ความหมาย มีลูกยาก
มีลูกยาก (Infertility) คือ ภาวะที่คู่สมรสไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีเพศสัมพันธ์เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 วัน โดยไม่คุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี ภาวะดังกล่าวถือเป็นปัญหาของคู่รักที่เกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือปัจจัยอื่นรวมกันอันส่งผลต่อการตั้งครรภ์ โดยสาเหตุของภาวะมีลูกยากที่เกิดจากผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 33 เกิดจากผู้ชายคิดเป็นร้อยละ 33 และเกิดจากทั้งผู้ชายและผู้หญิงหรือเกิดจากปัจจัยอื่นที่ระบุไม่ได้คิดเป็นร้อยละ 33 เช่นกัน
โดยทั่วไปแล้ว ระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงจะปล่อยไข่ออกมาจากรังไข่ เพื่อรับการปฏิสนธิจากอสุจิของเพศชาย ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะเคลื่อนตัวจากท่อนำไข่ไปฝังตัวที่มดลูก ผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ อายุ 35 ปีขึ้นไป และไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน 6 เดือนที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่รักอย่างสม่ำเสมอ ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหามีลูกยาก ส่วนผู้ชายที่ประสบภาวะมีลูกยากจะได้รับการตรวจภาวะดังกล่าวด้วยวิธีการทางการแพทย์หลายอย่าง รวมทั้งตรวจอสุจิในห้องทดลองด้วย เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้สามารถมีลูกได้
อาการมีลูกยาก
ผู้ที่ประสบภาวะมีลูกยากจะไม่สามารถมีลูกหรือตั้งครรภ์ได้ โดยภาวะนี้อาจไม่ปรากฏอาการอื่นออกมาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ชายและผู้หญิงที่ประสบภาวะมีลูกยากอาจปรากฏสัญญาณบางอย่างจากการทำงานของร่างกายที่แตกต่างกัน โดยผู้หญิงอาจมีประจำเดือนไม่ปกติหรือไม่มีประจำเดือนเลย ส่วนผู้ชายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงของขนที่งอกขึ้นมา หรือระบบร่างกายที่กระตุ้นแรงขับทางเพศเกิดความผิดปกติ ทั้งนี้ ผู้ที่ประสบภาวะมีลูกยากควรพบแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษาได้ในกรณีต่อไปนี้
- ผู้หญิงที่ประสบภาวะมีลูกยาก
- อายุ 35-40 ปี โดยพยายามมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักเพื่อตั้งครรภ์เป็นเวลา 6 เดือนหรือมากกว่านั้น
- อายุ 40 ปีขึ้นไป
- รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือไม่มีรอบเดือนเลย
- ปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง
- มีประวัติประสบภาวะมีลูกยาก
- ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory Disease: PID)
- เคยแท้งมาแล้วหลายครั้ง
- เข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง
- ผู้ชายที่ประสบภาวะมีลูกยาก
- มีจำนวนอสุจิน้อยหรือมีปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ
- มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอัณฑะ ต่อมลูกหมาก หรือปัญหาทางเพศ
- เข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง
- ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดอัณฑะขอด (Varicocele) โดยอัณฑะจะมีขนาดเล็กหรือถุงอัณฑะบวมขึ้น
- มีบุคคลในครอบครัวที่ประสบภาวะมีลูกยาก
สาเหตุมีลูกยาก
โดยทั่วไปแล้ว การตั้งครรภ์หรือมีลูกเกิดจากกระบวนการตกไข่และกระบวนการปฏิสนธิที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ ภาวะมีลูกยากอาจปรากฏตั้งแต่เกิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง สาเหตุของภาวะมีลูกยากของผู้หญิงและผู้ชายจะแตกต่างกัน ดังนี้
- สาเหตุมีลูกยากของผู้หญิง กระบวนการสืบพันธุ์ของเพศหญิงประกอบด้วยการทำงานของรังไข่ ท่อนำไข่ และมดลูก หากอวัยวะทั้ง 3 ส่วนทำงานประสานกันอย่างสมบูรณ์ ก็จะทำให้ตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม หากประสบปัญหาสุขภาพหรือปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งตามที่กล่าวไป ก็จะมีลูกได้ยาก โดยปัญหาสุขภาพและปัจจัยภายนอกที่ก่อให้เกิดภาวะมีลูกยากสำหรับผู้หญิงประกอบด้วย
