ยา PEP (Post-Exposure Prophylaxis)
ยา PEP (Post-Exposure Prophylaxis) หรือยาเป๊ป เป็นกลุ่มยาต้านไวรัสที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) หลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยหรือถุงยางอนามัยฉีกขาด ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยยา PEP อาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้ถึง 80% หากรับประทานตามที่แพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง
ยา PEP เป็นยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น อีกทั้งยิ่งรับประทานยาเร็วเท่าใด ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสูง โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อควรรับประทานยา PEP ภายใน 72 ชั่วโมง เพราะหากนานเกินกว่านั้น ยาอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำลง
ปริมาณการใช้ยา PEP
ยา PEP เป็นยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีที่สามารถใช้ได้กับทุกคน ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร โดยยา PEP มักประกอบด้วยยาต้านไวรัส 3 ชนิด แพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้สูตรยา PEP ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแต่ละสูตรอาจมีตัวยาต้านไวรัสและวิธีการรับประทานที่แตกต่างกันไป
ตัวอย่างปริมาณการใช้ยา PEP เช่น
1. ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) + เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) + โดลูเทกราเวียร์ (Dolutegravir)
รูปแบบยา ยาเม็ดสำหรับรับประทาน
ยา PEP สูตรนี้ประกอบด้วยยาทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) ยาเอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) และยาโดลูเทกราเวียร์ (Dolutegravir) โดยผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อรับประทานยาวันละ 1 เม็ด 1 ครั้งเป็น ติดต่อกันนาน 28 วัน
2. ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) + ลามิวูดีน (Lamivudine) + โดลูเทกราเวียร์ (Dolutegravir)
รูปแบบยา ยาเม็ดสำหรับรับประทาน
ยา PEP สูตรนี้ประกอบด้วยยาทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) ยาลามิวูดีน (Lamivudine) และยาโดลูเทกราเวียร์ (Dolutegravir) โดยผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ควรรับประทานยาวันละ 1 เม็ด 1 ครั้ง ติดต่อกันนาน 28 วัน
คำเตือนและข้อควรระวังจากการใช้ยา PEP
การใช้ยา PEP ให้ปลอดภัย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ เช่น
- แจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง หากมีประวัติการแพ้ยาใด ๆ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากเคยมีประวัติทางสุขภาพหรือกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพใด ๆ อยู่ในปัจจุบัน
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใดอยู่ เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้
- ควรรับประทานยา PEP ในปริมาณที่แพทย์สั่งและควรรับประทานอย่างต่อเนื่องให้ครบ 28 วัน อีกทั้งยังควรรับประทานยาในเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน เพราะจะทำให้ระดับยาในเลือดคงที่และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ
- ยา PEP เป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หรือป้องกันการตั้งครรภ์ได้
- ยา PEP เป็นยาที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น หากต้องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ควรใช้วิธีการอื่น เช่น การรับประทานยา PrEP การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช้เซ็กซ์ทอยร่วมกับผู้อื่น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา PEP
การรับประทานยา PEP มักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ในบางกรณี อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดหัว
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- อ่อนเพลีย
- นอนไม่หลับ
หากพบผลข้างเคียงต่าง ๆ ระหว่างการรับประทานยา PEP ผู้ใช้ยาไม่ควรหยุดยาด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้ยามีประสิทธิภาพในการป้องกันลดลงได้ ทั้งนี้ หากผลข้างเคียงของยา PEP มีอาการรุนแรงหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับยา PEP จำเป็นต้องเข้ารับคำปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี โดยควรทำทั้งหมด 2 ครั้ง คือช่วง 4–6 สัปดาห์หลังจากรับประทานยา และ 12 สัปดาห์หลังจากรับประทานยา