งบุตร
  • ในกรณีรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยตั้งครรภ์เสียชีวิต
การป้องกันมาลาเรีย

เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีมีวัคซีนป้องกันมาลาเรีย ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการทดลองเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ดังนั้น ผู้ที่อาศัยหรือเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของมาลาเรีย ต้องดูแลและป้องกันตนเองดังนี้

การพิจารณาเพื่อเลือกใช้ยาป้องกันมาลาเรีย มีดังนี้

  • การใช้ยาป้องกันมาลาเรียจะแตกต่างกันออกไปแต่ละประเทศ และยาที่ใช้สำหรับแต่ละประเทศจะเรียงลำดับตามตัวอักษรและเปรียบเทียบคุณสมบัติของยาไว้อย่างชัดเจน ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกสำหรับการเลือกใช้ยาอย่างเหมาะสม
  • ยาต้านมาลาเรียไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% เลือกใช้ยาเมื่อได้ประโยชน์จากยามากกว่าผลข้างเคียงจากการใช้ยา และต้องอาศัยวิธีการป้องกันของตนเองร่วมด้วย เช่น ใช้ยาทาไล่ยุง ใส่เสื้อแขนยาวหรือกางเกงขายาว และนอนในมุ้ง
  • การใช้ยาต้านมาลาเรีย ต้องพิจารณาถึงปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นที่กำลังใช้อยู่ รวมไปถึงการตรวจสอบข้อควรระวังการใช้ยา เช่น การแพ้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • เมื่อได้ยาต้านมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพกับตนเองแล้ว ต้องใช้ยาก่อนการเดินทาง ซึ่งหากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • ควรใช้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • หลังจากกลับมาจากการเดินทางควรใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของโรค และระยะเวลาในการใช้ยาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของยา
  • ในประเทศไทยโดยทั่วไปแพทย์มักไม่แนะนำให้รับประทานยาป้องกันมาลาเรีย เนื่องจากความชุกชุมของมาลาเรียยังไม่มาก แต่ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์สำหรับผู้ที่พบว่ามีไข้ภายใน 1 สัปดาห์-2 เดือน หลังออกจากป่าหรือพื้นที่เสี่ยง
ผู้ที่อาศัยหรือต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดได้ดังนี้
  • สวมเสื้อผ้าสีอ่อนและปกปิดร่างกายได้อย่างมิดชิด เช่น เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
  • ใช้ยาที่มีสารไล่แมลงทาผิวหนัง ซึ่งสารไล่แมลงที่มีประสิทธิภาพที่สุด ได้แก่ สาร Diethyltoluamide: DEET ซึ่งมีจำหน่ายทั้งรูปแบบสเปรย์ โรลออน แบบแท่งและครีม โดยอาจต้องทาซ้ำบ่อย ๆ เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ไม่ควรใช้ในเด็กเล็ก
  • นอนในมุ้งหรือบริเวณที่ปลอดจากยุง อาจใช้มุ้งชุบยาไล่ยุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันยุง
  • หากสงสัยหรือต้องการตรวจสอบการระบาดของมาลาเรีย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ตรวจสอบและหาข้อมูลได้จากกรมควบคุมโรค โทร. 1422 เพื่อการป้องกันอย่างทันท่วงที