- ปัญหาที่ส่งผลต่อการตกไข่ ส่วนใหญ่แล้ว ช่วงรอบเดือนของผู้หญิงมักมีช่วงเวลาประมาณ 28 วัน โดยช่วงกึ่งกลางของรอบเดือนถือเป็นวันที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์มากที่สุด ผู้ที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมออาจตกไข่ได้ยาก ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- ถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS) โรคนี้ถือเป็นสาเหตุของการมีลูกยากที่พบได้ทั่วไปมากที่สุด โดยผู้ป่วยจะมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูงขึ้น ซึ่งทำให้มีสิวและขนขึ้นตามร่างกายมากเกินไป อีกทั้งระดับฮอร์โมนยังไม่สมดุล ส่งผลต่อระบบการตกไข่ของร่างกาย
- ปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ผู้ป่วยเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือประสบภาวะขาดไทรอยด์ ก็อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ จนนำไปสู่ภาวะมีลูกยากได้
- ความผิดปกติของไฮโปทาลามัส (Hypothamus) และต่อมใต้สมอง (Pituitary Glands) ผู้ที่ไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ สามารถประสบภาวะมีลูกยากได้ เนื่องจากไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมองทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการตกไข่ให้เป็นปกติ หากการทำงานของอวัยวะทั้ง 2 ส่วนผิดปกติ จะทำให้ร่างกายไม่ตกไข่ได้
- ประจำเดือนไม่มาจากความเครียด (Functional Hypothalamic Amenorrhea: FHA) ภาวะนี้เกิดจากการที่ร่างกายออกกำลังกายหนัก เครียด หรือน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้ อาจเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติในการกิน เช่น อะนอเร็กเซีย (Anorexia)
- ภาวะตกไข่น้อยลง (Diminished Ovarian Reserve: DOR) ภาวะนี้จะก่อให้เกิดการผลิตไข่ในรังไข่น้อยกว่าปกติ ทั้งนี้ ภาวะตกไข่น้อยอาจเกิดจากระบบสืบพันธุ์ ยา การผ่าตัด หรือสาเหตุอื่นที่ระบุไม่ได้
- รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature Ovarian Insufficiency: POI) ภาวะนี้จะทำให้รังไข่เสื่อมก่อนอายุ 40 ปี หรือเข้าวัยทองก่อนกำหนด มักไม่ปรากฏสาเหตุที่แน่ชัด ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะนี้อาจเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน โรคทางพันธุกรรม การได้รับคีโมหรือฉายรังสีเพื่อรักษาโรค หรือสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ประสบภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดร้อยละ 5-10 สามารถตั้งครรภ์ได้เองตามปกติ
- วัยทอง ผู้ที่อายุใกล้ 50 ปี จะเริ่มเข้าสู่วัยทอง โดยการทำงานของรังไข่เสื่อมลง ผู้ที่เป็นวัยทองมักเกิดอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน หรือนอนหลับยาก
- ปัญหาที่ส่งผลต่อการตกไข่ ส่วนใหญ่แล้ว ช่วงรอบเดือนของผู้หญิงมักมีช่วงเวลาประมาณ 28 วัน โดยช่วงกึ่งกลางของรอบเดือนถือเป็นวันที่ร่างกายพร้อมเจริญพันธุ์มากที่สุด ผู้ที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมออาจตกไข่ได้ยาก ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- ท่อนำไข่ตัน (Tubal Patency) ภาวะนี้อาจทำให้ท่อนำไข่อุดตัน หรือบวมได้ ซึ่งเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- การติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน ผู้ที่ประสบภาวะนี้จะเกิดการติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์ส่วนบน ได้แก่ มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ ทำให้เกิดแผลที่ท่อนำไข่ ส่งผลให้ไม่สามารถลำเลียงไข่ไปยังมดลูกได้ตามปกติ โดยโรคนี้เกิดจากการได้รับเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะนี้เกิดจากเยื่อบุมดลูกไปเจริญภายนอกมดลูก ส่งผลให้การทำงานของรังไข่ มดลูก และท่อนำไข่ผิดปกติ จนนำไปสู่ภาวะมีลูกยาก
- ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ผู้ที่เคยมีประวัติป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบ หนองในแท้ หนองในเทียม หรือเคยได้รับการผ่าตัดที่ท้อง โดยเกิดเนื้อเยื่อหรือพังผืดขึ้นมา ก็สามารถประสบภาวะมีลูกยากได้
