ยาเหน็บช่องคลอด
ยาเหน็บช่องคลอด เป็นยาที่ใช้เหน็บหรือสอดเข้าไปในช่องคลอด มีลักษณะเป็นวัตถุรูปวงรีหรือรูปไข่ขนาดเล็ก ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วกว่ายารับประทาน เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ร่างกายตัวยาจะละลายและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่บริเวณช่องคลอดโดยตรง และมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลืนยาหรือผู้ที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้ดูดซึมยาได้ไม่ดี มักใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ภาวะช่องคลอดแห้ง และใช้คุมกำเนิด หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
ยาเหน็บช่องคลอดมีทั้งชนิดหาซื้อได้เองหรือต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาเมโทรนิดาโซล ยาคลินดามัยซิน ยาโคลไตรมาโซล เป็นต้น
วิธีใช้ยาเหน็บช่องคลอด
- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นและสบู่
- แกะห่อยาเหน็บช่องคลอดออก หากใช้อุปกรณ์ช่วยสอดยาให้ใส่ยาเข้าไปในหลอดบรรจุ
- นอนหงายและงอเข่าขึ้นมาทางหน้าอก
- ค่อย ๆ ใส่หลอดบรรจุยาเข้าไปในช่องคลอดหรือใช้นิ้วดันยาให้ลึกเข้าไป
- หากใช้อุปกรณ์ช่วยสอดยา ให้กดลูกสูบของหลอดบรรจุยาจนยาเหน็บเข้าไปในช่องคลอด จากนั้นนำหลอดบรรจุยาออกจากช่องคลอด
- นอนอยู่ในท่าเดิมประมาณ 2-3 นาที เพื่อให้ยาถูกดูดซึม
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นอีกครั้ง
- ยาเหน็บช่องคลอดอาจไหลออกมาจากช่องคลอดได้ เพื่อความสะดวกจึงควรใช้ในเวลาก่อนนอน ผู้ป่วยอาจสวมใส่ผ้าอนามัยเพื่อป้องกันยาเปื้อนกางเกงหรือผ้าปูที่นอน
- ก่อนเหน็บยาผู้ป่วยอาจนำยาจุ่มน้ำเล็กน้อยเพื่อให้เหน็บยาเข้าไปในช่องคลอดได้ง่ายขึ้น
- การทำตามขั้นตอนการสอดยาเข้าไปในช่องคลอดข้างต้นจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายและเจ็บน้อยที่สุด หากผู้ป่วยมีปัญหาในการเหน็บยาหรือมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
คำเตือนในการใช้ยาเหน็บช่องคลอด
ยาเหน็บช่องคลอดแต่ละประเภทล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบในยาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วยในปัจจุบัน ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาวิธีการใช้ยาและคำเตือนบนฉลากให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดวิธี
ตัวอย่างข้อควรระวังในการใช้ยาเหน็บช่องคลอด ได้แก่
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาเหน็บช่องคลอดชนิดใดก็ตาม รวมถึงยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัวหรืออาการเจ็บป่วยใดก็ตาม เพราะการใช้ยานี้อาจส่งผลกระทบต่อโรคบางชนิดที่เป็นอยู่ได้
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะยาเหน็บช่องคลอดอาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่น ทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือประสิทธิภาพของยาลดลงได้ เช่น ยาเหน็บช่องคลอดยาเมโทรนิดาโซล อาจทำปฏิกิริยากับยาไดซัลฟิแรมหรือยาลิเทียม
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยมีประวัติเข้ารับการผ่าตัดหรือการบำบัดด้วยรังสีในบริเวณช่องคลอด หรือมีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ เพราะยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
- หญิงที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยาเหน็บช่องคลอดบางชนิดสามารถซึมผ่านน้ำนมมารดาและอาจเป็นอันตรายต่อทารก
- ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรทราบว่ากำลังใช้ยาเหน็บช่องคลอดชนิดนั้น ๆ อยู่
- ผู้ป่วยสามารถใช้ยาเหน็บช่องคลอดในช่วงที่มีรอบเดือนได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดเพราะผ้าอนามัยอาจดูดซึมยาไปบางส่วน
- ใช้ยาตามฉลากหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- หากสงสัยว่าใช้ยาในปริมาณเกินกว่าที่กำหนดหรือลืมใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
- ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิต่ำหรือเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อป้องกันยาละลาย หรือเก็บยาตามคำแนะนำบนฉลากและตามคำสั่งแพทย์
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเหน็บช่องคลอด
เนื่องจากยาเหน็บช่องคลอดแต่ละชนิดมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลยาจากฉลากอย่างระมัดระวัง และใช้ยาอย่างถูกวิธี หากพบอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และไปพบแพทย์ทันทีหากอาการเหล่านั้นไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาเหน็บช่องคลอด ได้แก่
- อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง พุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ แน่นหน้าอกหรือลำคอ หายใจเสียงดัง มีปัญหาในการหายใจหรือการพูด เสียงแหบ เป็นต้น
- ยาเหน็บช่องคลอดอาจไหลหรือหลุดออกมาได้เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกาย
- ร่างกายของผู้ป่วยบางรายอาจดูดซึมยาเหน็บช่องคลอดได้ไม่ดีเท่ากับการใช้ยารับประทาน
- อาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณช่องคลอดหรือมีตกขาวผิดปกติ
- มีภาวะช่องคลอดแห้ง หรือมีอาการแสบบริเวณดังกล่าว
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- ปากแห้ง