ลิ้นเป็นฝ้า

ความหมาย ลิ้นเป็นฝ้า

ลิ้นเป็นฝ้า (White Tongue) ไม่ใช่โรคแต่เป็นหนึ่งในอาการชั่วคราวที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย เกิดจากการสะสมของแบคทีเรียหรือเชื้อรา รวมกับเซลล์ที่ตายแล้วซึ่งติดอยู่ระหว่างตุ่มเล็ก ๆ บนเนื้อลิ้น ทั้งนี้อาการลิ้นเป็นฝ้าไม่ใช่โรคหรืออาการร้ายแรง มักจะอยู่เพียงชั่วคราว แต่ถ้าหากอาการลิ้นฝ้ายังไม่หายไปหลังจากที่ผู้ป่วยใช้แปรงสีฟันแปรงลิ้นบริเวณที่เป็นสีฝ้าขาวเบา ๆ หรือหลังจากดื่มน้ำจำนวนมาก หรือเป็นนานว่า 2 สัปดาห์ อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อหรืออาการร้ายแรงอื่น ๆ ได้ด้วย

White Tongue

อาการของลิ้นเป็นฝ้า

ผู้ป่วยสังเกตอาการลิ้นเป็นฝ้าได้ด้วยตนเอง บนผิวลิ้นจะปรากฏเป็นปื้นหรือรอยสีขาว อาจมีอาการเจ็บ หรือลักษณะอื่น ๆ ของลิ้นเกิดการเปลี่ยนแปลงไปร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

สาเหตุของลิ้นเป็นฝ้า

สาเหตุของอาการลิ้นเป็นฝ้านั้นเกิดจากการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา รวมกับเซลล์ที่ตายแล้ว โดยเกิดจากการที่ปุ่มรับรสพองโต และในบางกรณีมีการอักเสบที่ปุ่มเหล่านั้นด้วย สาเหตุที่ทำให้เกิดการพองโตหรือการอักเสบรวมทั้งอาการลิ้นเป็นฝ้าประกอบด้วยอาการปากแห้ง ช่องปากไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาสูบ การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ อาการไข้ หายใจทางปาก โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในผู้ใหญ่ การรับประทานอาหารแต่อาหารนิ่มหรือบดจนละเอียด และการระคายเคืองในช่องปากจากขอบฟันคม ๆ หรืออุปกรณ์เกี่ยวกับฟัน นอกจากนี้ ลิ้นเป็นฝ้ายังเกิดจากโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่สำคัญได้อีก เช่น

  • เชื้อราในปากซึ่งเป็นการติดเชื้อของเชื้อราภายในปาก จากเชื้อแคนดิดา (Candida Yeast) มักเกิดขึ้นบ่อยในผู้ป่วยวัยทารกหรือวัยสูงอายุ เชื้อราในปากอาจก่อให้เกิดความรู้สึกแสบร้อนร่วมกับขุยสีขาวบนลิ้นที่สามารถขูดออกได้ ทั้งนี้เชื้อราในปากอาจเกิดขึ้นได้ง่ายหากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ใช้ยาปฏิชีวนะบ่อย ใส่ฟันปลอม หรือมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์
  • ลิ้นลายแผนที่ (Geographic Tongue) ซึ่งปกติแล้วลิ้นธรรมดาจะมีปุ่มรับรสเล็ก ๆ (Papillae) สีชมพูหรือขาวขึ้นปกคลุม คล้ายกับตุ่มขนสั้น ๆ แต่สำหรับลิ้นลายแผนที่ปุ่มรับรสเหล่านั้นจะหายไปเหลือเพียงลิ้นที่ราบเรียบ มีลายสีแดงคล้ายกับเกาะซึ่งมีขอบนูนเล็กน้อยดูเหมือนรูปแผนที่ ทั้งนี้ลิ้นลายแผนที่ไม่ใช่อาการรุนแรงต่อร่างกายและไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อโรคมะเร็งแต่อย่างใด
  • โรคฝ้าขาว (Leukoplakia) เกิดจากการทับถมของโปรตีนเคอราติน รวมทั้งการผลิตเซลล์จำนวนมากจากช่องปากจนเกิดเป็นรอยสีขาวปรากฏบนเนื้อลิ้น อาจเป็นผลจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปร่วมกับการสูบบุหรี่ ถึงแม้ว่าปกติแล้วโรคฝ้าขาวจะไม่เป็นอันตราย แต่ในบางกรณีก็อาจกลายเป็นโรคมะเร็งได้ โดยมากจะพบในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคฝ้าขาวนานหลายปีซึ่งอาจนานถึง 10 ปี
  • โรคไลเคนพลานัสในช่องปาก (Oral Lichen Planus) ที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วผู้ที่ป่วยเป็นโรคไลเคนพลานัสในช่องปากเพียงเล็กน้อยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่ในบางกรณีก็อาจรู้สึกแสบร้อน รวมถึงเจ็บปวดบริเวณเหงือก หรือพบรอยที่สร้างความปวดในบริเวณกระพุ้งแก้มในช่องปากได้
  • โรคซิฟิลิส (Syphilis) ซึ่งเกิดจากการทำออรัลเซ็กซ์ให้คนที่มีเชื้ออยู่แล้ว โดยก่อให้เกิดแผลเล็ก ๆ บนลิ้นแต่ไม่สร้างความเจ็บปวด มักเกิดขึ้นหลังจากการได้รับเชื้อตั้งแต่ 10 วันไปจนถึง 3 เดือน และหากไม่ได้รับการรักษาอาจก่อให้เกิดรอยขาวบนลิ้นซึ่งเรียกว่าฝ้าขาวจากซิฟิสิสได้
  • มะเร็งช่องปาก เกิดจากการเติบโตของเซลล์มะเร็งบริเวณภายในช่องปาก
  • มะเร็งลิ้น (Tongue Cancer) มักเกิดจากเซลล์สแควมัสชนิดผอมแบน (Squamous Cells) ที่พบบนผิวลิ้นของผู้ป่วย ทั้งนี้กระบวนการรักษาจะแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของเซลล์มะเร็งนั้น ๆ

