ความหมาย รูขุมขนอักเสบ
รูขุมขนอักเสบ คืออาการของรูขุมขนที่ติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ทำให้เกิดเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ หรือสิวหัวขาวขึ้นบริเวณผิวหนังที่มีการอักเสบ พบได้ทุกส่วนของร่างกายที่มีขน โดยเฉพาะหนังศีรษะ หน้าอก หลัง ก้น แขน และขา อาการดังกล่าวหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่ไม่ดีขึ้นอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ
รูขุมขนอักเสบแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามความลึกของการอักเสบ ดังนี้
- รูขุมขนอักเสบระดับตื้น เป็นการอักเสบของรูขุมขนเฉพาะบางส่วน ซึ่งอยู่บริเวณชั้นผิวหนังที่ไม่ลึกมากนัก ได้แก่
- รูขุมขนอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นการอักเสบของรูขุมขนที่พบบ่อย มักทำให้เกิดอาการคันและมีตุ่มหนองสีขาวขึ้นบริเวณผิวหนัง มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ซึ่งอาศัยอยู่บนผิวหนัง โดยจะติดเชื้อก็ต่อเมื่อผิวหนังมีบาดแผล
- รูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา เป็นการอักเสบอันเกิดจากการติดเชื้อรา มักก่อให้เกิดตุ่มหนองสีแดงบริเวณหลังหรือหน้าอกอย่างเรื้อรัง หรือบางครั้งอาจพบได้ตามใบหน้า คอ ไหล่ และต้นแขนได้เช่นกัน
- รูขุมขนอักเสบจากใบมีดโกน เป็นการอักเสบจากขนคุดที่อาจก่อให้เกิดแผลเป็นนูนสีเข้มขึ้นได้ในภายหลัง สาเหตุของการเกิดขนคุดและอักเสบเป็นผลมาจากการโกนหนวดหรือเส้นขนใกล้ผิวหนังมากเกินไป โดยเฉพาะในผู้ชายที่มีเส้นผมหรือเส้นขนหยิกซึ่งเสี่ยงเกิดขนคุดในลักษณะนี้ได้มาก บริเวณที่สังเกตเห็นรูขุมขนอักเสบชนิดนี้ได้ชัดที่สุดคือใบหน้าและลำคอ นอกจากนี้ การโกนขนบริเวณอวัยวะเพศอาจทำให้มีอาการนี้ได้เช่นกัน
- รูขุมขนอักเสบจากการแช่น้ำร้อน อาจก่อให้เกิดผื่นแดงหรือตุ่มกลมที่มีอาการคันในช่วง 1-2 วัน หลังจากสัมผัสเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส ซึ่งอาศัยอยู่ตามบ่อน้ำร้อนหรือสระว่ายน้ำที่มีค่า pH หรือระดับสารคลอรีนไม่เหมาะสม
- รูขุมขนอักเสบระดับลึก เป็นการอักเสบของรูขุมขนในชั้นผิวหนังที่ลึกลงไปจากประเภทแรก มักมีอาการรุนแรงกว่า ได้แก่
- รูขุมขนอักเสบชั้นลึกบริเวณหนวดและเครา เป็นผลข้างเคียงจากการโกนหนวดและเคราที่พบได้ในผู้ชาย
- รูขุมขนอักเสบจากการใช้ยารักษาสิว การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาสิวติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลให้เกิดรูขุมขนอักเสบชนิดนี้ได้
- ฝีและฝีฝักบัว การติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสของรูขุมขนในระดับที่ลึกลงไปจะก่อให้เกิดฝีหัวสีแดงหรือชมพูที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด หรืออาจมีฝีขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม เรียกว่าฝีฝักบัว
- รูขุมขนอักเสบในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี พบได้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี อาการของรูขุมขนอักเสบชนิดนี้จะแสดงในลักษณะตุ่มแดงคันหรือสิวบริเวณใบหน้าและร่างกายส่วนบน เมื่อตุ่มเหล่านี้ลดลงหรือหายดีแล้วอาจทิ้งรอยดำไว้ที่ผิวหนังบริเวณนั้นได้
อาการของรูขุมขนอักเสบ
อาการรูขุมขนอักเสบที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ ตุ่มสีแดงขนาดเล็กบริเวณรูขุมขนและมีเส้นขนอยู่ตรงกลางตุ่ม หรือเป็นสิวหัวสีขาวตามผิวหนัง อาจมีหนองอยู่ภายใน บางครั้งอาจเกิดขึ้นใกล้ ๆ กันเป็นกลุ่ม นอกจากนี้ ตุ่มดังกล่าวอาจทำให้มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน มีอาการกดเจ็บ หรือมีตุ่มบวมขนาดใหญ่บริเวณดังกล่าวได้อีกด้วย
