ความหมาย ลมพิษเรื้อรัง
ลมพิษเรื้อรัง (Chronic Hives/Chronic Urticaria) เป็นอาการทางผิวหนังที่ทำให้เกิดผื่นนูนและคันทั่วร่างกาย ผู้ป่วยลมพิษเรื้อรังจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป แม้จะไม่ทำให้เกิดอันตรายรุนแรง แต่จะทำให้ผู้ป่วยให้รู้สึกไม่สบายตัว นอนหลับยาก และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ลมพิษเรื้อรังมักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาจเกิดขึ้นเมื่อเกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อ และหลังจากร่างกายได้รับปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียดและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง หากมีอาการลมพิษเรื้อรังนานกว่า 6 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วย เช่น ให้ยารักษาอาการคัน และแนะนำวิธีดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการคันจากลมพิษ
อาการลมพิษเรื้อรัง
อาการลมพิษเรื้อรังมีลักษณะทั่วไปคล้ายลมพิษชนิดเฉียบพลัน แต่ผู้ป่วยลมพิษเรื้อรังจะมีอาการอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องนานกว่า 6 สัปดาห์ โดยสามารถเกิดลมพิษซ้ำได้บ่อยและตลอดเวลา บางคนอาจมีอาการเรื้อรังหลายเดือนไปจนถึงหลายปี ซึ่งอาการที่พบได้ มีดังนี้
- เกิดผื่นนูนกระจายทั่วผิวหนังอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 0.5–10 เซนติเมตร และมีรูปร่างแตกต่างกันไป
- ผื่นนูนอาจมีสีแดง ม่วง หรือสีเดียวกับสีผิวก็ได้ แต่หากใช้นิ้วกดตรงกลางตุ่มจะมีสีที่ซีดจางลง
- รู้สึกคันบริเวณที่มีอาการ บางคนอาจคันมาก และอาจมีอาการเจ็บหรือแสบผิว
- ผื่นคันเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย เช่น หน้าอก ต้นแขน ท้อง หลัง ก้น และต้นขา และอาจทำให้เกิดอาการบวมรอบดวงตา แก้ม และปาก
หากมีอาการลมพิษที่ไม่หายดีภายใน 1 สัปดาห์ มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ทุก 2–3 เดือน มีอาการคันรุนแรง หรือมีอาการติดเชื้อ เช่น ผิวบวมแดง และมีหนอง ควรไปพบแพทย์ โดยทั่วไป ลมพิษเรื้อรังมักไม่ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) แต่หากมีอาการเวียนหัว แน่นหน้าอกรุนแรง หายใจลำบาก ลิ้น ปาก หรือลำคอบวม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
สาเหตุของลมพิษเรื้อรัง
โดยทั่วไป ลมพิษเกิดจากการที่ร่างกายปล่อยสารฮิสตามีน (Histamine) และสารอื่น ๆ ออกมาในกระแสเลือด ซึ่งพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ลมพิษเรื้อรังอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Chronic Idiopathic Urticaria) หรืออาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
โรคประจำตัว
โรคและภาวะผิดปกติในร่างกายที่อาจทำให้เกิดลมพิษเรื้อรัง เช่น
- โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เช่น โรครูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis) โรคต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิคุ้มกัน (Hashimoto's Thyroiditis) โรคด่างขาว (Vitiligo) และโรคเบาหวาน
- การติดเชื้อ เช่น ไวรัสตับอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ โรคติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H.Pylori)
- โรคหืด
- โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
- โรคตับ
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin's Lymphoma) และชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin's Lymphoma)
ปัจจัยภายนอก
ลมพิษเรื้อรังอาจถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น
- การได้รับรังสียูวี (Ultraviolet) การได้รับความร้อนหรือเย็นจัด
- การแกะเกา หรือแรงเสียดสีที่ผิวหนัง เช่น การใส่เสื้อผ้าและผ้าโพกหัวที่รัดแน่นจนเกินไป การถือกระเป่าหนัก การนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน และการรัดเข็มขัดในรถยนต์
- การมีเหงื่อออกมากหลังออกกำลังกาย
- ความเครียด
- การสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น อาหาร ยางพารา ละอองเกสรดอกไม้ สะเก็ดผิวหนังสัตว์เลี้ยง และการถูกแมลงกัดต่อย
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่ม NSAIDs
- การรับประทานวัตถุเจือปนอาหาร เช่น ซาลิไซเลต (Salicylates) สารกันบูด และสีผสมอาหาร
การวินิจฉัยลมพิษเรื้อรัง
แพทย์จะสอบถามลักษณะของผื่นลมพิษ ระยะเวลาและความถี่ที่เกิดอาการ รวมทั้งสอบถามพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นลมพิษ เช่น กิจกรรมที่ทำ การสวมเสื้อผ้า ความเครียด อาหารและยาที่รับประทาน และดูผื่นลมพิษเบื้องต้น จากนั้นอาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องออก เช่น
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาปริมาณแอนติบอดี (Antibody) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เช่น สารก่อภูมิแพ้และเชื้อโรคต่าง ๆ
- การตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ (Allergy Test) เพื่อให้ทราบว่าอาการลมพิษของผู้ป่วยเกิดจากการแพ้สารใด
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การตัดชิ้นเนื้อทางผิวหนัง (Skin Biopsy Procedure) โดยตัดชิ้นเนื้อเล็ก ๆ บริเวณที่เป็นผื่นลมพิษ และนำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคผิวหนัง
- การตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจการทำงานของไต ตรวจเอนไซม์ในตับ และตรวจไทรอยด์
การรักษาลมพิษเรื้อรัง
ลมพิษเรื้อรังมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ นานหลายเดือนหรือหลายปี แต่อาการส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง การรักษาลมพิษเรื้อรังจึงจะเน้นที่การบรรเทาอาการคันที่รบกวนการนอนหลับและการทำกิจกรรมอื่น ๆ และการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งวิธีการรักษาลมพิษเรื้อรัง มีดังนี้
1. การดูแลตัวเอง
การปรับพฤติกรรมจะช่วยป้องกันการกำเริบของลมพิษเรื้อรังได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดลมพิษ เช่น อาหาร ยา ละอองเกสรดอกไม้ สะเก็ดผิวหนังสัตว์ และแมลงกัดต่อย
- ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันผิวหนังอักเสบจากการเกาและทำให้อาการของผื่นลมพิษรุนแรงขึ้น
- สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เนื้อผ้าโปร่งสบาย ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดรูป เนื้อผ้าหยาบ หรือผ้าที่ทำจากขนสัตว์ เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิว
- อาบหรือแช่น้ำเย็นโดยผสมเบคกิ้งโซดา และประคบบริเวณผื่นลมพิษด้วยผ้าชุบน้ำเย็น หรือผ้าขนหนูห่อน้ำแข็ง ซึ่งช่วยบรรเทาอาการคัน
- หากอยู่ในที่ที่อากาศเย็น ควรสวมเสื้อผ้าให้อบอุ่น และหลีกเลี่ยงการลงว่ายน้ำในวันที่อากาศเย็น
- ใช้ครีมเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวเป็นประจำ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบว่าไม่ก่อให้เกิดการแพ้และระคายเคือง (Hypoallergenic)
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านอย่างน้อย 30 นาที
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น ทำงานอดิเรก เล่นโยคะ นั่งสมาธิ
2. การใช้ยา
ยาที่ใช้รักษาลมพิษเรื้อรังมีทั้งยาทาและยารับประทาน ซึ่งบางชนิดสามารถหาซื้อได้เอง และบางชนิดเป็นยาที่แพทย์สั่งจ่าย เช่น
ยาทาแก้คัน
ยาทาที่หาซื้อได้เอง เช่น โลชั่นคาลาไมน์ (Calamine Lotion) หรือครีมที่มีส่วนผสมของเมนทอล ซึ่งมีฤทธิ์เย็นและช่วยบรรเทาอาการคัน
ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine)
ผู้ป่วยลมพิษเรื้อรังที่ทราบสาเหตุของโรค แพทย์จะสั่งจ่ายรับประทานยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน ซึ่งช่วยบรรเทาอาการคัน บวม และรักษาอาการภูมิแพ้ โดยยับยั้งการปล่อยสารฮีสตามีนของร่างกาย เช่น ยาเซทิไรซีน (Cetirizine) ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) ซึ่งไม่ทำให้ง่วงและผลข้างเคียงน้อย อย่างไรก็ตาม ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
ผู้ป่วยลมพิษบางรายอาจใช้ยาเพียงตัวเดียว แต่ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจต้องใช้ยาต้านฮีสตามีนในกลุ่มอื่น หรือใช้ยาหลายตัวร่วมกันเพื่อช่วยควบคุมอาการ
ยาอื่น ๆ
กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการลมพิษเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุหรือมีอาการรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอื่นเพิ่มเติมเพื่อควบคุมอาการผื่นลมพิษ เช่น
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ชนิดทาสำหรับผู้ที่อาการไม่รุนแรง และชนิดรับประทาน เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) สำหรับผู้ที่อาการรุนแรง ซึ่งช่วยบรรเทาการอักเสบและอาการคัน
- ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) และยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ซึ่งออกฤทธิ์กดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- ยาฉีด เช่น โอมาลิซูแมบ (Omalizumab) สำหรับรักษาลมพิษเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านฮิสตามีน
ภาวะแทรกซ้อนของลมพิษเรื้อรัง
ความรู้สึกคันไม่สบายตัวจากลมพิษเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เช่น รบกวนการเรียน การทำงาน การทำกิจกรรมต่าง ๆ และทำให้นอนหลับยากหรือหลับไม่สนิท ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหากับคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว เพื่อน และคนที่ทำงาน และบางคนอาจมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้าและปลีกตัวออกจากสังคม
ลมพิษเรื้อรังมักไม่ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) แต่หากมีอาการเวียนศีรษะ ลิ้น ริมฝีปาก ปาก หรือลำคอบวม หายใจลำบาก และรู้สึกคล้ายจะเป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
การป้องกันลมพิษเรื้อรัง
การป้องกันลมพิษเรื้อรังอาจทำได้ด้วยการลดความเสี่ยงของการกำเริบของผื่นลมพิษ ดังนี้
- จดบันทึกอาการที่เกิดขึ้น เช่น บริเวณที่เกิด ระยะเวลา กิจกรรมที่ทำ อาหารที่รับประทานจะช่วยให้ผู้ป่วยทราบและหลีกหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นหรือสารต่าง ๆ ที่กระตุ้นการเกิดลมพิษเรื้อรัง เช่น อาหาร ยา แมลง ละอองเกสรดอกไม้ สะเก็ดผิวหนังสัตว์ ความร้อนและความเย็นจัด
- สวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ เนื้อผ้าเบาสบาย ระบายอากาศได้ดี
- ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด
- รักษาโรคประจำตัว เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดลมพิษเรื้อรังไปด้วย