- ความผิดปกติของมดลูกหรือปากมดลูก ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับมดลูกและปากมดลูก อันนำไปสู่ภาวะมีลูกยากนั้น อาจมาจากปากมดลูกเปิด มีติ่งเนื้อที่มดลูก หรือลักษณะมดลูกผิดปกติ ทั้งนี้ ยังมีสาเหตุอื่นทีทำให้เกิดภาวะมีลูกยาก ดังนี้
- เนื้องอกมดลูก เนื้องอกในมดลูกที่เรียกว่าก้อนฟัยบรอยด์ส (Fibroids) ไม่ใช่เนื้อร้าย แต่จะส่งผลกระทบต่อการเจริญพันธุ์ได้ โดยเนื้องอกอาจทำให้ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วไม่สามารถฝังตัวที่มดลูก หรือปิดกั้นท่อนำไข่
- ปัญหาเกี่ยวกับมูกที่ปากมดลูก มูกที่ปากมดลูกจะข้นน้อยลงเมื่ออยู่ในช่วงตกไข่ เพื่อให้อสุจิสามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ง่าย อย่างไรก็ตาม หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับมูกที่ปากมดลูก ก็อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้
- ยาและสารเสพติดอื่น ๆ การใช้ยาหรือสารเสพติดอื่น ๆ จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันส่งผลต่อการตั้งครรภ์ โดยยาและสารเสพติดที่เป็นสาเหตุของการมีลูกยากประกอบด้วย
- กลุ่มยาแก้ปวดไม่ผสมสเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) ผู้ที่ใช้ยาในกลุ่มนี้ เช่น ไอบูโพรเฟน หรือแอสไพริน เป็นเวลานาน หรือได้รับยาดังกล่าวในปริมาณมาก จะเสี่ยงมีลูกยากได้สูง
- เคมีบำบัด ตัวยาที่ใช้ทำเคมีบำบัดหรือคีโมนั้น จะทำให้รังไข่เสื่อมลง ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้อาจได้รับผลข้างเคียง โดยรังไข่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและเสื่อมเร็วขึ้น
- ยารักษาโรคจิต (Neuroleptic Medicines) ผู้ป่วยวิกลจริตจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิต (Neuroleptic Drugs) โดยยาดังกล่าวจะทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือเกิดภาวะมีลูกยาก
- สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) ยานี้จัดเป็นยาที่ใช้ขับอาการบวมน้ำในร่างกาย ผู้ที่ใช้ยานี้จะกลับไปตั้งครรภ์ได้ปกติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือนหลังหยุดใช้ยา
- สารเสพติดอื่น ๆ กัญชา โคเคน และสารเสพติดอื่น ๆ ล้วนส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ของร่างกาย และทำให้ตกไข่ได้ยาก
- การทำหมัน ผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีลูก จะทำหมันเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ โดยวิธีนี้ทำให้ท่อนำไข่อุดตัน ส่งผลให้ไม่สามารถลำเลียงไข่ไปฝังตัวที่มดลูกได้
- สาเหตุมีลูกยากของผู้ชาย ผู้ชายที่ประสบภาวะมีลูกยากจะต้องเข้ารับการตรวจอสุจิ ซึ่งจะพิจารณาจากค่าความเข้มข้น การเคลื่อนไหว และรูปร่างของอสุจิ ผลการตรวจอสุจิที่เกิดความผิดปกติจะปรากฏจำนวนอสุจิน้อย อสุจิเคลื่อนตัวผิดปกติอันส่งผลต่อการเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ หรือรูปร่างไม่สมประกอบซึ่งส่งผลให้เคลื่อนที่และปฏิสนธิกับไข่ได้ยาก ผลการตรวจนี้จะช่วยวินิจฉัยปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะมีลูกยาก โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้ชายประสบภาวะดังกล่าวนั้นมีหลายอย่าง ดังนี้
- ความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานหรือการผลิตอสุจิ ผู้ที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือได้รับเชื้อหนองในแท้ หนองในเทียม คางทูม หรือเชื้อเอชไอวี สามารถประสบภาวะมีลูกยากได้ ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอัณฑะก็จะส่งผลต่อการทำงานและการผลิตอสุจิ เนื่องจากอัณฑะทำหน้าที่ผลิตและเก็บอสุจิ หากถุงอัณฑะได้รับความเสียหาย ก็จะส่งผลต่อคุณภาพของตัวอสุจิได้ โดยปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอัณฑะที่ส่งผลต่อการผลิตอสุจินั้น ประกอบด้วย
- การติดเชื้อที่อัณฑะ
- มะเร็งอัณฑะ
- ภาวะลูกอัณฑะไม่ลงถุง (Undescended Testicles) ซึ่งลูกอัณฑะไม่ลงไปอยู่ในถุงอัณฑะ ทำให้ถุงอัณฑะหย่อน
- หลอดเลือดดำอัณฑะขอด (Varicocele) โดยหลอดเลือดดำตรงอัณฑะจะใหญ่ และทำให้อุณหภูมิของอัณฑะสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อจำนวนและรูปร่างของอสุจิ
- ความผิดปกติเกี่ยวกับอัณฑะที่มีมาแต่กำเนิด
- การเข้ารับผ่าตัดอัณฑะ
- การได้รับบาดเจ็บที่อัณฑะ โดยอาจทำให้จำนวนอสุจิลดลง
- ปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ ปัญหานี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ โรคทางพันธุกรรม (เช่น ซีสติกไฟโบรซิส) ความผิดปกติทางร่างกาย (เช่น อัณฑะอุดตัน) การได้รับบาดเจ็บตรงอวัยวะสืบพันธุ์ รวมทั้งปัญหาของการมีเพศสัมพันธ์ โดยปัญหาการหลั่งอสุจิที่พบได้บ่อยประกอบด้วยหลั่งเร็ว หลั่งช้า และหลั่งย้อนทาง ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
- หลั่งเร็ว (Premature Ejaculation) การหลั่งเร็วนับเป็นปัญหาการหลั่งอสุจิที่พบได้มากที่สุด โดยผู้ชายจะหลั่งอสุจิเร็วเกินไปขณะมีเพศสัมพันธ์ สาเหตุที่ทำให้หลั่งเร็วเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก ต่อมไทรอยด์ การใช้สารเสพติด ภาวะซึมเศร้า ความเครียด ปัญหาความสัมพันธ์ หรือความกังวลเกี่ยวกับการร่วมเพศ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับคู่รักใหม่ หรือผู้ที่เคยมีปัญหาในการร่วมเพศมาก่อน
- หลั่งช้า (Delayed Ejaculation) ผู้ที่หลั่งอสุจิช้าหรือไม่สามารถหลั่งอสุจิได้เลยนั้น อาจมีสาเหตุมาจากการป่วยหรือใช้ยา โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน (โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 1) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ได้รับการผ่าตัดที่กระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมาก หรืออายุมาก อาจประสบปัญหานี้ได้ ส่วนผู้ที่ใช้ยาต้านซึมเศร้า ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาต้านโรคจิต ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดแบบแรง ก็เสี่ยงเกิดภาวะหลั่งช้าเช่นกัน
- หลั่งย้อนทาง (Retrograde Ejaculation) ปัญหานี้จัดเป็นปัญหาการหลั่งอสุจิที่พบได้ไม่บ่อย โดยอสุจิจะไหลย้อนกลับไปที่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้หลั่งอสุจิออกมาน้อยมากหรือไม่มีอสุจิหลั่งออกมาเลย รวมทั้งปัสสาวะมีสีขุ่นหลังมีเพศสัมพันธ์ การหลั่งย้อนทางเกิดจากกล้ามเนื้อและเส้นประสาทรอบกระเพาะปัสสาวะส่วนต้น ซึ่งเป็นช่วงต่อระหว่างท่อปัสสาวะกับกระเพาะปัสสาวะได้รับความเสียหาย ส่งผลให้รอยต่อดังกล่าวเปิดออก และอสุจิไหลย้อนกลับไปที่กระเพาะปัสสาวะ แทนที่จะไหลออกไปยังท่อปัสสาวะตามปกติ โดยผู้ที่ได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากหรือกระเพาะปัสสาวะ สามารถเกิดภาวะนี้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือใช้ยารักษาความดันโลหิตสูง ก็สามารถมีปัญหาหลั่งอสุจิย้อนทางได้
- ความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมน ผู้ชายที่ประสบภาวะมีลูกยากอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมน ดังนี้
- ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ (Hypogonadism) เทสโทสเทอโรนคือฮอร์โมนเพศชาย มีส่วนช่วยในการผลิตอสุจิ ผู้ที่ประสบภาวะฮอร์โมนเพศต่ำจะมีระดับเทสโทสเทอโรนต่ำมาก ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตอสุจิได้ตามปกติ และนำไปสู่ภาวะมีลูกยาก
- ความผิดปกติของไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมอง ไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมองทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของอัณฑะ หากไฮโปทาลามัสหรือต่อมใต้สมองถูกทำลาย หรือต่อมใต้สมองเกิดเนื้องอกจนผลิตโปรแลคตินออกมามากเกินไป ย่อมส่งผลให้ร่างกายผลิตอสุจิได้น้อย
- ปัญหาสุขภาพและการใช้ยาอื่น ๆ ปัญหาสุขภาพอื่นสามารถส่งผลต่อระดับฮอร์โมนอันนำไปสู่ภาวะมีลูกยากได้ ได้แก่ เนื้องอกหรือเนื้อร้ายในต่อมใต้สมอง ภาวะ CAH (Congenital Adrenal Hyperplasia) อันเกิดจากความผิดปกติของต่อมหมวกไตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ชายมีโครโมโซมเพศหญิง หรือการใช้ยากลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoids) เป็นเวลานาน
- การทำหมัน ผู้ชายที่ไม่ต้องการมีลูกจะตัดสินใจทำหมัน โดยแพทย์จะผ่าและปิดท่อที่ลำเลียงอสุจิไปยังอัณฑะ ทำให้ไม่มีอสุจิสำหรับสืบพันธุ์
- การใช้ยาและสารเสพติดอื่น ๆ ยารักษาโรคบางอย่างอาจก่อให้เกิดภาวะมีลูกยากได้ ดังนี้
- ซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine) ยานี้เป็นยาต้านอักเสบชนิดหนึ่ง ใช้รักษาโรคโครห์น (Cronh Disease) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทั้งนี้ ซัลฟาซาลาซีนอาจลดจำนวนอสุจิได้ โดยร่างกายจะสามารถกลับมาผลิตจำนวนอสุจิได้เท่าเดิมหลังจากหยุดใช้ยาแล้ว
- อนาโบลิคสเตียรอยด์ (Anabolic Steroids) ฮอร์โมนหรือสารกระตุ้นนี้จัดเป็นยาผิดกฎหมาย นำมาใช้สร้างกล้ามเนื้อและกระตุ้นร่างกายให้เล่นกีฬาได้ดีขึ้น ผู้ที่ใช้สารนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้จำนวนและสมรรถภาพการเคลื่อนตัวของอสุจิลดลง
- เคมีบำบัด ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ยา ซึ่งส่งผลต่อการผลิตอสุจิ
- สมุนไพรบางชนิด การใช้สมุนไพรเพื่อรักษาหรือบำรุงร่างกายสามารถก่อให้เกิดภาวะมีลูกยากได้ โดยสมุนไพรบางอย่าง เช่น เถาพระเจ้าฟ้าร้องหรือเหลย กง เถิง (Tripterygium Wilfordii) ซึ่งเป็นสมุนไพรจีนนั้น สามารถส่งผลต่อการผลิตอสุจิ รวมทั้งทำให้อัณฑะเล็กลง
- ความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานหรือการผลิตอสุจิ ผู้ที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือได้รับเชื้อหนองในแท้ หนองในเทียม คางทูม หรือเชื้อเอชไอวี สามารถประสบภาวะมีลูกยากได้ ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอัณฑะก็จะส่งผลต่อการทำงานและการผลิตอสุจิ เนื่องจากอัณฑะทำหน้าที่ผลิตและเก็บอสุจิ หากถุงอัณฑะได้รับความเสียหาย ก็จะส่งผลต่อคุณภาพของตัวอสุจิได้ โดยปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอัณฑะที่ส่งผลต่อการผลิตอสุจินั้น ประกอบด้วย
นอกจากนี้ ภาวะมีลูกยากมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้สูงทั้งในผู้หญิงและผู้ชายนั้น ประกอบด้วย
- อายุ ภาวะการเจริญพันธุ์ของผู้ชายและผู้หญิงจะค่อย ๆ เสื่อมลงไปตามอายุที่มากขึ้น โดยผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปจะเริ่มมีลูกยาก และเมื่ออายุ 37 ปีขึ้นไป สมรรถภาพในการตั้งครรภ์จะถดถอยอย่างรวดเร็ว เนื่องจากร่างกายผลิตไข่น้อยลง รวมทั้งอาจมีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ ส่วนผู้ชายที่อายุ 40 ปีขึ้นไป อาจมีลูกได้ยากกว่าผู้ชายที่อายุน้อยกว่า รวมทั้งอาจต้องใช้ยารักษาโรคบางอย่างที่ส่งผลให้มีลูกได้ยาก เช่น ยารักษาอาการทางจิต หรือยารักษามะเร็งบางชนิด
- การใช้สารเสพติด ผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพครรภ์ได้ ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกรณีที่วางแผนมีบุตร ส่วนผู้ชายอาจได้รับผลกระทบจากการดื่ม โดยจำนวนและสมรรถภาพในการเคลื่อนตัวของอสุจิจะลดลง รวมทั้งเสี่ยงเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดแก่ทารกได้สูง ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่หรือกัญชานั้น จะทำให้ผู้หญิงแท้งบ่อย ส่วนผู้ชายจะประสบภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศและจำนวนอสุจิลดลง
- น้ำหนักตัว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานเสี่ยงเกิดปัญหาการมีลูกได้ โดยผู้หญิงมีโอกาสมีลูกยากมากขึ้น ส่วนผู้ชายอาจมีจำนวนอสุจิน้อยลง
- การออกกำลังกาย ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย อาจทำให้เกิดภาวะอ้วน ซึ่งนำไปสู่ภาวะมีลูกยากได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ออกกำลังกายหักโหมจนน้ำหนักตัวน้อยเกินไป จะทำให้ร่างกายไม่สามารถตกไข่ได้ตามปกติ
การวินิจฉัยมีลูกยาก
ผู้ที่ประสบภาวะมีลูกยากจะได้รับการรักษาที่แตกต่างกันไประหว่างเพศหญิงและเพศชาย เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติการรักษาและการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย ได้แก่ การตั้งครรภ์ การแท้งบุตร ระยะเวลาที่พยายามมีลูก ระยะเวลาหลังหยุดคุมกำเนิด การมีเพศสัมพันธ์ การใช้ยารักษาโรค และพฤติกรรมเสี่ยงอันก่อให้เกิดภาวะมีลูกยาก ทั้งนี้ แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วย โดยผู้หญิงจะต้องรับการตรวจดัชนีมวลกาย ตรวจอุ้งเชิงกรานเพื่อดูการติดเชื้อหรือเนื้องอก ส่วนผู้ชายจะต้องเข้ารับการตรวจความผิดปกติหรือเนื้องอกที่อัณฑะ รวมทั้งตรวจรูปร่างองคชาตเพื่อดูความผิดปกติที่เกิดขึ้น การวินิจฉัยภาวะมีลูกยากของผู้ชายและผู้หญิง ยังประกอบด้วยการตรวจอีกหลายอย่าง ดังนี้