สาเหตุของรูขุมขนอักเสบ
รูขุมขนอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส หรือเชื้อรา ผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อดังกล่าวผ่านการสัมผัสผิวหนังหรือของใช้ส่วนตัวของผู้ติดเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดตัว สบู่ หรือเสื้อผ้า นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจนำมาสู่การติดเชื้อจนเกิดการอักเสบของรูขุมขนได้ มีดังนี้
- ผิวหนังอักเสบ หรือมีสิว
- มีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการต้านทานการติดเชื้อของร่างกาย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ เป็นต้น
- กำลังใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ครีมสเตียรอยด์ หรือยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาสิวในระยะยาว
- ชายที่มีลักษณะเส้นขนหรือเส้นผมหยิกเสี่ยงเกิดขนคุดและกลายเป็นรูขุมขนอักเสบเมื่อโกนขนหรือหนวดมากกว่าคนกลุ่มอื่น
- การว่ายน้ำในสระหรือใช้บริการบ่อน้ำร้อนและสปาที่ไม่สะอาด ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
- ผิวหนังเกิดความเสียหายหรือเป็นแผลจากการใช้ใบมีดโกน
- การอุดตันหรือการระคายเคืองของรูขุมขนที่เกิดจากเหงื่อ น้ำมันเครื่อง หรือเครื่องสำอาง
- การสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นหรือมีเนื้อผ้าหยาบเกินไป ทำให้เสียดสีผิวหนังและเกิดการระคายเคือง
การวินิจฉัยอาการรูขุมขนอักเสบ
ในเบื้องต้น อาการของรูขุมขนอักเสบสังเกตได้จากลักษณะผิวหนังที่เปลี่ยนไป เช่น มีผื่นหรือตุ่มลักษณะผิดปกติ หากไม่แน่ใจว่าอาการดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใดหรือรู้สึกเป็นกังวล ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ขั้นแรกแพทย์จะตรวจดูบริเวณผิวหนังที่เกิดผื่นหรือตุ่ม พร้อมซักประวัติด้านสุขภาพและกิจกรรมบางอย่างที่ผู้ป่วยเคยทำในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จากนั้นอาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่อาการของปัญหาผิวหนังชนิดอื่น ๆ เช่น แผลพุพอง หรือผดร้อน วิธีการตรวจที่อาจนำมาใช้ มีดังนี้
- การเก็บตัวอย่างของเหลวจากตุ่มหนองเพื่อนำไปตรวจเพาะเชื้อหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของรูขุมขนอักเสบ
- การนำตัวอย่างเส้นขนหรือเส้นผมบริเวณที่มีอาการไปตรวจหาการติดเชื้อราด้วยสารโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์
- การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ผิวหนังเพื่อนำไปตรวจยืนยันผลการวินิจฉัย
เมื่อทราบผลการตรวจและวินิจฉัยได้อย่างแน่ชัดแล้ว แพทย์จะพิจารณาวางแผนการรักษาต่อไป
การรักษารูขุมขนอักเสบ
วิธีการรักษารูขุมขนอักเสบนั้นขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของอาการ หากอาการไม่รุนแรงมากนักอาจหายดีได้เอง ในระหว่างรอให้อาการดีขึ้น ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองเพื่อลดอาการเจ็บปวดหรือช่วยให้หายเร็วขึ้น รวมทั้งป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อด้วยวิธีต่อไปนี้
- ประคบบริเวณที่มีอาการด้วยผ้าชุบน้ำเกลืออุ่น ๆ เป็นประจำทุกวัน เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด
- หมั่นทำความสะอาดบริเวณแผลด้วยสบู่ที่มีส่วนผสมของสารต้านเชื้อแบคทีเรียอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และเช็ดด้วยผ้าสะอาด หลังใช้เสร็จแล้วควรซักผ้าดังกล่าวด้วยสบู่และน้ำร้อนเพื่อไม่ให้เชื้อโรคตกค้าง
