ความหมาย ม่านตาอักเสบ (Uveitis)
ม่านตาอักเสบ (Uveitis) คือการอักเสบของยูเวีย (Uvea) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อชั้นกลางของผนังลูกตา และบางครั้งอาจลามไปยังบริเวณอื่นของดวงตา ผู้ป่วยมักมีอาการตาแดง เจ็บตา ตามัว ซึ่งอาจเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง และพบได้ทุกเพศทุกวัย
ม่านตาอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อ การได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน และโรคประจำตัวอื่น ๆ ผู้ป่วยม่านตาอักเสบควรได้รับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากปล่อยไว้ อาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
สาเหตุของม่านตาอักเสบ
ยูเวีย (Uvea) คือเนื้อเยื่อชั้นกลางของผนังลูกตา ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ม่านตา (Iris) มีลักษณะเหมือนกระจกอยู่บริเวณส่วนหน้าสุดของดวงตา ทำให้ตาของเรามีสี เนื้อเยื่อซิลเลียรี่ (Ciliary Body) ช่วยปรับความคมชัดของการมองเห็น และเนื้อเยื่อคอรอยด์ (Choroid) เป็นกลุ่มของเส้นเลือดฝอยในดวงตา ซึ่งม่านตาอักเสบอาจเกิดขึ้นได้ทั้ง 3 ส่วน และอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็น
ผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งหนึ่งมักมีอาการม่านตาอักเสบโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ แต่สันนิษฐานว่าม่านตาอักเสบอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
การติดเชื้อ
การติดเชื้ออาจเกิดจาก
- เชื้อไวรัส เช่น เชื้อเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ที่ทำให้เกิดโรคเริม เชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส และงูสวัด และเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
- เชื้อแบคทีเรีย เช่น แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรควัณโรคและซิฟิลิส
- เชื้อปรสิตจากสุนัขและแมว และเชื้อปรสิตในหมูดิบ ซึ่งทำให้เกิดพยาธิตืดหมู
- เชื้อรา เช่น เชื้อรากลุ่มแคนดิดา (Candida) และเชื้อราแอสเปอร์จิลโลซิส (Aspergillosis)
ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและการอักเสบในร่างกาย
ม่านตาอักเสบอาจเกิดในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น
- ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease)
- โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis)
- โรคข้ออักเสบ และรูมาตอยด์
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- โรคลูปัส (Lupus) หรือภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง
- โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis)
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
นอกจากนี้ ม่านตาอักเสบอาจเกิดจากโรคมะเร็งบางชนิดที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อดวงตา เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย
การได้รับบาดเจ็บ
ม่านตาอักเสบอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาจากอุบัติเหตุ การสัมผัสสารเคมี การผ่าตัดดวงตา
ผลข้างเคียงจากยา
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) ยาไซโดโฟเวียร์ (Cidofovir) ยาไรฟาบูทิน (Rifabutin) อาจทำให้เกิดม่านตาอักเสบได้
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ
ผู้ที่มีความผิดปกติของยีน หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่สูบบุหรี่อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะม่านตาอักเสบได้มากกว่าคนทั่วไป
อาการม่านตาอักเสบ
อาการม่านตาอักเสบอาจเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ซึ่งมักเกิดอาการอย่างเฉียบพลัน และอาการมักจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว โดยอาการที่พบ มีดังนี้
- ตาแดง
- เจ็บตา
- ตามัว มองเห็นวัตถุลอยไปมา (Floaters) เช่น จุดดำ หรือเส้นคล้ายหยากไย่
- ตาไวต่อแสงมาก
- ปวดหัว
- การมองเห็นลดลง
อาการม่านตาอักเสบมีหลายประเภท ซึ่งอาการอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดอาการ ผู้ป่วยส่วนมากมักเกิดอาการบริเวณม่านตา ซึ่งเป็นส่วนหน้าสุดของดวงตา (Anterior Uveitis) แต่บางครั้งอาจเกิดการอักเสบบริเวณอื่น ซึ่งอาการจะรุนแรงกว่าและรักษาได้ยากกกว่า เช่น การอักเสบที่วุ้นตา จอประสาทตา ช่องหลังลูกตา หรือทุกส่วนของผนังลูกตาชั้นกลาง
อาการม่านตาอักเสบที่ควรไปพบแพทย์
หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการม่านตาอักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตาอย่างละเอียดและรับการรักษาอย่างเหมาะสมก่อนที่จะเกิดความเสียหายรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง มองเห็นแสงวาบหรือวัตถุลอยอย่างเฉียบพลัน หรือเห็นวัตถุที่ลอยอยู่ชัดขึ้น สูญเสียการมองเห็นบางส่วนหรือทั้งหมด
