ยาอมแก้เจ็บคอ

ยาอมแก้เจ็บคอ

ยาอมแก้เจ็บคอ มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการเจ็บและระคายเคืองภายในช่องปากและลำคอ ปัจจุบันมีหลายยี่ห้อให้เลือกใช้ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยตัวยาหลายชนิด เช่น ยาแก้ปวดและลดการอักเสบ ยาชาเฉพาะที่ ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ ยาปฏิชีวนะ และสารฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ บางชนิดอาจทำมาจากสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เช่น มะแว้ง ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยให้ชุ่มคอ เป็นต้น

Sore Throat Lozenges

เกี่ยวกับยาอมแก้เจ็บคอ

กลุ่มยา ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอ
ประเภทยา ยาที่หาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ บรรเทาอาการเจ็บภายในช่องปากและลำคอ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด

คำเตือนของการใช้ยาอมแก้เจ็บคอ

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยาชนิดนี้ หากเคยมีอาการแพ้ยา อาหาร หรือสารชนิดใดก็ตาม
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการเจ็บป่วยและยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ก่อนใช้ยาอมแก้เจ็บคอ ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อใช้เอง สมุนไพร วิตามิน หรืออาหารเสริมใด ๆ
  • ยาชนิดนี้อาจทำให้รู้สึกชาภายในช่องปาก ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารขณะยาออกฤทธิ์ เพราะอาจทำให้เผลอกัดลิ้นหรือมีปัญหาในการกลืนได้
  • การใช้ยาอมแก้เจ็บคอที่มีส่วนผสมของยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้รู้สึกง่วงซึม ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การทำงานที่ต้องใช้เครื่องจักรกล และกิจกรรมที่ต้องใช้ความระมัดระวังขณะใช้ยานี้
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่ควรใช้ยาอมแก้เจ็บคอ
  • สตรีมีครรภ์ กำลังวางแผนตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาชนิดนี้ก่อนใช้

ปริมาณการใช้ยาอมแก้เจ็บคอ

บรรเทาอาการเจ็บภายในช่องปากและลำคอ

ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ให้อมครั้งละ 1 เม็ด ทุก 2-3 ชั่วโมง โดยปล่อยให้ละลายในปากช้า ๆ

การใช้ยาอมแก้เจ็บคอ

  • รับประทานยาอมแก้เจ็บคอที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • ควรใช้ยาอมแก้เจ็บคอตามฉลากหรือตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามรับประทานเกินปริมาณที่กำหนด
  • ควรปล่อยให้ยาละลายในปากอย่างช้า ๆ ไม่ควรเคี้ยวยา และห้ามกลืนยาลงไปทั้งเม็ดเป็นอันขาด
  • หากลืมใช้ยา ให้ใช้ยาทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งถัดไป ให้ข้ามไปครั้งถัดไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า
  • ควรไปพบแพทย์ทันที หากใช้ยาติดต่อกันเกินกว่า 2 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน รู้สึกไม่สบายท้อง หรือมีผื่นแดงตามร่างกายร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานให้เลือกรับประทานยาอมแก้เจ็บคอชนิดไม่มีน้ำตาล
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความร้อนและความชื้น

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาอมแก้เจ็บคอ

โดยปกติยาชนิดนี้มักไม่มีผลข้างเคียงหรือมีผลข้างเคียงน้อยมาก แต่ยาอมแก้เจ็บคอที่มีส่วนผสมของยาชาอาจส่งผลให้รู้สึกชาภายในช่องปากได้ หากอาการชาไม่หายไปหลังจากหยุดใช้ยา หรือมีอาการบวม รู้สึกเจ็บ ระคายเคืองในช่องปากและลำคอ ผู้ใช้ยาควรปรึกษาแพทย์  แต่หากมีอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ  หายใจติดขัด ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม ควรไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ ยาอมแก้เจ็บคอที่มีส่วนผสมของตัวยาบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงได้ ทำให้ยาอมแก้เจ็บคอหลายยี่ห้อต้องติดคำว่ายาอันตรายไว้ข้างซอง ได้แก่

  • ยาเฟอร์บิโพรเฟน จัดเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หากใช้ปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดแผลและมีเลือดออกในทางเดินอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
  • ยาเบนโซเคน ยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย (Methemoglobinemia) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง