ยานอนหลับ (Sleeping pills)
ยานอนหลับ (Sleeping pills) เป็นยาที่ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น ซึ่งยานอนหลับมักถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการนอนหลับผิดปกติ เช่น โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) และอาจนำมาใช้เพื่อรักษาโรควิตกกังวลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยานอนหลับเป็นยาที่ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และใช้ตามที่ฉลากยาระบุเท่านั้นเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
ยานอนหลับส่วนใหญ่เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ และแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท เช่น กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) กลุ่มยาซีดรักส์ (Z-drugs) กลุ่มยาเมลาโทนิน รีเซ็พเตอร์ อะโกนิสต์ (Melatonin receptor agonists) กลุ่มยาต้านเศร้า กลุ่มยากันชัก นอกจากนี้ อาจมียาชนิดอื่นที่ออกฤทธิ์ง่วงซึม และหาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น ยาต้านฮิสตามีน ทั้งนี้ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาเพื่อความปลอดภัย
ปริมาณการใช้ยานอนหลับ
แพทย์อาจจ่ายยานอนหลับให้ตามความเหมาะสมของอาการนอนไม่หลับ ซึ่งอาจมีขนาดและวิธีการใช้ยาแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ควรศึกษารายละเอียดทุกครั้งก่อนใช้ยา
ตัวอย่างการใช้ยานอนหลับ เช่น
ยาฟลูราซีแพม (Flurazepam)
รูปแบบยา : ยาแคปซูล
ผู้ใหญ่อาจรับประทานยาฟลูราซีแพมในปริมาณที่แตกต่างกัน ผู้หญิงรับประทานยาฟลูราซีแพมขนาด 15 มิลลิกรัม และสำหรับผู้ชายรับประทานยาฟลูราซีแพมขนาด 15–30 มิลลิกรัม โดยรับประทานยาวันละ 1 ครั้งก่อนนอน
ยาไตรอาโซแลม (Triazolam)
รูปแบบยา : ยาเม็ด
ผู้ใหญ่รับประทานยาไตรอาโซแลมขนาด 0.125–0.25 มิลลิกรัม โดยรับประทานยาวันละ 1 ครั้งก่อนนอน
ยาโซลพิเดม (Zolpidem)
รูปแบบยา : ยาเม็ด
ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาโซลพิเดม
ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine)
รูปแบบยา : ยาเม็ด ยาแคปซูล และยาน้ำเชื่อม
ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาไดเฟนไฮดรามีน
ยาราเมลทีออน (Ramelteon)
รูปแบบยา : ยาเม็ด
ผู้ใหญ่รับประทานยาราเมลทีออนขนาด 8 มิลลิกรัม โดยรับประทานยาวันละ 1 ครั้งก่อนนอน
คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้ยานอนหลับ
การใช้ยานอนหลับอย่างปลอดภัย ผู้ใช้ยาควรปฏิบัติตามข้อแนะนำจากแพทย์ รวมถึงคำแนะนำต่าง ๆ ดังนี้
- ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ หากเคยมีประวัติการแพ้ยา โดยเฉพาะยาในกลุ่มยานอนหลับ หรือเคยมีประวัติในการใช้ยาหรือสารเสพติด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา
- การรับประทานยานอนหลับอาจทำให้รู้สึกง่วงซึม ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุหลังจากการใช้ยา เช่น การขับรถ การขึ้น-ลงบันได
- ควรใช้ยานอนหลับในปริมาณที่แพทย์สั่ง เพราะการรับประทานยานอนหลับในปริมาณมากอาจส่งผลให้เกิดอาการเพ้อ การหายใจและการไหลเวียนเลือดช้าลง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
- ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบทุกครั้งหากกำลังใช้ยาใดอยู่ โดยเฉพาะยาต้านเศร้า ยาต้านฮิสตามีน และยาคลายกังวล เพราะการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางหรือทำให้ง่วงซึมร่วมกัน อาจทำให้การหายใจช้าลงและเสียชีวิตได้
- ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการใช้ยานอนหลับ หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคตับ โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคชัก โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
- ไม่ควรใช้ยานอนหลับร่วมกับแอลกอฮอล์และสารเสพติด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
- ไม่ควรใช้ยานอนหลับในระยะยาวหรือใช้ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการดื้อยา และอาจส่งผลให้อาการนอนไม่หลับแย่ลง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับ
การใช้ยานอนหลับอาจส่งผลให้รู้สึกเวียนศีรษะ การทรงตัวมีปัญหา หรือง่วงนอนในช่วงกลางวัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น การขับรถ การทำงาน การเรียน หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ การใช้ยานอนหลับยังอาจทำให้เกิดผลข้างอื่น ๆ อีก เช่น
- ปวดศีรษะ
- ท้องผูก หรือท้องเสีย
- ปากแห้ง
- แสบร้อนกลางอกหรือลิ้นปี่
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ปวดท้อง ลมในกระเพาะอาหารเยอะ
- ตัดสินใจช้าลง
- ความสามารถในการจดจำลดลง
- อาการละเมอ หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เช่น เดิน กิน ออกจากบ้าน หรือขับรถ
- เสพติดการใช้ยานอนหลับ
หากมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นหลังจากการใช้ยานอนหลับ ควรหยุดรับประทานยาและปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อป้องกันอันตรายอื่น ๆ ที่อาจตามมา นอกจากนี้ การรักษาอาการนอนไม่หลับ ไม่ควรพึ่งพาแต่ยานอนหลับเพียงอย่างเดียว แต่ควรรักษาตามสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนให้ดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้การนอนหลับเริ่มดีขึ้นตามมาได้