ลิ้นไก่บวม (Swollen uvula) เกิดจากอาการอักเสบของลิ้นไก่ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อทรงหยดน้ำขนาดเล็กที่อยู่บริเวณหลังคอ ทำให้เกิดอาการบวมขึ้นมา ซึ่งลิ้นไก่มีหน้าที่ในการหลั่งน้ำลายเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในช่องปากและช่วยป้องกันไม่ให้อาหารเข้าไปยังช่องด้านหลังของจมูก เมื่อลิ้นไก่มีอาการบวม อาจทำให้รู้สึกระคายเคืองได้
อาการลิ้นไก่บวมมักเกิดจากการติดเชื้อ โรคภูมิแพ้ หรือการบาดเจ็บบริเวณลิ้นไก่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียไม่นาน และสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการดูแลตัวเองที่บ้านหรือการใช้ยา แต่ในบางกรณี หากอาการลิ้นไก่บวมเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ก็อาจส่งผลกระทบต่อการกลืนและการหายใจ และแพทย์ก็อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดลิ้นไก่ด้วย
สาเหตุของลิ้นไก่บวม
ลิ้นไก่บวมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ ภาวะทอนซิลอักเสบ
- อาการภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ควัน อาหารบางชนิด ละอองเกสรดอกไม้ หรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยง
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด รวมถึงผลข้างเคียงจากการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ภาวะสุขภาพที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่ ภาวะแองจีโออีดีมา (Angioedema)
- ปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น การนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะขาดน้ำ โรคกรดไหลย้อน รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- การบาดเจ็บจากการทำหัตถการ เช่น การบาดเจ็บจากการผ่าตัดต่อมทอนซิล การบาดเจ็บจากการใส่ท่อช่วยหายใจในระหว่างการผ่าตัด
อาการลิ้นไก่บวม
อาการลิ้นไก่บวมมักจะปรากฏอาการดังนี้
- รู้สึกคัน ระคายเคือง เจ็บปวด หรือแสบร้อนบริเวณลิ้นไก่และลำคอ
- มีอาการบวมแดง หรือมีจุดสีขาวเกิดขึ้นบริเวณลิ้นไก่และลำคอ
- มีอาการเจ็บคอ เป็นไข้ ไอ หรือสำลัก
- มีอาการกรนเมื่อหายใจออก
- รู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ในลำคอ
- มีการผลิตน้ำลายมากกว่าปกติ
อาการลิ้นไก่บวมที่ควรไปพบแพทย์
อาการลิ้นไก่บวมโดยส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง จึงอาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ ทั้งนี้ หากอาการลิ้นไก่บวมไม่ดีขึ้น มีอาการเกิดขึ้นอย่างรุนแรง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นควรไปพบแพทย์
ตัวอย่างอาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์ ได้แก่
- มีอาการลิ้นไก่บวมร่วมกับมีไข้สูงหรือมีอาการปวดท้อง
- มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ
- มีอาการกลืนลำบาก น้ำลายไหล หรือมีปัญหาในการพูดคุย
- มีอาการหายใจลำบาก หรือมีสัญญาณของอาการขาดออกซิเจน เช่น ริมฝีปากม่วง
- มีสัญญาณของการเกิดภาวะขาดน้ำ เช่น วิงเวียนศีรษะ ปากแห้งแตก และปัสสาวะสีเข้ม
การวินิจฉัยลิ้นไก่บวม
ในเบื้องต้น แพทย์จะวินิจฉัยอาการลิ้นไก่บวมด้วยการตรวจช่องปากเพื่อดูความผิดปกติของลิ้นไก่ เช่น อาการอักเสบ บวมแดง หรือจุดสีขาวที่เกิดขึ้นบริเวณลิ้นไก่และลำคอ พร้อมทั้งสอบถามลักษณะอาการที่เกิดขึ้นและประวัติทางการแพทย์อื่น ๆ ของผู้ป่วย เช่น ประวัติการใช้ยา ประวัติการสูบบุหรี่ หรือประวัติอาการแพ้ต่าง ๆ หากมี
นอกจากนี้ ในบางกรณีแพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดอาการลิ้นไก่บวมได้อย่างละเอียดมากยิ่งขึ้น เช่น การทดสอบอาการภูมิแพ้ทางผิวหนัง การตรวจเลือด หรือการตรวจการเพาะเชื้อ (Throat Culture) โดยใช้ตัวอย่างสารคัดหลั่งจากลำคอในการเพาะเชื้อ
การรักษาลิ้นไก่บวม
อาการลิ้นไก่บวมในหลายกรณี สามารถดูแลรักษาได้เองที่บ้านและอาการจะดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน หรือสามารถหายไปเมื่ออาการที่เป็นสาเหตุของอาการลิ้นไก่บวมดีขึ้น เช่น อาการไข้หวัด หรืออาการภูมิแพ้ แต่ก็มีหลายวิธีที่สามารถช่วยรักษาและบรรเทาอาการลิ้นไก่บวมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างการดูแลรักษาอาการลิ้นไก่บวมด้วยตัวเอง เช่น การดื่มน้ำในปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน การพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวจากอาการป่วยได้เร็ว การกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น เพื่อช่วยฆ่าเชื้อในช่องปากและลำคอ รวมถึงการอมยาอมแก้เจ็บคอ เพื่อช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลาย และส่งผลให้ช่องปากและลำคอมีความชุ่มชื้นด้วย
ส่วนตัวอย่างการรักษาอาการลิ้นไก่บวมทางการแพทย์ แพทย์จะเน้นรักษาปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาการลิ้นไก่บวม ได้แก่
การรักษาด้วยยา
การรักษาด้วยยามักใช้รักษาอาการลิ้นไก่บวมที่มีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้ หรือการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียอย่างโรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคทอนซิลอักเสบ ตัวอย่างยาที่ใช้รักษาปัญหาสุขภาพเหล่านี้ ได้แก่ ยาแก้แพ้ใช้รักษาโรคภูมิแพ้ทั่วไป ยาอะดรีนาลีนแบบฉีดใช้รักษาโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง และยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคทอนซิลอักเสบ
การผ่าตัด
การผ่าตัดจะใช้เพื่อรักษาอาการลิ้นไก่บวมเรื้อรัง หรืออาการลิ้นไก่บวมที่มีความรุนแรง และไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ผล เช่น ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับบางรายอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดขยายหลอดลม ซึ่งก็คือการผ่าตัดลิ้นไก่ โดยแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดนำลิ้นไก่ออกมาบางส่วนหรือผ่าตัดนำลิ้นไก่ออกมาทั้งหมดก็ได้เช่นกัน
ภาวะแทรกซ้อนของลิ้นไก่บวม
แม้ว่าอาการลิ้นไก่บวมส่วนใหญ่จะไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่ในบางกรณี ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น อาการลิ้นไก่บวมอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับเรื้อรัง ซึ่งภาวะนี้จะส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ และการพักผ่อนไม่เพียงพอสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้อีกมากมายเลยทีเดียว
การป้องกันลิ้นไก่บวม
อาการลิ้นไก่บวมสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดได้ หากปฏิบัติตามวิธีการเหล่านี้
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่อาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมี และอาหารบางชนิด
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งช่องปากและลำคอด้วย
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู่กับเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ได้