ยาหม่อง

ยาหม่อง

ยาหม่อง เป็นยาทาภายนอกสำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ อาการปวด บวม อักเสบจากแมลงกัดต่อย หรือใช้ดมเพื่อช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศรีษะ หน้ามืด เป็นลม ส่วนประกอบหลักของยาหม่องคือสารระเหยและสารสกัดจากสมุนไพรหลายชนิด เช่น เมนทอล การบูร บางสูตรอาจมีสารเมทิลซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) เพื่อเพิ่มสรรพคุณบรรเทาอาการปวดให้ดียิ่งขึ้น

ยาหม่อง

เกี่ยวกับยาหม่อง

กลุ่มยา ยาระงับอาการปวด
ประเภทยา ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ ปวดบวมจากแมลงกัดต่อย และวิงเวียนศรีษะ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ขี้ผึ้ง และชนิดน้ำ

คำเตือนการใช้ยาหม่อง

  • ผู้ที่มีผิวบอบบางหรือผิวแพ้ง่ายควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้
  • สตรีมีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
  • ห้ามใช้กับทารกหรือเด็กเล็ก หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ห้ามกลืนหรือรับประทานยาหม่องโดยเด็ดขาด
  • ห้ามใช้ยาหม่องทาบริเวณผิวที่แห้ง แตก แพ้ง่าย ผิวไหม้จากแสงแดด หรือมีแผล
  • ห้ามใช้ผ้าพันแผลพันบริเวณผิวหนังที่ป้ายยา
  • ห้ามให้ผิวบริเวณที่ป้ายยาสัมผัสความร้อน ควรหลีกเลี่ยงการแช่น้ำร้อน ซาวน่า หรือใช้แผ่นประคบร้อน
  • ห้ามทายาหม่องภายใน 1 ชั่วโมงก่อนอาบน้ำ และ 30 นาที หลังอาบน้ำ

ทั้งนี้ ยาหม่องน้ำที่มีสารเมทิลซาลิไซเลตเป็นส่วนประกอบหลักไม่ควรนำมาใช้สูดดม เพราะอาจระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ส่วนสารระเหยชนิดอื่น ๆ หากสูดดมที่ความเข้มข้นสูงอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูกได้เช่นกัน นอกจากนั้น ศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์ระบุว่าการสูดดมเมนทอลมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการมึนงง สับสน มองเห็นภาพซ้อน และกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้

ปริมาณการใช้ยาหม่อง

ยาหม่องสำหรับทา ทาและนวดตามบริเวณที่มีอาการปวด เมื่อย หรือมีแมลงสัตว์กัดต่อย ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

ยาหม่องสำหรับสูดดม สูดดมเมื่อมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม

การใช้ยาหม่อง

  • ปฏิบัติตามข้อแนะนำการใช้ยาของแต่ละผลิตภัณฑ์หรือตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาหม่องในปริมาณมากเกิน น้อยเกิน หรือใช้ติดต่อกันนานกว่าที่กำหนด
  • หากใช้เป็นครั้งแรก ควรป้ายยาหม่องปริมาณเล็กน้อยลงบนข้อพับแขนหรือข้อมือแล้วทิ้งไว้สักครู่ หากพบว่ามีอาการแพ้ เช่น ผิวหนังแดง มีผื่น ควรล้างผิวบริเวณที่ป้ายยาด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
  • ล้างมือก่อนและหลังจากใช้ยาหม่องทุกครั้ง
  • หากยาหม่องเข้าตา จมูก หรือปาก ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดทันที
  • รีบไปพบแพทย์หากอาการปวดไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน กลับมาปวดซ้ำภายใน 2-3 วันหลังจากหายดีแล้ว หรือมีผื่นแดง ปวดศรีษะ มีไข้ หลังจากใช้ยา
  • เก็บยาหม่องไว้ที่อุณหภูมิห้อง ป้องกันไม่ให้ถูกแสงแดด และปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาหม่อง

ยาหม่องอาจทำให้รู้สึกร้อนหรือเย็นบริเวณผิวหนังที่ป้ายยา ซึ่งความรู้สึกนี้จะค่อย ๆ บรรเทาไปเอง ทั้งนี้ หากมีอาการแพ้รุนแรง เช่น ลมพิษ ผิวไหม้ แสบร้อนหรือระคายเคืองที่ผิวมาก หายใจลำบาก มีอาการบวมตามใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที