ราซากิลีน

ราซากิลีน

Rasagiline (ราซากิลีน) เป็นยารักษาโรคพาร์กินสันในกลุ่มยับยั้งเอ็นไซม์เอ็มเอโอ ออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มระดับสารเคมีบางชนิดในสมอง เช่น โดปามีน นอร์อิพิเนฟริน และเซโรโทนิน เป็นต้น ใช้รักษาอาการของโรคพาร์กินสันอย่างอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก ตัวสั่น หรือไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้ โดยอาจนำมาใช้ร่วมกับยาเลโวโดปาหรือยาคาร์บิโดปา นอกจากนี้ ยาชนิดนี้อาจถูกนำมาใช้รักษาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

Rasagiline

เกี่ยวกับยา Rasagiline

กลุ่มยา ยาเอ็มเอโอไอ อินฮิบิเตอร์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการโรคพาร์กินสัน
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Rasagiline

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติการแพ้ยา Rasagiline หรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ และยาชนิดอื่น รวมทั้งอาการแพ้อื่น ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่หรือเคยใช้ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนใช้ยา Rasagiline ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เนื่องจากมียาหลายชนิดที่อาจมีปฏิกิริยากับยานี้ เช่น ไซโคลเบนซาพรีน เดกซ์โทรเมทอร์แฟน เมเพอริดีน เมทาโดน ทรามาดอล และสมุนไพรเซนต์จอห์นวอร์ท เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยหากเคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคไต โรคตับ ภาวะความดันโลหิตสูงหรือต่ำ หรือเคยใช้ยาไซโปรฟลอกซาซิน
  • ห้ามรับประทานยา Rasagiline หากภายใน 14 วันที่ผ่านมามีการใช้ยาในกลุ่ม MAOI เช่น ลีเนโซลิด ฟีเนลซีน ไอโซคาร์บอกซาซิด เซเลกิลีน เป็นต้น
  • เนื่องจากการใช้ยา Rasagiline ร่วมกับยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการในกลุ่มอาการระดับสารเซโรโทนินในร่างกายสูง ดังนั้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากกำลังใช้ยากระตุ้น ยากลุ่มโอปิออยด์ ยาสมุนไพร ยารักษาโรคซึมเศร้าหรืออาการทางจิต ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ยารักษาอาการติดเชื้อร้ายแรง รวมถึงยาที่ใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน
  • เนื่องจากผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมามากขึ้น ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและอาการทางผิวหนังที่ควรระวังก่อนใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การขับรถ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างการใช้ยาจนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เนื่องจากยา Rasagiline อาจส่งผลให้มีอาการวิงเวียนหรือง่วงซึมได้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารไทรามีน เนื่องจากอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงจนอาจเกิดอันตรายได้
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งหรือการนอนอย่างรวดเร็ว โดยควรลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอนอย่างช้า ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอาการมึนงงหรือการล้ม
  • เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาชนิดนี้ส่งผลที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนการมีบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายาชนิดนี้สามารถส่งผ่านทางน้ำนมหรือไม่

ปริมาณการใช้ยา Rasagiline

กลุ่มอาการพาร์กินโซนิซึมชนิดที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

ผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณ 1 มิลลิกรัม/วัน วันละ 1 ครั้ง โดยรับประทานในปริมาณเท่ากันทั้งการรับประทานยาชนิดนี้เพียงชนิดเดียว หรือรับประทานร่วมกับยาเลโวโดปา

การใช้ยา Rasagiline

  • ใช้ยา Rasagiline ตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • สามารถรับประทานยา Rasagiline พร้อมหรือไม่พร้อมมื้ออาหารก็ได้ โดยรับประทานตามคำสั่งของแพทย์
  • ห้ามใช้ยาในปริมาณมากหรือน้อยกว่าที่แพทย์แนะนำหรือที่ฉลากระบุไว้ และห้ามใช้เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด
  • ห้ามแบ่งยารับประทานร่วมกับผู้อื่น และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้กับเวลาที่ต้องใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยารอบต่อไป โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยา
  • ห้ามหยุดใช้ยา Rasagiline อย่างกะทันหันโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียงบางอย่าง
  • การรับประทานยา Rasagiline เพียงชนิดเดียว และการรับประทานร่วมกับยารักษาโรคพาร์กินสันชนิดอื่น ๆ อาจมีปริมาณที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรับประทานยาในปริมาณตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิดอย่างอาหารที่มีสารไทรามีน เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา และควรรับประทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้ให้คำปรึกษาทางโภชนาการ
  • หากอาการของโรคพาร์กินสันยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการที่รุนแรงขึ้นหลังจากใช้ยา Rasagiline ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจความดันโลหิตในระหว่างที่ใช้ยา
  • เก็บรักษายาในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น โดยเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท ห้ามเก็บในห้องน้ำ และควรเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Rasagiline

การใช้ยา Rasagiline อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดข้อ มีอาการแสบร้อนกลางอก มือบวม เท้าบวม ปากแห้ง ไอ มีอาการของไข้หวัด ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้ และอาจพบปัญหาการนอนหลับอย่างนอนไม่หลับ หรือฝันแปลก ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ การใช้ยา Rasagiline ร่วมกับยา Levodopa อาจทำให้มีอาการเผลอหลับในระหว่างที่ทำกิจกรรมในช่วงกลางวันได้ เช่น ขณะที่ทำงาน พูดคุย รับประทานอาหาร หรือขับรถ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น หากมีอาการง่วงนอนในระหว่างวันหรือมีอาการง่วงซึมควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการที่เป็นสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นคัน หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ เป็นต้น
  • มีอาการง่วงนอนอย่างมาก หรือนอนหลับได้ทันทีแม้จะเพิ่งรู้สึกตื่นตัว
  • มีพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่ผิดปกติ
  • เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
  • สูญเสียการทรงตัว
  • เกิดรอยช้ำหรือมีเลือดออกง่าย
  • มีอาการของโรคพาร์กินสันที่รุนแรงขึ้น โดยอาจไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้
  • มีความดันโลหิตสูงในระดับที่อันตราย ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีการมองเห็นที่เปลี่ยนไปโดยอาจเห็นภาพซ้อน สายตาพร่ามัว หรือไวต่อแสงมากเกินไป รู้สึกวิตกกังวลหรือสับสน เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หายใจไม่อิ่ม มีอาการอ่อนแรงอย่างมาก ชัก หรือมีอาการลักษณะเหมือนเป็นชีพจรเต้นตุบ ๆ บริเวณคอหรือหู เป็นต้น
  • มีอาการที่เกิดจากระดับสารเซโรโทนินในร่างกายสูง ซึ่งอาจทำให้มีอาการ เช่น หัวใจเต้นเร็ว เห็นภาพหลอน กระสับกระส่าย มีไข้ สูญเสียการทำงานประสานกันของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เหงื่อออก ตัวสั่น กล้ามเนื้อเกร็งหรือกระตุก คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย เป็นต้น
  • ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้ เช่น มีความต้องการทางเพศสูงขึ้น หรือติดการเล่นการพนัน เป็นต้น