- การตรวจสำหรับผู้หญิง ผู้หญิงจะสามารถตั้งครรภ์ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการตกไข่ หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าว แพทย์จะตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- ทดสอบการตกไข่ แพทย์จะนำตัวอย่างเลือดผู้ป่วยไปตรวจฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพื่อดูว่าเกิดการตกไข่หรือไม่ โดยแพทย์จะพิจารณาช่วงเวลาสำหรับทดสอบการตกไข่จากความสม่ำเสมอของรอบเดือนผู้ป่วย ผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ปกติจะได้รับการกระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่ออกมาด้วยโกนาโดโทรปิน (Gonadotrophins)
- ฉีดสีดูท่อนำไข่ (Hysterosalpingography) วิธีนี้จะใช้ตรวจดูการอุดตันหรือปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นภายในมดลูกและท่อนำไข่ โดยแพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปข้างในมดลูก เพื่อให้ได้ภาพเอกซเรย์นำมาวินิจฉัยความผิดปกติภายในโพรงมดลูก รวมทั้งดูว่ามีของเหลวไหลออกจากท่อนำไข่หรือไม่
- ทดสอบการทำงานของรังไข่ (Ovarian Reserve Testing) วิธีนี้จะช่วยตรวจคุณภาพและจำนวนไข่ที่ตกออกมา โดยทดสอบจากฮอร์โมนของผู้ป่วย
- ทดสอบฮอร์โมนต่าง ๆ ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการทดสอบฮอร์โมนอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการตกไข่ เช่น ฮอร์โมนของต่อมใต้สมอง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการสืบพันธุ์
- ตรวจหนองในแท้ หนองในแท้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ แพทย์จะตรวจหนองในแท้ โดยปาดเก็บตัวอย่างเชื้อจากปากมดลูก เพื่อนำมาตรวจหาโรคดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจต้องตรวจปัสสาวะร่วมด้วย
- ตรวจด้วยภาพสแกน แพทย์จะใช้ภาพสแกนต่าง ๆ เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในมดลูก โดยแพทย์อาจอัลตราซาวด์ช่องคลอดเพื่อตรวจดูสุขภาพมดลูกและรังไข่ รวมทั้งตรวจหาการอุดตันที่ท่อนำไข่ หรืออาจเอกซเรย์มดลูกและท่อนำไข่ โดยฉีดสารทึบรังสีเข้าไป เพื่อตรวจการอุดตันของท่อนำไข่
- ส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับการตรวจด้วยวิธีนี้ เพื่อดูปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับมดลูกและท่อนำไข่ โดยแพทย์จะสอดอุปกรณ์ขนาดเล็กและบางเข้าไปยังมดลูก เพื่อดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
- ตรวจด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy) วิธีนี้จะใช้ตรวจท่อนำไข่ รังไข่ และมดลูก โดยแพทย์จะผ่าใต้สะดือผู้ป่วยให้เป็นแผลเพียงเล็กน้อยสำหรับสอดอุปกรณ์การตรวจเข้าไปข้างใน วิธีนี้จะช่วยระบุสาเหตุที่ทำให้มีลูกยาก ได้แก่ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ รอยแผล การอุดตันหรือความผิดปกติที่ท่อนำไข่ หรือปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นในรังไข่และมดลูก
- การตรวจสำหรับผู้ชาย กระบวนการสืบพันธุ์ของผู้ชายนั้นขึ้นอยู่กับการผลิตอสุจิของอัณฑะและการหลั่งอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ ผู้ที่ประสบภาวะมีลูกยากจะได้รับการตรวจหลายอย่าง เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้น ดังนี้
- ตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen Analysis) แพทย์จะให้ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิ เพื่อนำมาทดสอบและวิเคราะห์อสุจิ โดยผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการตรวจน้ำอสุจิจากตัวอย่างปัสสาวะ
- ทดสอบฮอร์โมน แพทย์จะเจาะเลือด เพื่อนำมาตรวจระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนและฮอร์โมนเพศชายอื่น ๆ
- ทดสอบทางพันธุกรรม ผู้ป่วยอาจได้รับการตรวจหรือทดสอบทางพันธุกรรม เพื่อดูว่าเกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ประสบภาวะมีลูกยากหรือไม่
- ตรวจชิ้นเนื้ออัณฑะ แพทย์จะผ่าเอาชิ้นเนื้ออัณฑะไปตรวจ โดยจะทำการตรวจนี้ให้แก่ผู้ป่วยบางราย การตรวจชิ้นเนื้ออัณฑะจะช่วยวินิจฉัยความผิดปกติที่ทำให้มีลูกยาก รวมทั้งเก็บอสุจิของผู้ป่วยเพื่อนำไปใช้ในการช่วยตั้งครรภ์ด้วยวิธีทางการแพทย์ เช่น ทำเด็กหลอดแก้ว