การวินิจฉัยม่านตาอักเสบ
แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพ เช่น เคยประสบอุบัติเหตุ สารเคมีเข้าตา หรือการติดเชื้อโรคใดมาก่อนหรือไม่ รวมทั้งประวัติการใช้ยา จากนั้น แพทย์จะตรวจอาการที่ดวงตาเบื้องต้น และอาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น
การตรวจดวงตา
การตรวจดวงตาโดยจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยภาวะม่านตาอักเสบ อาจประกอบด้วย
- การวัดสายตา โดยอาจให้ผู้ป่วยสวมแว่นสายตาที่เคยใส่อยู่ตามปกติ เพื่อตรวจดูการตอบสนองของลูกตาต่อแสง
- การใช้กล้องจุลทรรศน์กล้องจักษุจุลทรรศน์ชนิดลำแสงแคบ (Slit-lamp Examination) เพื่อประเมินสุขภาพตาโดยรวม
- การตรวจวัดความดันลูกตา (Tonometer) ซึ่งอาจมีการหยอดยาชาให้ผู้ป่วยก่อนตรวจ
- การตรวจด้วยออพธัลโมสโคป (Ophthalmoscopy) โดยการหยอดยาขยายม่านตา แล้วใช้ไฟส่องเพื่อตรวจความผิดปกติบริเวณดวงตาด้านหลัง เช่น จอตา (Retina)
- การตรวจวิเคราะห์ขั้วประสาทตา (Optical Coherence Tomography) เพื่อดูอาการบวมของชั้นต่างๆ ของเนื้อเยื่อลูกตาและจอตา
การตรวจด้วยวิธีอื่น
นอกจากการตรวจตา แพทย์อาจตรวจภาวะม่านตาอักเสบด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ และดัชนีบ่งชี้ภูมิคุ้มกัน (Immune Marker)
นอกจากนี้ อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจด้วยการเอกซเรย์ ซีที สแกน (CT Scan) และเอ็มอาร์ไอ (MRI) กรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะม่านตาอักเสบจากโรคอื่น ๆ
การรักษาม่านตาอักเสบ
การรักษาม่านตาอักเสบจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ตำแหน่งที่เกิดอาการ และความรุนแรงของอาการ หากม่านตาอักเสบมีสาเหตุจากโรคประจำตัว การรักษาอาจมุ่งเน้นไปที่การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของม่านตาอักเสบ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยหายดีได้ แต่กรณีที่มีภาวะม่านตาอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ การรักษาจะมุ่งเน้นที่การลดอาการบวมภายในดวงตา ซึ่งอาจใช้หลายวิธีร่วมกันในการรักษา เช่น
การใช้ยา
การใช้ยาในการรักษาม่านตาอักเสบมีหลายประเภท เช่น
- ยาลดการอักเสบ เช่น ยากลุ่ม NSAIDs และยาคอร์ติโคสเตรียรอยด์ (Corticosteroid) ซึ่งอาจเป็นยาหยอดตา ยารับประทาน หรือยาฉีดขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของอาการ
- ยาที่ใช้ในการขยายม่านตา ซึ่งจะช่วยคลายกล้ามเนื้อตา และควบคุมอาการกระตุกในม่านตาและเนื้อเยื่อซิลเลียรี่ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดตาได้ด้วย
- ยาฆ่าเชื้อไวรัส และยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กรณีที่ม่าตาอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ
- ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะม่านตาทั้ง 2 ข้างอักเสบ มีอาการรุนแรงจนส่งผลต่อการมองเห็น หรือไม่ตอบสนองต่อยาลดการอักเสบที่ใช้รักษา
การผ่าตัด
บางครั้งอาจมีการรักษาผู้ป่วยม่านตาอักเสบด้วยการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเอาน้ำวุ้นบางส่วนภายในลูกตาออก และการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ขนาดเล็กในดวงตา ซึ่งเป็นเครื่องที่ช่วยปล่อยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ช้า ๆ ทีละน้อย โดยจะใช้วิธีนี้ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อรักษาม่านตาอักเสบอาจมีผลข้างเคียง และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อกระจกและต้อหิน ในระหว่างการใช้ยา ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของดวงตาตามนัดอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนอาจกลับมามีอาการม่านตาอักเสบซ้ำได้หลังจากรักษาจนหายแล้ว หากมีอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ภาวะแทรกซ้อนของม่านตาอักเสบ
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ม่านตาอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น
- ต้อกระจก และต้อหิน
- การบวมที่จุดรับภาพชัด (Macular Edema)
- เกิดแผลที่จอตา และจอตาลอก (Retinal Detachment)
- เส้นประสาทตาเสียหาย
- สูญเสียการมองเห็นถาวร
การป้องกันม่านตาอักเสบ
ม่านตาอักเสบไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดม่านตาอักเสบได้ด้วยการสวมแว่นป้องกันขณะทำงานที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่ดวงตา ตรวจตาเป็นประจำทุกปี หรือบ่อยกว่านั้นหากมีโรคเกี่ยวกับตา หากมีอาการติดเชื้อ หรือมีโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างเหมาะสม