การวินิจฉัยลิ้นเป็นฝ้า

ถึงแม้ว่าอาการลิ้นเป็นฝ้าจะมองเห็นได้ด้วยตนเอง ถ้าหากระยะเวลาผ่านไปมากกว่าส 2 สัปดาห์แต่ผู้ป่วยพบว่าอาการลิ้นเป็นฝ้ายังไม่หายโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุหรือความเป็นไปได้ของโรคอื่น ๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามแต่กรณี โดยอันดับแรกแพทย์อาจวินิจฉัยอาการในช่องปากของผู้ป่วยเบื้องต้น

การบอกข้อมูลที่สำคัญกับแพทย์อาจช่วยในการวินิจฉัย โดยผู้ป่วยอาจบอกเล่าถึงอาการอื่น ๆ อาทิ พบว่า มีก้อน หรือมีอาการเจ็บปวดภายในช่องปากหรือลำคอ ประวัติการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ ประวัติการใช้ยา ประวัติการเป็นโรคมะเร็งของคนในครอบครัว รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย

ในการวินิจฉัยของแพทย์หากตรวจพบอาการลิ้นเป็นฝ้าที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา แพทย์อาจลองถูบริเวณลิ้นที่เป็นฝ้าด้วยสำลีหรือผ้าก็อซ หากพบว่าในช่องปากมีอาการปากแห้งร่วมด้วย แพทย์อาจต้องค้นหาสาเหตุของอาการดังกล่าวร่วมกับการตรวจสอบต่อมน้ำลาย

ในกรณีที่สงสัยเกี่ยวกับมะเร็งในช่องปากและลิ้น แพทย์อาจใช้การวินิจฉัยผ่านการเจาะเก็บชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อที่ผิดปกติไปตรวจ (Biopsy) และอาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกนร่วมด้วย ทั้งนี้ ทันตแพทย์อาจวินิจฉัยช่องปากเพื่อตรวจหาสัญญาณอันตรายของลิ้นเป็นฝ้าที่เกิดจากเนื้อร้ายได้ ดังนั้น การหมั่นตรวจสุขภาพฟันและช่องปากจึงสำคัญซึ่งผู้ป่วยควรตรวจปีละ 2 ครั้ง

การรักษาลิ้นเป็นฝ้า

อาการลิ้นเป็นฝ้าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุซึ่งส่งผลต่อวิธีการรักษาให้แตกต่างกันไปตามแต่กรณีของสาเหตุโรค หากผู้ป่วยพบว่าลิ้นเป็นฝ้าเกิดขึ้นจากเชื้อราในปากอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งมีตัวยาหลายรูปแบบทั้งแบบอม แบบเจล แบบยาน้ำใช้ทาโดยตรงในช่องปาก หรือยารับประทาน โดยทั่วไปมักใช้ระยะเวลาในการรักษาราว 7-14 วัน การใช้ยาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงแม้ว่าจะพบได้น้อยก็ตาม เช่น รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย ในขณะที่อาการลิ้นเป็นฝ้าจากลิ้นลายแผนที่ (Geographic Tongue) ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด

ส่วนอาการลิ้นเป็นฝ้าที่เกิดจากโรคฝ้าขาว (Leukoplakia) นอกเหนือไปจากการลดหรือเลิกสูบบุหรี่และหยุดดื่มแอลกอฮอล์แล้ว การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์มะเร็งได้ ทั้งการผ่าตัดด้วยมีด เลเซอร์ หรือใช้การจี้เย็น (Cryotherapy) ซึ่งวิธีการผ่าตัดมักใช้ยาชาเฉพาะที่เข้าช่วย หรือแม้แต่ยาสลบหากบริเวณที่ต้องผ่าตัดกินบริเวณกว้าง นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีหลักฐานบางชิ้นที่แสดงว่าโรคฝ้าขาวรักษาได้ด้วยการใช้ยาเรตินอยด์ซึ่งเป็นสารผลิตจากวิตามินเอ อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการใช้เรตินอยด์อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายและยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าได้ผลจริง