- ตรวจด้วยภาพสแกน ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สแกนความหนาแน่นของมวลกระดูก อัลตราซาวด์ต่อมลูกหมากหรือถุงอัณฑะ หรือตรวจท่อนำอสุจิ เพื่อตรวจหาความผิดปกติอันเป็นสาเหตุของการมีลูกยาก
- ตรวจอื่น ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องทดสอบอื่น ๆ เพื่อตรวจวัดคุณภาพของอสุจิ เช่น การตรวจหาความผิดปกติในดีเอ็นเอของตัวอย่างน้ำอสุจิ โดยการตรวจนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
การรักษามีลูกยาก
ภาวะมีลูกยากสามารถรักษาได้ด้วยยา การผ่าตัด หรือการช่วยตั้งครรภ์ด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยตามปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ สาเหตุที่ทำให้มีลูกยาก ระยะเวลาที่ประสบภาวะมีลูกยาก อายุของฝ่ายหญิง ความสมัครใจของผู้ป่วยหลังปรึกษากับแพทย์ โดยวิธีรักษาภาวะมีลูกยากของผู้ชายและผู้หญิงมี ดังนี้
- การรักษาสำหรับผู้หญิง ผู้หญิงที่ประสบภาวะมีลูกยากอาจต้องได้รับการรักษา 1-2 วิธี อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ จนกว่าจะสามารถตั้งครรภ์ได้ ดังนี้
- ยากระตุ้นการตกไข่ แพทย์จะใช้ยารักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ โดยจะให้ยาโคลมีฟีน (Clomifene) ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) โกนาโทรโดปิน (Gonatrodophins) หรือฮอร์โมนโกนาโทรโดปินและยากลุ่มโดพามีน อะโกนิสต์ (Dopamine Agonists) ยาเหล่านี้จะกระตุ้นและทำให้ตกไข่อย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลการรักษาและความเสี่ยงก่อนใช้ยา
- การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกโดยตรง (Intrauterine Insemination) แพทย์จะฉีดน้ำเชื้อเข้าไปปฏิสนธิกับไข่โดยตรง โดยจะสอดท่อพลาสติกที่บรรจุน้ำเชื้อเข้าไปที่มดลูกในช่วงที่เกิดการตกไข่ตามรอบเดือนปกติหรือจากการใช้ยากระตุ้นการตกไข่
- การผ่าตัด ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับมดลูก เช่น มีติ่งเนื้อโพรงมดลูก หรือเกิดแผลที่เนื้อเยื่อภายในมดลูก จะได้รับการผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อรักษาปัญหาดังกล่าว
- การรักษาสำหรับผู้ชาย ผู้ที่ประสบภาวะมีลูกยากอาจได้รับการรักษาปัญหาการร่วมเพศหรือสมรรถภาพของอสุจิ ซึ่งมีวิธีรักษาที่หลากหลาย ดังนี้
- ยารักษาสมรรถภาพอสุจิ แพทย์จะให้ยาเพิ่มจำนวนอสุจิ โดยยาเหล่านี้จะกระตุ้นการทำงานของอัณฑะ ส่งผลต่อคุณภาพและการผลิตอสุจิ
- การผ่าตัด ผู้ที่มีปัญหาท่อนำอสุจิอุดตันหรือหลอดเลือดดำอัณฑะขอด อาจได้รับการผ่าตัด ซึ่งใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้มีลูกได้ตามปกติ
- การเก็บน้ำเชื้อ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ จะต้องเก็บน้ำเชื้ออสุจิไว้ เพื่อนำไปใช้ในการช่วยตั้งครรภ์ด้วยวิธีทางการแพทย์ต่อไป
- การปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้ชีวิต ปัจจัยจากพฤติกรรมเสี่ยงหรือการใช้ยาต่าง ๆ สามารถทำให้ประสบภาวะมีลูกยากได้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาหรือสารเสพติดที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ปรับระยะเวลาและความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ ออกกำลังกายเป็นประจำ รวมทั้งเปลี่ยนพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้มีลูกยาก
นอกจากนี้ วิธีรักษาภาวะมีลูกยากสามารถแก้ไขได้ด้วยการช่วยตั้งครรภ์ตามเทคนิคทางการแพทย์ ซึ่งมีหลายวิธีได้แก่ เด็กหลอดแก้ว การทำอิ๊กซี การช่วยฟักตัวอ่อน อุ้มบุญเทียม และการบริจาคไข่และอสุจิ ดังนี้
- เด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilisation: IVF) วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันมากที่สุด โดยแพทย์จะให้ฝ่ายหญิงรับประทานยากระตุ้นการตกไข่ เพื่อให้ร่างกายผลิตไข่ออกมามากกว่าปกติ จากนั้นจึงนำไข่ออกจากรังไข่ เพื่อผสมกับอสุจิในห้องทดลอง เมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนแล้ว แพทย์จะนำตัวอ่อนไปฝังในมดลูกของฝ่ายหญิงเพื่อให้เจริญเป็นทารกต่อไป