- ใช้ครีมหรือเจลทาบริเวณที่อักเสบ หรือล้างด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะซึ่งมีขายตามร้านขายยาทั่วไป
- ทาโลชั่นหรือครีมที่มีส่วนผสมของไฮโดรคอร์ติโซนเพื่อบรรเทาอาการคัน
- หลีกเลี่ยงการโกนขนบริเวณผิวหนังที่อักเสบหรือปล่อยให้รูขุมขนฟื้นตัวจนหายดีก่อน หากจำเป็นต้องโกนควรเปลี่ยนใบมีดทุกครั้ง
- ทำความสะอาดเสิ้อผ้า ชุดเครื่องนอน และผ้าเช็ดตัวด้วยน้ำร้อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น
ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงหรือเชื้อแพร่กระจายไปยังผิวหนังบริเวณอื่น ๆ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อราเพื่อรักษาการติดเชื้อ ขึ้นอยู่กับเชื้อที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ในกรณีที่มีอาการเรื้อรังหรือกลับมาเป็นซ้ำ ผู้ป่วยอาจต้องใช้ทั้งยาทาและยารับประทานสำหรับรักษาอาการอักเสบและติดเชื้อควบคู่กันไป
ทั้งนี้ หากมีการอักเสบหรือติดเชื้อจนเกิดเป็นหนอง แพทย์อาจใช้การผ่าตัดระบายหนองเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและทำให้แผลหายเร็วขึ้น หากรักษาทุกวิธีแล้วยังมีภาวะรูขุมขนอักเสบเกิดซ้ำหรือผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ แพทย์อาจเสนอให้ใช้เลเซอร์กำจัดขน วิธีนี้จะช่วยลดการติดเชื้อโดยทำลายรูขุมขนอย่างถาวร และส่งผลให้ความหนาแน่นของขนในบริเวณดังกล่าวลดลงด้วย แต่อาจมีผลข้างเคียงเป็นแผลพุพอง รอยแผลเป็น หรือรอยด่างที่ผิวหนังได้
ภาวะแทรกซ้อนรูขุมขนอักเสบ
ส่วนใหญ่แล้วรูขุมขนอักเสบหายได้เองและไม่มีอาการรุนแรง แต่ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างตามมา ดังนี้
- เกิดรอยด่างที่ผิวหนัง อาการอักเสบที่ผิวหนังอาจทำให้เกิดรอยด่างที่มีสีเข้มหรืออ่อนกว่าสีผิวปกติได้
- เส้นขนหลุดร่วงถาวร เนื่องจากรูขุมขนเกิดความเสียหาย
- รอยแผลเป็น การอักเสบของรูขุมขนในระดับลึกหรือมีการเกาอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้ แต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก
- ฝีหรือซีสต์ใต้ผิวหนัง ตุ่มบนผิวหนังที่เกิดจากการอักเสบอาจขยายตัวกลายเป็นฝีหรือซีสต์ สร้างความเจ็บปวดจนต้องผ่าตัดเพื่อระบายหนองออกในที่สุด แต่กรณีนี้พบได้น้อย
- เซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังอักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการอักเสบของรูขุมขนในระดับลึกซึ่งพบได้ไม่บ่อย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เคยมีอาการรูขุมขนอักเสบมาก่อนอาจกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งได้ หากเกิดการติดเชื้อหรือระคายเคืองที่ผิวหนัง
การป้องกันรูขุมขนอักเสบ
รูขุมขุนอักเสบป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการอักเสบตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- อาบน้ำทุกครั้งหลังการออกกำลังกายหรือทำงานที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดสารเคมี
- อาบน้ำทุกวันด้วยสบู่อ่อน ๆ เพื่อป้องกันการระคายเคืองจากสารเคมีภายในผลิตภัณฑ์อาบน้ำ
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัวหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นหรือมีเนื้อผ้าหยาบเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและนำไปสู่การอักเสบ
- เลี่ยงการทาน้ำมันบนผิวหนัง เพราะน้ำมันอาจดักจับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ภายในรูขุมขนและทำให้เกิดการอักเสบได้
- โกนขนหรือหนวดตามทิศทางของขน หรืออาจใช้มีดโกนไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดขนคุด ไม่ควรโกนชิดผิวหนังเกินไป และเลี่ยงการใช้มีดโกนที่ทื่อหรือขึ้นสนิม