ส่วนลิ้นเป็นฝ้าที่เกิดจากโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก หากเป็นไม่มาก การรักษาอาจไม่จำเป็น แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไลเคนพลานัสในช่องปากที่เป็นมาก อาจใช้วิธีการรักษาด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปาก ร่วมกับยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นในช่องปาก หรือยาสเตียรอยด์ชนิดเม็ดละลายน้ำเพื่อใช้บ้วนทำความสะอาดช่องปาก

นอกจากนี้ อาการลิ้นเป็นฝ้าที่เกิดจากโรคซิฟิลิสก็อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาเพนิซิลิน ส่วนลิ้นเป็นฝ้าที่เกิดจากโรคมะเร็งลิ้นหรือมะเร็งช่องปาก ผู้ป่วยต้องรักษาด้วยการเข้ารับการผ่าตัด การฉายแสง หรือยาเคมีบำบัด

ภาวะแทรกซ้อน

อาการลิ้นเป็นฝ้าส่วนใหญ่จะเป็นชั่วคราว หายไปได้เอง ไม่อันตรายและไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงลิ้นเป็นฝ้าจากบางสาเหตุ เช่น ลิ้นลายแผนที่ และโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก ส่วนลิ้นเป็นฝ้าจากสาเหตุอื่น ๆ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้

  • ภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อราในช่องปาก เช่น กลับมาเป็นซ้ำ โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ นอกจากนี้ เชื้อราอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น หลอดอาหาร ทำให้การรับประทานอาหารเป็นไปอย่างยากลำบากและเจ็บปวด หรืออาจกระจายไปที่ปอด หรือในกระแสเลือด นอกจากนี้ การติดเชื้ออาจกระจายไปยังลำไส้ ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
  • ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝ้าขาว (Leukoplakia) ในบางกรณีซึ่งโรคฝ้าขาวอาจกลายเป็นโรคมะเร็งในช่องปากหรือมะเร็งลิ้นได้
  • ภาวะแทรกซ้อนของโรคซิฟิลิส (Syphilis) หากผู้ป่วยเพิกเฉยไม่รับการรักษาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ผู้ป่วยซิฟิลิสอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ และระบบประสาทได้
  • ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งช่องปาก และมะเร็งลิ้น อาจเกิดการลุกลามไปยังอวัยวะในส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ข้างเคียง นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการซึ่งเกิดขึ้นร่วมในช่องปาก

การป้องกันอาการลิ้นเป็นฝ้า

ผู้ป่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการลิ้นเป็นฝ้าได้หลายวิธี ทั้งการป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดลิ้นเป็นฝ้าโดยทั่วไป ซึ่งมักเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพและความสะอาดของช่องปากในชีวิตประจำวันอย่างถูกวิธี เช่น การแปรงฟัน การใช้น้ำยาบ้วนปาก ไหมขัดฟัน รวมถึงการแปรงลิ้น

สำหรับการป้องกันอาการลิ้นเป็นฝ้าที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราในช่องปาก ทำได้โดยการหมั่นบ้วนปาก การแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง การทำความสะอาดฟันปลอมในทุก ๆ วัน ระมัดระวังอาหารที่บริโภคในแต่ละวันโดยเฉพาะการควบคุมปริมาณน้ำตาลหรือยีสต์ การควบคุมระดับน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน การรักษาโรคเชื้อราในช่องคลอด และหมั่นพบแพทย์

และแม้ว่าโรคฝ้าขาว (Leukoplakia) และโรคไลเคนพลานัสในช่องปากไม่สามารถป้องกันได้ แต่สำหรับโรคฝ้าขาว ผู้ป่วยเฝ้าระวังการกลายเป็นมะเร็งลิ้นหรือมะเร็งในช่องปากได้

ส่วนโรคซิฟิลิสผู้ป่วยสามารถลดโอกาสในการติดเชื้อได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางช่องปาก ช่องคลอด และทวารหนัก ใช้แผ่นยางอนามัย (Dental Dam) ทุกครั้งที่ทำออรัลเซ็กซ์ หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่ใช้ในการร่วมเพศ (Sex Toys) ที่ไม่สะอาด

ส่วนการป้องกันอาการลิ้นเป็นฝ้าที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปากและลิ้น ผู้ป่วยอาจดื่มแอลกอฮอล์แค่พอควรเนื่องจากแอลกอฮอล์สร้างความระคายเคืองให้ช่องปากจนเกิดเซลล์มะเร็งได้ รวมทั้งการเลิกใช้ยาสูบทุกประเภท หมั่นตรวจสุขภาพช่องปาก รวมทั้งการเลือกรับประทานผักผลไม้ที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งช่องปากได้