- การทำอิ๊กซี (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI) วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ฝ่ายชายผลิตอสุจิได้น้อย หรือคุณภาพของอสุจิต่ำ รวมทั้งใช้ในกรณีที่ทำเด็กหลอดแก้วไม่สำเร็จ วิธีการของการทำอิ๊กซีเป็นส่วนหนึ่งในการทำเด็กหลอดแก้ว โดยแพทย์จะฉีดน้ำเชื้อที่มีอสุจิสุขภาพสมบูรณ์เข้าไปปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิงโดยตรงในห้องทดลอง จากนั้นจะนำไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนไปฝังในมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เจริญเป็นทารก
- การช่วยฟักตัวอ่อน (Assisted Hatching) วิธีนี้จะช่วยให้ตัวอ่อนสามารถฝังตัวภายในมดลูกได้ โดยแพทย์จะทำการเปิดเปลือกของตัวอ่อนเพื่อนำไปฝังภายในมดลูกต่อไป
- อุ้มบุญเทียม ผู้หญิงที่ประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับมดลูก หรือสุขภาพครรภ์มีความเสี่ยงสูงจนไม่สามารถอุ้มท้องได้เอง อาจต้องให้ผู้อื่นอุ้มท้องแทนตน โดยแพทย์จะนำตัวอ่อนของคู่รักไปฝังที่มดลูกของผู้ที่จะอุ้มบุญให้
- การบริจาคอสุจิและไข่ ผู้ที่ประสบภาวะมีลูกยาก รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับไข่และอสุจิ อาจต้องรับบริจาคไข่ อสุจิ หรือตัวอ่อน ซึ่งการรับบริจาคดังกล่าวมักนำไปใช้ทำเด็กหลอดแก้ว
อย่างไรก็ตาม วิธีรักษาภาวะมีลูกยากบางวิธี ก็ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ดังนี้
- ตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์แฝดถือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาภาวะมีลูกยากที่พบได้ทั่วไปมากที่สุด โดยอาจตั้งครรภ์แฝดสอง แฝดสาม หรือมากกว่านั้น หากมีจำนวนทารกแฝดมาก ก็เสี่ยงคลอดก่อนกำหนดมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพและปัญหาด้านพัฒนาการได้สูง ผู้ที่วางแผนมีบุตรด้วยวิธีทางการแพทย์ควรปรึกษาวิธีป้องกันการตั้งครรภ์แฝดก่อน
- เกิดภาวะการกระตุ้นรังไข่เกิน (Ovarian Hyperstimulation Syndrome: OHSS) ผู้ที่ใช้ยากระตุ้นการตกไข่อาจประสบภาวะนี้ได้ ซึ่งจะทำให้รังไข่บวมและเกิดอาการปวดรังไข่ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดท้อง ท้องบวมและคลื่นไส้นานหลายสัปดาห์หรือมากกว่านั้นในกรณีที่ตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและหายใจลำบาก ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวพบได้ไม่บ่อยนัก
- มีเลือดออกหรือติดเชื้อ ผู้ที่ใช้วิธีช่วยตั้งครรภ์ด้วยวิธีทางการแพทย์บางอย่าง เสี่ยงตกเลือดและติดเชื้อได้สูง
การป้องกันการมีลูกยาก
ภาวะมีลูกยากที่เกิดจากสาเหตุบางอย่างที่ไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม คู่รักยังมีโอกาสมีลูกได้ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ช่วงที่ฝ่ายหญิงตกไข่ โดยควรเริ่มมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 5 วันก่อนตกไข่ ไปจนถึงหลังวันที่ตกไข่ ทั้งนี้ ภาวะมีลูกยากที่เกิดจากสาเหตุอื่น สามารถป้องกันได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
- หยุดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ส่งผลต่อสมรรถภาพในการเจริญพันธุ์
- เลี่ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด เช่น กัญชา หรือโคเคน
- ลดปริมาณการได้รับคาเฟอีน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ควรหักโหมออกกำลังกายมากเกินไป ทั้งนี้ การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นคุณภาพของอสุจิ และเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้มากขึ้น
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไปจะส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมน และนำไปสู่ภาวะมีลูกยากได้
- เลี่ยงอยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงมาก หรือสถานที่ที่เต็มไปด้วยสารพิษ เนื่องจากสภาพแวดล้อมดังกล่าวส่งผลต่อการผลิตอสุจิ
- จำกัดการใช้ยาที่ทำให้มีลูกยาก ควรปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ใช้ยาดังกล่าวเป็นประจำ รวมทั้งไม่ควรหยุดใช้ยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งทำจิตใจให้ผ่อนคลาย เพื่อลดความเครียดในชีวิตประจำวัน